ผู้อำนวยการสถาบันอาหาร กระทรวงอุตสาหกรรม ยกมาตรฐานอาหารถิ่น “รสไทยแท้”

คอลัมน์ แตกประเด็น

โดย ยงวุฒิ เสาวพฤกษ์

เราทราบกันดีว่า อาหารถิ่น ต้องใช้วัตถุดิบในท้องถิ่นของตนเองเป็นส่วนประกอบหลัก ต้องสามารถแสดงอัตลักษณ์เฉพาะของอาหารถิ่นให้รับรู้ได้ว่าเป็นของท้องถิ่นนั้น ๆ หากเอ่ยชื่ออาหารแล้ว คนฟังต้องร้องอ๋อ รู้แล้วว่าถ้าอยากกินต้องไปที่ร้านไหน จังหวัดอะไร รวมถึงรสชาติที่ต้องมีเอกลักษณ์เฉพาะตัวที่แสดงออกมาชัดเจน ที่สำคัญก็คือ อาหารถิ่นมีลักษณะเฉพาะถิ่นที่สามารถบ่งบอกได้ถึงวิถีชีวิต ความเป็นอยู่ วัฒนธรรมในท้องถิ่นนั้น ๆ

ต้องยอมรับครับว่า เสน่ห์ของอาหารถิ่นสามารถเชื่อมโยงเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจในด้านต่าง ๆ โดยเฉพาะด้านการท่องเที่ยวให้แก่ท้องถิ่นได้เป็นอย่างดี ในระยะหลัง ๆ อาหารถิ่นกลายเป็นพระเอกที่แต่ละชุมชนหรือแต่ละท้องถิ่นนำมาเป็นจุดขายให้นักท่องเที่ยวที่นิยมเสาะหาอาหารอร่อยประจำถิ่น

แต่อย่างไรเสียการสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ผู้บริโภคที่ส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวก็เป็นสิ่งที่ละเลยไม่ได้ ทั้งในด้านคุณภาพการผลิตที่ควรคงเส้นคงวา ทั้งในแง่วัตถุดิบที่เลือกใช้ รสชาติที่เป็นอัตลักษณ์ และความปลอดภัยจากกระบวนการปรุงที่ควรอยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน

กรมการพัฒนาชุมชน ตระหนักในประเด็นนี้ และทราบดีว่าผู้ประกอบการอาหารถิ่นส่วนใหญ่หรือกลุ่ม OTOP ยังต้องการองค์ความรู้ในเรื่องนี้อย่างจริงจัง และเชื่อว่าจะเป็นประโยชน์ในระยะยาว จึงได้ร่วมกับสถาบันอาหาร นำเกณฑ์การจัดทำมาตรฐานอาหารรสไทยแท้มาประยุกต์ใช้กับอาหารถิ่น เพื่อยกระดับอาหารถิ่นให้มีมาตรฐานรสไทยแท้ตามเกณฑ์ที่เหมาะสม

โดยสถาบันอาหารเองมีส่วนร่วมในการยกระดับผู้ประกอบการอาหารถิ่น ด้วยการจัดอบรมให้ความรู้การควบคุมสินค้าอาหารตามมาตรฐานอาหารถิ่นรสไทยแท้ ในระยะแรกนี้ดำเนินการไปแล้วไม่น้อยกว่า 2,000 รายทั่วประเทศ จัดอบรมเชิงปฏิบัติการ ในการเตรียมความพร้อมให้กับผู้ประกอบการ OTOP ไม่น้อยกว่า 600 ราย เพื่อขอการรับรองมาตรฐานอาหารถิ่นรสไทยแท้ จัดส่งผู้เชี่ยวชาญดำเนินการตรวจประเมินเพื่อให้การรับรอง ออกเอกสารใบรับรองมาตรฐานอาหารถิ่นรสไทยแท้ให้แก่ผู้ผ่านการประเมินตามเกณฑ์ จัดทำ workshop ร่วมกับผู้ประกอบการเพื่อกำหนดวิธีมาตรฐานในการเตรียม และกระบวนการปรุงเมนูอาหารถิ่นรสไทยแท้

