คนรุ่นใหม่ขี้เบื่อ

คนรุ่นใหม่
คอลัมน์ : ชั้น 5 ประชาชาติ
ผู้เขียน : สาโรจน์ มณีรัตน์

เคยนั่งคุยกับผู้บริหารที่รับผิดชอบ และดูแลเรื่องรับสมัครพนักงาน พวกเขาเล่าให้ผมฟังว่า ตอนนี้ผู้บริหารรุ่นเบบี้บูมเมอร์กำลังลงจากตำแหน่ง และผู้บริหารในรุ่นเจเนอเรชั่น เอ็กซ์ กำลังขึ้นมา ขณะเดียวกัน ในบางองค์กรตอนนี้ผู้บริหารรุ่นเบบี้บูมเมอร์เหลือไม่ถึง 1% โดยเฉพาะองค์กรที่เป็นบริษัทข้ามชาติที่เข้ามาลงทุนในประเทศไทย

แต่สำหรับองค์กรภาครัฐ ผู้บริหารเบบี้บูมเมอร์ยังมีอยู่ประมาณ 5-10% โดยเฉพาะงานที่เกี่ยวข้องกับข้อกฎหมาย, ช่าง 10 หมู่ และอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับศิลปวัฒนธรรมประเพณีโบราณของประเทศ ผลเช่นนี้จึงทำให้หน่วยงานภาครัฐต่ออายุราชการให้ผู้เชี่ยวชาญเหล่านั้น แต่ไม่รู้ว่าพวกเขากลับมาทำงานกี่เปอร์เซ็นต์

ถึงกระนั้นก็ทำให้เห็นช่องว่างของการพัฒนาบุคลากรอย่างมาก คล้ายกับว่าเราสร้างคนไม่ทัน บัณฑิตจบใหม่ปีละแสนคน แต่เข้ามาอยู่ในตลาดแรงงานเพียงไม่กี่หมื่นคน ที่เหลือออกไปทำธุรกิจสตาร์ตอัพกันหมด ผมถามผู้บริหารเหล่านั้นว่า…ปัจจุบันมีน้อง ๆ มาสมัครงานกันเยอะไหม ?

เยอะ…และมีคุณภาพมากด้วย เราจึงต้องคัดแล้วคัดอีก เพื่อให้ได้คนที่ดีที่สุดจริง ๆ

ผมตอบกลับไปว่า น่าจะเป็นไปในทิศทางที่ดี แต่เขาสวนกลับทันทีว่าไม่จริงหรอก น้อง ๆ พวกนี้เก่งกันก็จริง แต่ไม่ค่อยอดทน ทำงานสักปีสองปีก็ลาออก ถ้าหัวหน้างานไม่ถูกใจ เส้นทางการเติบโตในอาชีพไม่ชัด ไม่มีโอกาสไปทำงานต่างประเทศ ไม่มีโบนัส เงินเดือนที่น่าพอใจ หรือทำงานนอกสถานที่ไม่ได้ เขาจะย้ายไปอยู่ที่อื่นทันที หรือไม่ก็รวมกลุ่มกับเพื่อนทำธุรกิจสตาร์ตอัพ เพราะคนเหล่านี้ภาษาที่สองที่สามเขาใช้ได้ เขาสามารถเชื่อมโลกใบนี้เข้าหากันจนเกิดเป็นธุรกิจใหม่ขึ้นมา

ฉะนั้น จึงไม่แปลกที่บัณฑิตในแต่ละปีจึงหายไปจากตลาดแรงงาน ในทางกลับกัน เราจะเห็นธุรกิจสตาร์ตอัพ ฟรีแลนซ์ในอาชีพต่าง ๆ มากขึ้นเรื่อย ๆ ผมเคยคุยกับน้องผู้หญิงสองคนที่จบจากคณะถา’ปัด มหา’ลัยแห่งหนึ่ง พวกเขาอายุประมาณ 20 กว่า ๆ ปัจจุบันทำงานสองอย่างไปพร้อม ๆ กัน

หนึ่ง งานในวิชาชีพสถาปนิก สอง ทำนาฬิกาขาย

พวกเธอบอกผมว่า ตอนนี้จ็อบที่เกิดจากทำนาฬิกาขาย รายได้ดีมาก จนอยากเลิกทำงานประจำแล้ว เพราะการทำนาฬิกาขาย มีอิสระมากกว่า ทั้งยังเปิดประสบการณ์การทำธุรกิจกับผู้คนหลากหลาย ที่สำคัญยังใช้ความรู้ที่ร่ำเรียนมาพัฒนาต่อยอด จนสามารถสร้างแบรนด์เป็นของตัวเอง

เมื่อขายได้ ลูกค้าชอบ หรือเห็นคนสวมใส่ เราก็พลอยมีความสุข ยิ่งเมื่อลูกค้าสั่งผ่านออนไลน์มาก ๆ ยิ่งทำให้เรามีความสุขมากขึ้นอีก ผมคิดว่าน้องทั้งสองคนนี้เป็นตัวอย่างหนึ่งของคนรุ่นใหม่ในปัจจุบันที่อาจหายไปจากตลาดแรงงาน และมาเพิ่มสัดส่วนของผู้ประกอบการรุ่นใหม่ที่เป็นเจ้าของธุรกิจเอง

ผมถึงมีความเชื่อว่าโลกในอนาคตจะเป็นของคนรุ่นใหม่ เพราะฉะนั้น ต่อไปเราจะเห็นคนหนุ่มสาวหลายคนผุดธุรกิจใหม่ ๆ เกิดขึ้นอีกมากมาย โดยเฉพาะธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับไอเดียและความคิดสร้างสรรค์ ที่ไม่เฉพาะแต่สินค้าอุปโภค บริโภคเท่านั้น หากในภาคธุรกิจการเกษตร และธุรกิจอื่น ๆ

เราก็เริ่มเห็นคนรุ่นใหม่เข้าไปทำกันบ้างแล้ว