ดอกเบี้ยไทยจะลดวันไหน ?

ดอกเบี้ย
คอลัมน์ : ชั้น 5 ประชาชาติ
ผู้เขียน : อำนาจ ประชาชาติ

ที่สุดแล้ว คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ก็มีมติให้คงดอกเบี้ยนโยบายที่ 2.50% ต่อปี ต่อไปอีก

โดยมติที่ออกมายังคงเป็น 5:2 เสียง เช่นเดียวกับการประชุมครั้งก่อน

สะท้อนได้ว่าช่วงเวลาที่ผ่านมา จากการประชุมครั้งก่อน มาจนถึงการประชุมรอบล่าสุด เมื่อวันที่ 10 เมษายน ไม่มีปัจจัยอะไรที่จะมาเปลี่ยนใจกรรมการ กนง.อีก 5 ท่านได้เลย ?

ไม่ว่า…จะเป็นเรื่องอัตราเงินเฟ้อที่ติดลบต่อเนื่องมานาน 6 เดือน

ไม่ว่า…จะเป็นอัตราขยายตัวทางด้านเศรษฐกิจที่ชะลอจนทุกสำนักปรับลดประมาณการกันต่อเนื่อง

ไม่ว่า…จะเป็นเรื่อง “ภาวะหนี้ครัวเรือน” ที่ยังคงอยู่ในระดับสูง ซึ่งสร้างภาระค่อนข้างหนักให้กับคนตัวเล็กตัวน้อย และธุรกิจเอสเอ็มอี

ไม่ว่า…กรรมการ 2 ท่านที่เห็นต่างจากกรรมการอีก 5 ท่าน จะมีความเห็นว่าควรปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% ต่อปี เพื่อให้ “สอดคล้องกับศักยภาพเศรษฐกิจที่ขยายตัวต่ำลง” จากปัจจัยเชิงโครงสร้างที่ชัดเจนขึ้น และ จะมีส่วน “ช่วยบรรเทาภาระของลูกหนี้” ได้บ้าง

ไม่ว่า…จะมีความเห็นจากนักเศรษฐศาสตร์ อาทิ กลุ่มงาน Economic Intelligence Center (EIC) ธนาคารไทยพาณิชย์ ที่ชี้ว่า การลดดอกเบี้ยมีความจำเป็น ไม่ใช่การเหยียบเบรก หรือถอนคันเร่ง แต่เป็นการสร้างบรรยากาศในการลงทุน เพื่อให้เงินไหลเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ เป็นเรื่องของศักยภาพของเศรษฐกิจที่ต่ำลงต่อเนื่อง จากระดับ 5% มาสู่ 3% และในระยะยาวจะเหลือแค่ 2.7%

ขณะที่ทางภาคเอกชนเอง ทั้งสภาหอการค้าไทย ทั้งสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) ต่างก็บ่นกันมากเรื่องต้นทุนที่ต้องแบก

ทว่า…ประเด็นเหล่านี้ไม่มีน้ำหนักเพียงพอที่จะ “โน้มน้าวใจ” ให้กรรมการ กนง.ทั้ง 5 ท่านเปลี่ยนมุมมองได้ ?

แปลว่า ประเด็นเรื่อง “ภาระของลูกหนี้” ที่ กนง. 2 ท่านให้ความสำคัญ หรือการที่ภาคธุรกิจโอดครวญเรื่อง “ต้นทุน” ไม่ได้มีน้ำหนักมากพอ แม้ว่าก่อนประชุม กนง.รอบนี้ หลาย ๆ สำนักวิจัยเศรษฐกิจก็มองว่า โอกาสการลดดอกเบี้ยสามารถทำได้ในรอบนี้

แต่สุดท้ายการลดดอกเบี้ยก็ยังไม่เกิดขึ้น ลูกหนี้ก็ต้องก้มหน้ารับสภาพกันต่อไป

ส่วนหนึ่งก็มองกันว่า กนง.อาจจะไม่กล้าลดดอกเบี้ยก่อนธนาคารกลางสหรัฐ (เฟด) แต่ก็ต้องถามว่า แล้วถ้าเฟดไม่ได้ลดดอกเบี้ยช่วงเดือน มิ.ย.นี้ ตามที่คาดการณ์กันไว้ แล้วดอกเบี้ยของไทยจะลดได้เมื่อไหร่ ?