โคบาลบูรพา

แฟ้มภาพ

คอลัมน์ สามัญสำนึก
โดย พิเชษฐ์ ณ นคร

แม้หลายสำนักจะวิเคราะห์คาดการณ์ตรงกันว่าเศรษฐกิจไทยกำลังฟื้น กำลังซื้อที่ชะลอตัวเริ่มกระเตื้อง การส่งออกที่เคยมีปัญหากลับขยายตัวดีขึ้น ขณะที่ภาคท่องเที่ยวและบริการยังถูกยกให้เป็นธงนำ สร้างรายได้หลักเข้าประเทศ แต่ภาคเกษตรที่ติดลบมาหลายปี ปีนี้จะยิ่งโคม่า เพราะพืชเกษตรหลักราคาตกต่ำต่อเนื่อง

ภายใต้สถานการณ์ปัจจุบัน ที่รัฐบาลปล่อยสินค้าเกษตรเป็นไปตามกลไกตลาด ไม่เข้าแทรกแซง สนับสนุนด้านราคา เพราะหวั่นจะมีปัญหาอย่างโครงการจำนำข้าว โอกาสที่ปีระกา 2560 จะเป็นปีแห่งการยกระดับสินค้าเกษตร สู่ความมั่นคง ตามที่ รมว.เกษตรฯ พล.อ.ฉัตรชัย สาริกัลยะ ประกาศไว้คงเป็นไปได้ยาก

แนวทางใหม่ ๆ จึงถูกนำมาใช้เป็นทางเลือกเพิ่มเติม นอกเหนือจากนโยบายหลัก โครงการส่งเสริมการทำเกษตรทฤษฎีใหม่ เกษตรอินทรีย์ การบริหารจัดการพื้นที่เกษตรกรรมตามความเหมาะสมหรือโซนนิ่ง การสนับสนุนส่งเสริมการทำเกษตรแบบแปลงใหญ่

ล่าสุดคือ โครงการโคบาลบูรพา แม้ชื่ออาจคุ้น ๆ แต่ขออนุญาตบอกก่อนนะครับว่า นอกจากสื่อถึงพื้นที่ภาคตะวันออกเหมือน ๆ กันแล้ว นอกนั้นไม่มีอะไรเกี่ยวข้องกับบูรพาพยัคฆ์ อย่าสับสนเรียกผิดเรียกถูกก็แล้วกัน แต่ถ้าใครยังข้องใจขอให้สอบถาม “บิ๊กฉัตรชัย” ในฐานะเจ้าของไอเดียจะดีกว่า

ที่มาของโครงการนี้ มาจากเจ้ากระทรวงพระพิรุณทรงนาค มีแนวคิดจะผลักดันให้ จ.สระแก้ว เป็นเมืองแห่งปศุสัตว์ เมืองโคบาลบูรพา โดยอาศัยศักยภาพของทำเลที่ตั้ง ประกอบกับเป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษเชื่อมต่อประเทศเพื่อนบ้านอย่างกัมพูชา เวียดนาม จึงเหมาะสมจะพัฒนาให้เป็นเมืองอุตสาหกรรมโคเนื้อครบวงจร

ทั้งส่งเสริมการเลี้ยงโค แปรรูป ผลิตนม เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม รองรับความต้องการบริโภคภายในประเทศ และความต้องการของนักท่องเที่ยวต่างชาติ ส่งออกตลาดต่างประเทศ ขณะเดียวกันก็จะใช้เป็นจุดขายพัฒนาให้เป็นแหล่งท่องเที่ยววิถีชีวิตเมืองโคบาล นอกเหนือจากที่ฟาร์มโชคชัย และองค์การส่งเสริมการเลี้ยงโคนมแห่งประเทศไทย (อ.ส.ค.)

ความคืบหน้าโครงการนี้ หลังที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อนุมัติตามที่กระทรวงเกษตรฯเสนอ เมื่อ 6 มิ.ย. 2560 โดยจัดสรรงบฯกลางจัดหาโคและแพะ รวมทั้งการปลูกพืชอาหารสัตว์ 970 ล้านบาท และขอรับการสนับสนุนงบฯ จากกองทุนสงเคราะห์เกษตรกร 358 ล้านบาท ใช้สร้างคอกและบ่อน้ำ ขณะนี้อยู่ระหว่างประกวดราคาจัดหาซื้อโค คาดว่าจะเปิดประมูลและทำสัญญาซื้อขายเสร็จเรียบร้อยภายในเดือน ก.ย. 2560

ข้อมูลจากกระทรวงเกษตรฯ ระบุว่า มีเกษตรกรยื่นใบสมัครเข้าร่วมโครงการโคบาลบูรพารวม 7,620 ราย แยกเป็นเลี้ยงโคเนื้อ 7,505 ราย เลี้ยงแพะ 115 ราย ในจำนวนนี้คณะกรรมการในระดับหมู่บ้านและระดับจังหวัด จะคัดเลือกเกษตรกรเข้าร่วมโครงการ 6,100 ราย แยกเป็นเลี้ยงโคเนื้อ 6,000 ราย เลี้ยงแพะ 100 ราย

โดยเกษตรกรที่ได้รับการคัดเลือก จะได้รับจัดสรรที่ดินสำหรับเลี้ยงโคเนื้อและแพะ จากที่ดินของสำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) เป็นที่ ส.ป.ก.ที่รัฐยึดคืนจากผู้ที่ครอบครองโดยไม่ชอบด้วยกฎหมาย หรือครอบครองเกินกว่าเงื่อนไขหลักเกณฑ์ที่กฎหมายกำหนด ลดพื้นที่ปลูกข้าวในที่ดินที่ไม่เหมาะสม หรือประสบภัยแล้งมาทำปศุสัตว์แทน

แม้การจัดซื้อโค-แพะ จะอยู่ระหว่างดำเนินการ แต่รูปธรรมในทางปฏิบัติที่ตอกย้ำว่ารัฐผลักดันโครงการนี้อย่างจริงจัง คือการทยอยคัดเลือกและรวมกลุ่มเกษตรกรกลุ่มเป้าหมาย ล่าสุด หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ สนับสนุนให้มีการจัดตั้งสหกรณ์ปศุสัตว์โคบาลบูรพาอรัญประเทศ จำกัด ที่ ต.หนองสังข์ อ.อรัญประเทศ จ.สระแก้ว สหกรณ์ปศุสัตว์โคบาลบูรพาโคกสูง จำกัด อ.โคกสูง จ.สระแก้ว รองรับล่วงหน้าแล้ว

กระทรวงเกษตรฯ การันตีว่า “โคบาลบูรพา” จะไม่เกิดปัญหาซ้ำรอย โคพลาสติก โครงการอีสานเขียวในอดีต…ชัวร์ แต่จริง-ไม่จริง ระยะเวลาจะพิสูจน์