โดยใช้วิทยาศาสตร์เป็นส่วนหนึ่งในการดำเนินการ การวิเคราะห์ทดสอบกลิ่นและรสชาติ พร้อมจัดทำคู่มือสูตรมาตรฐานเพื่อนำไปฝึกปฏิบัติให้เกิดความสม่ำเสมอในการผลิตอาหารเพื่อจำหน่าย และเก็บตัวอย่างสินค้าอาหารถิ่นรสไทยแท้ไม่น้อยกว่าร้อยละ 90 เพื่อตรวจสอบทางวิทยาศาสตร์และความปลอดภัยในการบริโภค เมื่อผ่านเกณฑ์ตามมาตรฐานที่กำหนดไว้ จะได้รับอนุญาตให้ใช้ตรามาตรฐานอาหารถิ่นรสไทยแท้

ล่าสุดนี้ได้ร่วมกันยกระดับเมนูอาหารถิ่นตามมาตรฐานรสไทยแท้ได้ทั้งหมด 25 เมนู โดยคัดเลือกจาก 5 ภูมิภาคของประเทศ ภาคใต้ ได้แก่ นาซินาแก (นาซิดาแฆ) จ.นราธิวาส แกงกะทิหอยกันกับยอดเป้ง จ.พังงา หอยนางรมทรงเครื่อง จ.สุราษฎร์ธานี ไอศกรีมกล้วยเล็บมือนาง จ.ชุมพร ข้าวยำธัญพืช จ.พัทลุง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ได้แก่ หลามปลา จ.หนองคาย เห็ดนัวร์ จ.อุดรธานี ข้าวจี่สับปะรดไร่ม่วง จ.เลย ป่นปูนา จ.กาฬสินธุ์ ไก่ย่างเขาสวนกวาง จ.ขอนแก่น ภาคตะวันออก ได้แก่ เส้นจันท์ผัดปู จ.จันทบุรี ข้าวเกรียบยาหน้า จ.ตราด ผัดไทยกุ้งเคียงเคย จ.ระยอง แกงส้มปลาช่อนแปดริ้ว จ.ฉะเชิงเทรา น้ำพริกกระสัง จ.สระแก้ว ภาคเหนือ ได้แก่ กระยาสารท จ.ตาก ลาบปลายี่สก จ.ลำพูน ข้าวแต๋นธัญพืช จ.ลำปาง ก๋วยเตี๋ยวสุโขทัย จ.สุโขทัย แกงฮังเล จ.แพร่ ภาคกลาง ได้แก่ ไก่ย่างสาริกา จ.นครนายก ต้มโคล้งปลาย่าง จ.สุพรรณบุรี ข้าวคลุกกะปิ จ.สิงห์บุรี แกงป่า จ.กาญจนบุรี และขนมดอกลำเจียก จ.อ่างทอง

ขณะนี้อยู่ระหว่างสร้างการรับรู้แก่ผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศในการบริโภคอาหารถิ่นรสไทยแท้ (OTOP Authentic Thai Taste) ทั้ง 25 เมนูนำร่องดังกล่าว โดยการจัดแสดงและจำหน่ายอาหารถิ่นรสไทยแท้ในงานอีเวนต์ทั้งในประเทศและต่างประเทศ เพื่อให้เกิดการทดลองชิม การรับรู้ในเกณฑ์มาตรฐานร่วมกัน และเชื่อว่าจะเป็นการสร้างแรงจูงใจให้นักท่องเที่ยวติดใจอาหารถิ่นรสไทยแท้ และติดตามไปเที่ยว ถึงท้องถิ่นนั้น ๆ ด้วยตนเองครับ

 

ไม่พลาดข่าวสารเศรษฐกิจ เจาะลึกทุกประเด็นทั้งภาครัฐ-เอกชน เพิ่มเราเป็นเพื่อนที่ Line ได้เลย พิมพ์ @prachachat หรือ คลิกลิงก์ https://line.me/R/ti/p/@prachachat

หรือจะสแกน QR Code ในรูป เราพร้อมเสิร์ฟข่าวเศรษฐกิจ-ธุรกิจถึงมือผู้อ่านทันที!