ธุรกิจระดมติดแผงโซลาร์ สู้ศึกค่าไฟแพง 4.18 บาท

Electricity meter

เอกชนวิ่งวุ่นหาวิธีลดค่าไฟฟ้า หลังคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน มีแนวโน้มตรึงราคาค่าไฟฟ้าไว้เท่าเดิมที่ 4.18 บาท โดยยักษ์ค้าปลีกค้าส่ง “แม็คโคร-โลตัส-เซ็นทรัล” โรงเหล็กระดมติดตั้งแผงโซลาร์หันมาผลิตไฟเอง โรงสีข้าวใช้ช่วงเวลาทอง Off-Peak เร่งสีข้าวเปลือกตอนกลางคืน มีผลค่าไฟถูกลงร้อยละ 30 ขณะที่โรงงานอายิโนะโมะโต๊ะสร้างโรงไฟฟ้าชีวมวลลดซื้อไฟ 40% โรงยางพาราใช้ไบโอแก๊สเข้าช่วย ด้าน ส.อ.ท.วอนรัฐตรึงค่าไฟยังไม่พอขอทบทวนลดราคาเหลือ 4-4.10 บาท/หน่วย

ค่าไฟฟ้ากลายเป็น “ต้นทุน” สำคัญในการประกอบธุรกิจของภาคเอกชน จากปัจจุบัน (รอบเดือนมกราคม-เมษายน 2567) ที่ตรึงราคาค่าไฟฟ้าไว้ที่อัตรา 4.18 บาท/หน่วย ล่าสุด คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) กำลังพิจารณาค่า Ft เรียกเก็บในรอบถัดไป คือ รอบเดือนพฤษภาคม-สิงหาคม 2567 ในอัตรา 39.72 สตางค์/หน่วย เมื่อรวมกับค่าไฟฟ้าฐานที่ 3.7833 บาท/หน่วยแล้ว ทำให้ค่าไฟฟ้าเรียกเก็บเฉลี่ย (ไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) เป็น 4.1805 บาท/หน่วย หรือเท่ากับค่าไฟฟ้าเฉลี่ยในงวดปัจจุบัน (ม.ค.-เม.ย 2567)

ทั้งนี้การเรียกเก็บค่า Ft ที่อัตรา 39.72 สตางค์/หน่วย จะต้องแลกมาด้วยการทยอยคืนหนี้ต้นทุนค่าเชื้อเพลิงที่ กฟผ.แบกรับภาระแทนประชาชนมาตั้งแต่ปี 2564 โดยแบ่งเป็น 7 งวด งวดละ 14,000 ล้านบาท หรือ 20.51 สตางค์/หน่วย ซึ่งยังไม่ได้รวมเงินภาระคงค้างค่าก๊าซ ปตท. และ กฟผ.อีก 15,876 ล้านบาท

ตรึงค่าไฟ 4.18 บาท

นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) กล่าวว่า การพิจารณาค่า Ft งวดถัดไปที่ 39.72 สตางค์/หน่วย พร้อมข้อเสนอของ กฟผ.ในการคืนหนี้ต้นทุนเชื้อเพลิงค้างชำระแบ่งออกเป็น 7 งวด มีผลทำให้ ค่าไฟฟ้าเดือนพฤษภาคม-สิงหาคม อยู่ที่อัตราเดิมคือ 4.18 บาท/หน่วยนั้น “เป็นเรื่องที่เหมาะสมทั้งในเชิงการเมือง ประชาชน และสภาพคล่องของ กฟผ.” โดยการตรึงค่าไฟฟ้าไว้ในอัตรานี้มีโอกาสเป็นไปได้จาก 4 ปัจจัยที่นำมากำหนดสมมุติฐาน คือ

1) คาดการณ์การใช้ไฟฟ้าปี 2567 เพิ่มขึ้นเล็กน้อย ประมาณ 5,349 หน่วย

2) อัตราแลกเปลี่ยนที่ใช้ในการคำนวณการนำเข้าเดิมอยู่ที่ 35.83 บาท จากปัจจุบันอยู่ที่ 35.34 บาท ดีขึ้นเล็กน้อย

3) ราคาก๊าซธรรมชาติที่คาดการณ์โดย ปตท.ได้จัดทำสมมุติฐานราคา Pool Gas อยู่ที่ 300.3 เหรียญสหรัฐ/MMBTU หรือลดลงจากการคาดการณ์ของแผนไว้ที่ 333.5 เหรียญ ซึ่งเป็นผลจากราคา LNG ในตลาดโลกลดลง ซึ่งนับได้ว่าเป็นปัจจัยหลัก

