“ค่าไฟฟ้า” มีแนวโน้มลดลง เมื่อรัฐบาลจัดสรร “ก๊าซธรรมชาติ” วิธีใหม่

ค่าไฟฟ้า
คอลัมน์ : นอกรอบ
ผู้เขียน : พงษ์ประภา นภาพฤกษ์ชาติ
Krungthai COMPASS

ในช่วงที่ผ่านมา ค่าไฟฟ้าของภาคอุตสาหกรรมในไทยเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจนถึงแตะจุดสูงสุดที่ 4.67 บาท/หน่วยไฟฟ้าในปี 2566 ตามราคาก๊าซธรรมชาติที่ใช้เป็นเชื้อเพลิงหลักในการผลิตไฟฟ้า เนื่องจากไทยต้องนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) จากต่างประเทศที่มีต้นทุนสูงมากในช่วงดังกล่าว เพื่อทดแทนการขาดหายไปของก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย หลังแหล่งเอราวัณ (G1/61) ไม่สามารถผลิตก๊าซธรรมชาติตามสัญญาที่กำหนดไว้ที่ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ส่งผลให้ราคาก๊าซธรรมชาติพุ่งสูงขึ้น และส่งผลกระทบต่อเนื่องถึงค่าไฟฟ้าด้วย

เพื่อบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานของภาคธุรกิจและภาคครัวเรือน กระทรวงพลังงานได้ทำการเปลี่ยนวิธีการจัดสรรก๊าซธรรมชาติตั้งแต่ 1 ม.ค. 2567 เพื่อลดราคาก๊าซธรรมชาติและค่าไฟฟ้าในระยะยาว โดยก่อนที่จะมีการเปลี่ยนแปลงวิธีการจัดสรรก๊าซธรรมชาติในช่วง ม.ค. 2567 ก๊าซธรรมชาติที่ผลิตได้ในประเทศ ซึ่งส่วนใหญ่มาจากอ่าวไทย และมีราคาต่ำสุดเมื่อเทียบกับการจัดหาจากแหล่งอื่น ๆ จะถูกจัดจำหน่ายให้กับอุตสาหกรรมปิโตรเคมีและผู้ผลิต LPG

หลังจากนั้นก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยที่เหลือรวมกับก๊าซธรรมชาติที่ซื้อจากเมียนมา และก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) จากต่างประเทศ เช่น กาตาร์ และมาเลเซีย จะถูกจัดสรรใน Pool Gas เพื่อนำไปจำหน่ายให้กับอุตสาหกรรมอื่น ๆ ในราคาก๊าซธรรมชาติถัวเฉลี่ยตามสัดส่วนปริมาณก๊าซธรรมชาติจาก 3 แหล่ง ได้แก่ อ่าวไทย เมียนมา และ LNG ใน Pool Gas (ราคาก๊าซธรรมชาติแบบ Pool)

แต่เมื่อวันที่ 13 ธ.ค. 2566 คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติได้มีมติให้เปลี่ยนวิธีการจัดสรรก๊าซธรรมชาติใหม่ ซึ่งจะเริ่มตั้งแต่ 1 ม.ค. 2567 โดยจะให้สิทธิพิเศษในการจำหน่ายก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยให้เพียงผู้ผลิต LPG ก่อนเท่านั้น จากนั้นจึงจะจัดสรรก๊าซธรรมชาติส่วนเหลือจากอ่าวไทย รวมทั้งก๊าซธรรมชาติและ LNG ที่รับซื้อจากแหล่งอื่น ๆ เพื่อนำไปจำหน่ายให้กับอุตสาหกรรมอื่น ๆ ในราคาก๊าซธรรมชาติถัวเฉลี่ยแบบเดียวกับการจัดสรรก๊าซธรรมชาติในรูปแบบเดิม

แนวทางการจัดสรรก๊าซธรรมชาติในรูปแบบใหม่คาดว่าจะทำให้สัดส่วนปริมาณก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยใน Pool Gas ซึ่งมีต้นทุนต่ำสุด เพิ่มขึ้นจาก 44% และ 47% ในปี 2567-68 เป็น 51% และ 53% ในปี 2567-68 ซึ่งจะส่งผลให้ราคาก๊าซธรรมชาติแบบ Pool ลดลงราว 13.8 บาท/MMBTU และ 9.3 บาท/MMBTU ในปี 2567-68 ตามลำดับ

