ทบทวน พ.ร.บ.โรงงานฉบับใหม่ ผ่อนมาตรฐาน สวล. 6 หมื่นโรงงาน

คอลัมน์ ดุลยธรรม โดย ผศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยรังสิต

ปัญหาฝุ่นพิษ PM 2.5 เกิดขึ้นในขณะที่มีการผลักดัน พ.ร.บ.โรงงานฉบับใหม่พอดี รัฐบาลจึงควรใช้โอกาสนี้ทบทวนเนื้อหากฎหมายที่กำลังผ่านการพิจารณาสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มาบังคับใช้ ให้มีการกำกับควบคุมเข้มงวดขึ้น และมีมาตรฐานทางด้านสิ่งแวดล้อมสูงขึ้น เนื่องจากกฎหมายโรงงานใหม่มีการผ่อนคลายกฎระเบียบเรื่องการจัดตั้งโรงงาน การไม่ต้องต่อใบ

อนุญาต หรือมีใบอนุญาตแบบไม่มีวันหมดอายุ หรือแบบตลอดชีพ มีการแก้ไขคำนิยามโรงงานใหม่ ใช้ผู้ตรวจสอบเอกชนตรวจสอบคุณภาพโรงงานได้

เป้าหมายเพื่อให้เกิดความคล่องตัวในการลงทุน แต่ทำให้เกิดปัญหาทางด้านสิ่งแวดล้อมในระยะยาวได้ เพราะกฎหมายใหม่จะปลดล็อกโรงงานขนาดเล็ก 60,000 แห่ง ไม่ต้องขอใบอนุญาต และให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ไปดูแลกันเอง

เป็นการอำนวยความสะดวกให้เอสเอ็มอี

ซึ่งอาจทำให้มาตรฐานและการกำกับดูแลสิ่งแวดล้อมอาจหละหลวม หากผู้ที่เกี่ยวข้องขาดความรับผิดชอบต่อสังคม ความเสื่อมโทรมด้านสิ่งแวดล้อม มลพิษทางอากาศ ฝุ่นพิษ PM 2.5 และปัญหาระบบนิเวศจะรุนแรงขึ้น ปัญหาสภาพแวดล้อมและระบบนิเวศอาจเพิ่มขึ้น ต้นทุนการผลิต ต้นทุนการมีชีวิตและใช้ชีวิต

สูงขึ้น ผลดีต่อภาคการลงทุนและเศรษฐกิจจะถูกหักล้างไป เป็นการเติบโตแบบไม่ยั่งยืนและสร้างปัญหา ผู้มีรายได้น้อย คนยากจนที่ไม่มีอำนาจต่อรองจะต้องแบกรับผลกระทบมากที่สุด โรงงานขนาดเล็กอาจปล่อยน้ำเสีย ควันพิษ กากอุตสาหกรรม มีมลพิษทางเสียงมากขึ้น

ปัญหาสิ่งแวดล้อมและมลพิษต่าง ๆ เป็นปัญหาในเชิงโครงสร้าง ต้องแก้ที่โครงสร้างทางการเมืองและระบบเศรษฐกิจให้มีการจัดสรรทรัพยากรเพื่อประโยชน์สุขและคุณภาพชีวิตของประชาชน เป็นประชาธิปไตยและเกิดการมีส่วนร่วม โครงการลงทุนขนาดใหญ่หรือนโยบายต่าง ๆ ของรัฐต้องมีการประเมินผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและคุณภาพชีวิต ที่ผ่านมาการรวมศูนย์อำนาจในการบริหารประเทศผ่านการใช้มาตรา 44 ปิดช่องทางการมีส่วนร่วมของประชาชน มีส่วนสำคัญเพิ่มความรุนแรงของปัญหาสิ่งแวดล้อมและมลพิษทางอากาศในกรุงเทพฯ

ตั้งแต่การรัฐประหารของ คสช. มีการออกมาตรา 44 และคำสั่งต่าง ๆ เอื้อต่อการลงทุนของเอกชน โดยละเลยต่อประเด็นทางสิ่งแวดล้อมและผลกระทบต่อชุมชน เช่น การยกเว้นผังเมืองใน EEC ยกเว้นผังเมืองสำหรับโรงไฟฟ้าขยะ โรงงานคัดแยกและรีไซเคิลของเสีย เป็นต้น

พ.ร.บ.โรงงานฉบับใหม่เองก็ผ่อนคลายมาตรฐานตรวจสอบทางด้านสิ่งแวดล้อม เมื่อมีการขยายโรงงานหรือเพิ่มกิจการการผลิต รัฐบาล และ สนช.จึงควรทบทวนเนื้อหา และถอนร่างกฎหมายดังกล่าวเพื่อเริ่มต้นกระบวนการจัดเตรียมกฎหมายแบบมีส่วนร่วมภายใต้รัฐบาลหลังการเลือกตั้ง รวมทั้งปฏิรูประบบจัดการสิ่งแวดล้อม

ทั้งระบบ เริ่มต้นด้วยการกำหนดยุทธศาสตร์การพัฒนาประเทศและยุทธศาสตร์การพัฒนาเศรษฐกิจ ที่เอา “คุณภาพชีวิต” ของประชาชนเป็นศูนย์กลางในการพัฒนา มียุทธศาสตร์การเจริญเติบโตอย่างมีเสถียรภาพ ยั่งยืน สมดุล เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ดังนี้

1.กำหนดมาตรฐานคุณภาพสิ่งแวดล้อม ลดระดับมลพิษทางอากาศ ทางน้ำ ทางเสียง และมลพิษต่าง ๆ ให้เป็นไปตามเป้าหมาย 2.สร้างระบบและกลไกควบคุมพฤติกรรมในการก่อให้เกิดมลพิษ โดยใช้มาตรการบังคับ และระบบแรงจูงใจ