และ 4) การคาดการณ์ข้อมูลในด้านปริมาณก๊าซธรรมชาติ โดยปริมาณก๊าซที่ผลิตในอ่าวไทยทุกแหล่งมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ซึ่งจะมาช่วยเสริมทำให้ต้นทุนการผลิตไฟฟ้าลดลงได้

พร้อมกับเตือนว่า ในขณะนี้ประเทศไทยได้เข้าสู่ฤดูร้อนอย่างเป็นทางการและมีแนวโน้มว่า ความร้อนจะมีระดับอุณหภูมิที่สูงมาก ล่าสุดข้อมูลทาง กกพ.ระบุว่า ความต้องการใช้ไฟฟ้าสูงสุด (ค่า Peak) ครั้งแรก เกิดขึ้นในวันที่ 7 มีนาคม 2567 เวลา 19.47 น. ที่ระดับ 32,509.2 เมกะวัตต์ (MW) ที่อุณหภูมิ 30.8 องศาเซลเซียส โดยปีนี้เกิดขึ้นเร็ว แต่ยังอยู่ในระดับต่ำกว่า ค่าไฟ Peak ของปีก่อนที่เกิดขึ้นในวันที่ 6 พ.ค. 2566 เวลา 21.41.น. ที่ระดับ 34,130.5 MW ซึ่งปีนั้นอุณหภูมิอยู่ที่ 33 องศาเซลเซียส

ขณะที่ภาคประชาชนเองก็กำลังกังวลกับค่าไฟฟ้าจากการที่ต้องใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นในฤดูร้อน มีผลทำให้ประชาชนหันมาติดตั้ง “โซลาร์ภาคประชาชน” เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยในปี 2567 มีผู้ลงทะเบียนสมัครรวม 1,181 ราย กำลังการผลิตรวม 6,618 กิโลวัตต์ชั่วโมง (kWh)

แบ่งเป็น ส่วนของการไฟฟ้านครหลวง 986 ราย รวม 5,478 kWh และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) อีก 169 ราย รวม 1,140 kWh และผ่านไปสู่ขั้นตอนการลงนาม PPA รวม 353 ราย รวมกำลังการผลิต 1,951 kWh และมีผู้ที่เริ่มขายไฟเข้าสู่ระบบ COD แล้ว 1 ราย กำลังการผลิต 7 kWh

โดยขณะนี้มียอดสะสมการติดโซลาร์ประชาชนนับตั้งแต่ดำเนินการ ปี 2562-2566 มีการ COD ไปแล้วจำนวน 9,454 ราย รวมกำลังการผลิต 51,801 kWh ไม่นับรวมการผลิตโดยภาคเอกชนซึ่งผลิตไฟฟ้าเองอีกประมาณ 3,000 MW

โรงสีใช้ไฟช่วง Off-Peak

ผู้สื่อข่าว “ประชาชาติธุรกิจ” ได้สอบถามไปยังผู้ประกอบการภาคเอกชน ซึ่งเป็นผู้ใช้ไฟฟ้ารายใหญ่พบว่า ต่างหาวิธีการประหยัดด้วยการลดต้นทุนค่าไฟฟ้าลง ไม่ว่าจะเป็นการติดตั้งแผงโซลาร์ การปรับปรุงคุณภาพเครื่องจักร การประหยัด รวมไปถึงการใช้ไฟฟ้าในการผลิตช่วง Off-Peak

โดยนายรังสรรค์ สบายเมือง นายกสมาคมโรงสีข้าวไทย กล่าวว่า ผู้ประกอบการโรงสีที่เป็นสมาชิกของสมาคม 500 ราย ต่างปรับตัวหันมาสีข้าวในช่วงกลางคืนมากขึ้น เนื่องจากเป็นช่วง Off-Peak (ตั้งแต่เวลา 22.00-09.00 น.) หรือช่วงระบบที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าต่ำ มีผลต่อต้นทุนค่าไฟฟ้าถูกลงถึง 30% ต่อหน่วย จากการใช้ไฟฟ้าช่วงเวลากลางวัน แต่หากเป็นช่วงที่มีคำสั่งซื้อข้าวเข้ามามากและช่วงที่ผลผลิตข้าวออกมากก็อาจจะจำเป็นต้องใช้ไฟฟ้ามากขึ้น และไปใช้ไฟฟ้าในช่วงกลางวัน (Peak) ควบคู่ไปด้วย

นอกจากนี้ ผู้ประกอบการโรงสีได้มีการปรับตัวหันมาติดตั้งโซลาร์เซลล์มากขึ้น ช่วยลดต้นทุนค่าไฟได้มาก แม้ค่าติดตั้งโซลาร์เซลล์จะแพง แต่สามารถลดต้นทุนให้ผู้ประกอบการได้เป็นอย่างดี ระยะเวลา 7-9 ปีก็จะเข้าสู่จุดคุ้มทุนในการติดตั้งแล้ว