Krungthai COMPASS คาดว่าราคาก๊าซธรรมชาติแบบ Pool มีแนวโน้มที่จะลดลงจาก 381 บาท/MMBTU (ราคาสำหรับกิจการผลิตไฟฟ้า : 366 บาท/MMBTU) ในปี 2566 เป็น 296 บาท/MMBTU และ 277 บาท /MMBTU ในปี 2567-68 เพราะนอกเหนือจากการจัดสรรก๊าซธรรมชาติในรูปแบบใหม่จะทำให้ราคาก๊าซธรรมชาติแบบ Pool จะลดลงแล้ว ยังมีปัจจัยอื่น ๆ ได้แก่ 1) ปตท.สผ.กำลังทยอยเพิ่มกำลังการผลิตก๊าซธรรมชาติในแหล่งเอราวัณ (G1/61) ให้เป็นไปตามสัญญาภายใน เม.ย. 2567 ซึ่งทำให้สัดส่วนปริมาณก๊าซธรรมชาติจากอ่าวไทยใน Pool Gas เพิ่มขึ้น จึงจะส่งผลให้ราคาก๊าซธรรมชาติแบบ Pool ลดลง

2) ต้นทุนการนำเข้า LNG จากต่างประเทศ มีแนวโน้มลดลงในช่วงปี 2567-68 ตามราคา LNG ในตลาดเอเชีย (JKM LNG)

แนวโน้มก๊าซธรรมชาติดังกล่าวจะส่งผลให้ค่าไฟฟ้าโดยเฉลี่ยลดลงจาก 4.67 บาท/หน่วยไฟฟ้า ในปี 2566 เป็น 4.14 บาท/หน่วยไฟฟ้า (-11% YOY) และ 4.11 บาท/หน่วยไฟฟ้า (-1% YOY) ในปี 2567-68 ตามลำดับ

ค่าไฟฟ้าที่มีทิศทางในขาลงในช่วง 1-2 ปีข้างหน้า ย่อมส่งผลดีต่อต้นทุนรวมโดยรวมและอัตรากำไรสุทธิของภาคธุรกิจของไทย โดย Krungthai COMPASS ประเมินว่า อัตรากำไรสุทธิมัธยฐาน (Median ของอัตรากำไรสุทธิ) ของภาคธุรกิจของไทยจะเพิ่มขึ้นราว 0.24% เป็น 4.38% ในปี 2567 ก่อนที่จะเพิ่มขึ้นอีก 0.01% เป็น 4.39% ในปี 2568 หากค่าไฟฟ้าในปี 2567-68 เป็นไปตามการประเมินข้างต้น และสัดส่วนระหว่างค่าไฟฟ้าและต้นทุนรวมเฉลี่ยของธุรกิจโดยรวมอยู่ที่ 2.7% ในปี 2566

โดยการประเมินนี้อยู่ภายใต้สมมุติฐานที่ว่ารายได้และสัดส่วนต้นทุนอื่น ๆ นอกเหนือจากค่าไฟฟ้าจะไม่เปลี่ยนแปลงในช่วงปี 2566-68 ส่วนธุรกิจที่มีการใช้ไฟฟ้าอย่างเข้มข้น เช่น ธุรกิจโรงน้ำแข็ง ธุรกิจคลังสินค้า และธุรกิจผลิตปูนซีเมนต์ ซึ่งมีสัดส่วนค่าไฟฟ้าราว 13.5-46.8% ของต้นทุนทั้งหมด คาดว่า อัตรากำไรสุทธิของกลุ่มนี้จะเพิ่มขึ้นจาก -7.32% ถึง 7.19% ในปี 2566 เป็น -1.63% ถึง 8.79% และ -1.32% ถึง 8.88% ในปี 2567 และ 2568 ตามลำดับ

อย่างไรก็ดี ในระยะยาว ไทยอาจต้องนำเข้า LNG จากต่างประเทศที่มีต้นทุนที่สูงมากขึ้น เพื่อทดแทนก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยที่มีแนวโน้มลดลง ซึ่งส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางพลังงาน รวมทั้งราคาก๊าซธรรมชาติและค่าไฟฟ้าของไทย เพื่อลดผลกระทบจากค่าไฟฟ้าที่คาดว่าอาจอยู่ในระดับสูงในระยะยาว

ผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมการผลิตควรต้องปรับตัว โดยมองว่าแนวทางที่เหมาะสม มีดังนี้ 1) ควรติดตั้ง Capacitor Bank ในหม้อแปลงไฟฟ้า ซึ่งจะช่วยลดการใช้ไฟฟ้าจากหม้อแปลงไฟฟ้า 2) ควรใช้ระบบบริหารจัดการพลังงานในโรงงานอุตสาหกรรม (FEMS) ร่วมกับระบบควบคุมการทำงานของเครื่องจักร (PLC) และเครื่องวัดค่าพลังงานไฟฟ้า (Power Meter) เพื่อช่วยให้บริหารจัดการ การใช้ไฟฟ้าของเครื่องจักรได้อย่างมีประสิทธิภาพ 3) ควรติดตั้งแผงเซลล์แสงอาทิตย์ (Solar Cell) เพื่อผลิตไฟฟ้าที่ใช้ในโรงงานอุตสาหกรรม ซึ่งช่วยประหยัดการใช้ไฟฟ้าในระยะยาว