3.ต้องใช้เกณฑ์มาตรฐานฝุ่นพิษ หรือมลพิษทางอากาศ ขององค์การอนามัยโลก (PM2.5 ที่ 25 PM10 ที่ 50 ไมโครกรัมต่อ ลบ.ม.) ไม่ให้ “คนไทย” อยู่ในสภาพตายผ่อนส่ง จากมาตรฐานแบบไทย ๆ (PM2.5 ที่ 50 PM10 ที่ 120 ไมโครกรัมต่อ ลบ.ม.) เพราะระดับมาตรฐานไทยยังมีอันตรายต่อสุขภาพ

4.สร้างระบบและกลไกในการใช้เทคโนโลยีในการควบคุมและลดระดับมลพิษ

5.สร้างความตระหนักรู้ถึงอันตรายของฝุ่นพิษ และปัญหามลพิษต่าง ๆ และให้การจัดการผลกระทบจากปัญหาสิ่งแวดล้อมมีต้นทุนต่ำสุด 6.การอนุรักษ์ ฟื้นฟู และสร้างความมั่นคงของฐานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

7.การปรับกระบวนทัศน์การพัฒนาและขับเคลื่อนประเทศ เพื่อเตรียมพร้อมไปสู่การเป็นเศรษฐกิจและสังคมคาร์บอนต่ำและเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

8.การยกระดับขีดความสามารถในการรองรับและปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อให้สังคมมีภูมิคุ้มกัน และเตรียมความพร้อมรับภัยพิบัติทางธรรมชาติ 9.การสร้างภูมิคุ้มกันด้านการค้า จากเงื่อนไขด้านสิ่งแวดล้อมและวิกฤตจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

10.การเพิ่มบทบาทประเทศไทยในเวทีประชาคมโลก ที่เกี่ยวข้องกับกรอบความตกลงและพันธกรณีด้านสิ่งแวดล้อมระหว่างประเทศ 11.จำกัดปริมาณรถยนต์ในบริเวณเขตเมืองที่มีการจราจรคับคั่ง เก็บภาษีสิ่งแวดล้อมและภาษีสุขภาพสำหรับรถยนต์ใหม่ เก็บภาษีแบบขั้นบันไดตามอายุการใช้งาน

12.เพิ่มประสิทธิภาพระบบขนส่งมวลชนให้สามารถเชื่อมโยงมากขึ้น และสามารถเข้าถึงได้อย่างเพียงพอและทั่วถึงด้วยราคาที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้

13.มีมาตรการป้องกันการก่อมลพิษจากการเผาในภาคเกษตรกรรม และที่ถูกปล่อยมาจากภาคอุตสาหกรรม การพัฒนาระบบการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมให้มีประสิทธิภาพ โปร่งใส และเป็นธรรมอย่างบูรณาการ

จากการประเมินผลการพัฒนาในช่วง 4 ทศวรรษที่ผ่านมา ชี้ให้เห็นอย่างชัดเจนถึงการพัฒนาที่ขาดสมดุล โดยประสบความสำเร็จเฉพาะในเชิงปริมาณ แต่ขาดความสมดุลด้านคุณภาพ “จุดอ่อน” ของการพัฒนาที่สำคัญ คือ ระบบบริหารทางเศรษฐกิจ การเมือง และราชการยังเป็นการรวมศูนย์อำนาจและขาดประสิทธิภาพ ระบบกฎหมายล้าสมัย นำไปสู่ปัญหาเรื้อรังของประเทศ คือ การทุจริตประพฤติมิชอบที่เกิดขึ้นทั้งในภาคราชการและธุรกิจเอกชน

ทั้งนี้ ได้เคยนำเสนอแนวทางหรือมาตรการในการแก้ไขมลพิษทางอากาศในกรุงเทพฯ ก่อนหน้านี้ 10 มาตรการ อาทิ ยุทธศาสตร์ในการพัฒนาประเทศต้องเน้นการกระจายไปยังพื้นที่ต่าง ๆ ลดการรวมศูนย์ไว้ที่กรุงเทพฯและปริมณฑล การควบคุมการปล่อยมลพิษจากรถยนต์ โรงงานอุตสาหกรรม การศึกษาแนวทางการจัดเก็บภาษีผู้ก่อมลพิษทางอากาศ สร้างพื้นที่สีเขียวเพิ่มขึ้น สร้างสวนสาธารณะ ปลูกต้นไม้เพิ่มขึ้น การยกระดับมาตรฐานรถยนต์ให้มีการปล่อยมลพิษลดลง ยกระดับมาตรฐานน้ำมันเป็นยูโร 5 สนับสนุนการใช้รถพลังงานไฟฟ้า หรือพลังงานสะอาด ลดใช้พลังงานถ่านหินหรือพลังงานจากฟอสซิลโดยมาตรการลดมลพิษทางอากาศอาจเพิ่มภาระ หรือต้นทุนการดำรงชีวิตของประชาชน จึงต้องมีกองทุนหรือเงินอุดหนุนช่วยเหลือ หรือสินเชื่อเพื่อสิ่งแวดล้อม เช่น ห้ามไม่ให้รถที่มีการเผาไหม้ไม่สมบูรณ์วิ่งบนท้องถนน การกำหนดอายุการใช้งานรถยนต์ การห้ามรถยนต์บางประเภทวิ่งเข้าสู่กรุงเทพฯชั้นใน ในบางช่วงเวลา เป็นต้น

ปัญหามลพิษทางอากาศเป็นปัญหาที่กระทบต่อชีวิตของทุกคน ต้องอาศัยความร่วมมือทุกคนจึงสามารถทำให้แก้ปัญหานี้ได้อย่างยั่งยืน