ค้าปลีกลุยติดแผงโซลาร์

ขณะที่ธุรกิจค้าปลีกจัดเป็นอีกหนึ่งธุรกิจที่ต้องขยับตัวหันไปหา “พลังงานทางเลือก” เพื่อคุมต้นทุนพลังงานที่เพิ่มขึ้น สะท้อนจากรายงานผลประกอบการไตรมาส 4 ของบริษัท เบอร์ลี่ ยุคเกอร์ จำกัด (มหาชน) ที่ระบุว่า เมื่อปี 2566 ค่าไฟฟ้า ซึ่งสูงขึ้นตามการปรับอัตรา Ft เป็นหนึ่งในปัจจัยที่ทำให้ค่าใช้จ่ายโดยรวมของบริษัทเพิ่มขึ้น 2.7% เป็น 161,615 ล้านบาท

สถานการณ์ราคาค่าไฟฟ้าที่เพิ่มสูงขึ้นนี้ส่งผลให้บรรดาธุรกิจค้าปลีกหลายรายปรับตัว อาทิ แมคโดนัลด์ โดยนางสาวกิตติวรรณ อนุเวชสกุล ประธานกรรมการบริหาร บริษัท แมคไทย จำกัด กล่าวว่า ร้านสาขาเป็นจุดที่ใช้พลังงานสูง จึงต้องทำเรื่องประหยัดพลังงานต่อเนื่อง เริ่มจากการติดอุปกรณ์บันทึกการใช้ไฟ พร้อมติดโซลาร์เพื่อช่วยลดต้นทุน โดยจะเริ่มติดที่สาขาต้นแบบที่จะเปิดใหม่ในปีนี้ ที่คลองสามวา

ส่วนสาขาอื่นอีก 230 สาขาทั่วประเทศ จะใช้วิธีการต่าง ๆ มาช่วยลดค่าไฟไปในทิศทางเดียวกับธุรกิจค้าปลีกรายอื่น ๆ ที่เดินหน้าติดตั้งแผงพลังงานแสงอาทิตย์ หรือโซลาร์เซลล์ ทั้งบนสาขาร้านค้าและโกดังสินค้า เพื่อลดการใช้พลังงานจากส่วนกลาง อาทิ แม็คโครและโลตัส มีแผนที่จะติดตั้งแผงโซลาร์ 1,042 สาขา กำลังผลิตรวม 135 MW ภายในปี 2567 หลังจากปีที่ผ่านมาได้ติดตั้งโซลาร์เซลล์ที่ แม็คโครและโลตัส ไปแล้วรวม 560 สาขา

ด้านเซ็นทรัลรีเทล ในปีที่ผ่านมาได้ติดตั้งโซลาร์เซลล์ในทุกกลุ่มธุรกิจทั้งในประเทศไทยและเวียดนามไปแล้วรวม 142 สาขา สามารถผลิตกระแสไฟฟ้ารวม 101,872 เมกะวัตต์ชั่วโมง ขณะที่เซ็นทรัลพัฒนาจับมือ โซลาร์ พีพีเอ็ม ติดตั้งโซลาร์เซลล์ที่ศูนย์การค้าของเซ็นทรัลพัฒนาจํานวน 8 โครงการ ได้แก่ เซ็นทรัลเชียงใหม่ , เซ็นทรัลแจ้งวัฒนะ , เซ็นทรัลปิ่นเกล้า , เซ็นทรัลพระราม 3, เซ็นทรัลพระราม 9, เซ็นทรัลสมุย, เซ็นทรัลนครสวรรค์ และศูนย์การค้าเซ็นทรัลเวสต์วิลล์ มีกำลังผลิตไฟฟ้ารวมทั้งสิ้น 9.22 MW

อายิโนะโมะโต๊ะ 3 วิธีลดค่าไฟ

นายนัฏทพนธ์ พานิชดี ผู้จัดการโรงงานอายิโนะโมะโต๊ะ จังหวัดกำแพงเพชร กล่าวว่า ในอดีตโรงงานอายิโนะโมะโต๊ะใช้ไฟฟ้าจากการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค เกือบ 100% แต่ปัจจุบันเรามีการบริหารจัดการไฟฟ้าเพื่อลดค่าใช้จ่ายและรักษาสิ่งแวดล้อม โดยแบ่งเป็น 3 วิธีหลัก ๆ คือ 1) การลงทุนสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วมจากชีวมวล (Biomass Cogeneration Power Plant) ทุกโรงงานในประเทศไทย (กำแพงเพชร-พระนครศรีอยุธยา-ปทุมธานี) เพื่อผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน เฉพาะที่กำแพงเพชร เปิดในปี 2565 มีกำลังผลิต 9.9 MW ซึ่งช่วยลดการซื้อไฟฟ้าสูงถึง 40% ที่เหลือเป็นการซื้อพลังงานจากภายนอก

2) ลดการใช้ไฟฟ้าสิ้นเปลืองด้วยวิธีปรับปรุงประสิทธิภาพของเครื่องจักรขนาดใหญ่ให้สามารถเดินเครื่องมีประสิทธิภาพอยู่เสมอ และ 3) การบริหารช่วงเวลาเพื่อไม่ให้มีการใช้ไฟฟ้า “เกินกว่า” ความจำเป็น นอกจากนั้น เรายังมี Green Building ของศูนย์เทคโนโลยีและวิศวกรรมที่มีหลังคาเป็นโซลาร์เซลล์ เพื่อผลิตพลังงานใช้ในตึกช่วงกลางวัน ขณะนี้อยู่ในช่วงทดสอบประสิทธิภาพเพื่อประเมินความเป็นไปได้ในการใช้พลังงานไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์ ในส่วนของโรงงานในอนาคตตั้งเป้าลดการใช้พลังงานที่ซื้อจากภายนอกน้อยลง และจะผลิตพลังงานไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนใช้เองเพิ่มมากขึ้น

ค่าไฟโรงเหล็กขึ้นกับออร์เดอร์

นายประวิทย์ หอรุ่งเรือง กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท มิลล์คอน สตีล จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ช่วงฤดูร้อนจะมีการใช้ไฟมากกว่าปกติ แต่ขณะเดียวกันเป็นเดือนที่มีวันหยุดยาว ทำให้อัตราการใช้ไฟจริง ๆ ก็ไม่ได้มากกว่าเดือนอื่น แต่แน่นอนว่าแนวทางการบริหารจัดการการใช้ไฟภายในโรงงานส่วนที่เป็นสำนักงานและโรงรีดเหล็กสามารถดึงไฟจากโซลาร์เซลล์เข้ามาใช้แทดแทนได้ แต่ในส่วนของโรงหลอมเหล็กยังคงต้องใช้ไฟจากการไฟฟ้าเช่นเดิม แต่เมื่อถัวเฉลี่ยแล้วการใช้ไฟและค่าไฟก็ยังคงอยู่ในเกณฑ์ที่รับได้ ไม่ได้สูงเกินไป “ถ้ามีออร์เดอร์ต่อเนื่อง เราก็หยุดการผลิตไม่ได้ช่วงเดือนเมษายน ดังนั้นจะใช้ไฟมาก ไฟน้อย มันอยู่ที่ว่าใครมีออร์เดอร์มากน้อยขนาดไหน ยิ่งหยุดมากเรายิ่งประหยัด”

สอดคล้องกับ นายชูวิทย์ จึงธนสมบูรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท นอร์ทอีส รับเบอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ NER กล่าวว่า ทางบริษัทได้ปรับแผนผลิตพลังงานทดแทนขึ้นมาใช้ในโรงงาน ทั้งผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์เซลและไบโอแก๊สใช้ในโรงงานช่วงเวลากลางวัน ซึ่งครอบคลุมประมาณ 20% ทำให้ประหยัดค่าไฟได้ประมาณ 20% จากภาพรวมเรื่องของพลังงานจากที่เคยจ่ายประมาณ 200 ล้านต่อปี ถือว่าก็ดีขึ้นมา

ขณะที่นายอิศเรศ รัตนดิลก ณ ภูเก็ต รองประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า เอกชนขอให้รัฐบาลทบทวนอัตราค่าไฟฟ้าจาก 4.18 บาทเป็น 4.00-4.10 บาท/หน่วย จากที่คาดว่าปริมาณการผลิตก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยน่าจะมีปริมาณเพิ่มขึ้น โดยระยะสั้นรัฐบาลจะต้องเร่งส่งเสริมให้มีการใช้พลังงานแสงอาทิตย์ทดแทนการนำเข้าพลังงานฟอสซิลให้มากที่สุด พร้อมส่งเสริมเทคโนโลยี Energy Storage System (ESS)

ขณะเดียวกันขอให้เจรจาปรับสัญญากับโรงไฟฟ้าเพื่อลดภาระค่าความพร้อมจ่าย (AP) ควบคู่กับการเพิ่มดีมานด์การใช้ไฟฟ้าด้วย EV Truck EV Bus เพื่อลดปัญหากำลังการผลิตสำรองล้นและมีการประหยัดพลังงานอย่างจริงจัง