แนวโน้มธุรกิจอัญมณี กฎเหล็กใหม่ “ระบุที่มาที่ไปสินค้า”

คอลัมน์ แตกประเด็น โดย ดวงกมล เจียมบุตร

 

วันนี้ทั่วโลกรับรู้เรื่องการตรวจสอบย้อนกลับในหลาย ๆ สินค้า โดยเฉพาะสินค้าที่มีลักษณะเป็นห่วงโซ่อุปทานระดับโลก (global supply chain) ทั้งที่เป็นวัตถุดิบไปจนถึงสินค้าสำเร็จรูป ซึ่งลูกค้าที่อยู่ปลายทางโดยเฉพาะในประเทศที่พัฒนาแล้วมีความต้องการที่จะรู้ที่มาที่ไปของสินค้าตั้งแต่แหล่งต้นทาง กลางทาง ถึงปลายทาง

เนื่องจากประเทศผู้บริโภคเหล่านี้ให้ความสำคัญกับการซื้อขายสินค้ากับประเทศที่มีความห่วงใยสิ่งแวดล้อม เคารพสิทธิมนุษยชน การไม่ใช้แรงงานเด็ก มีมาตรฐานการดำรงชีวิตที่ดี และความปลอดภัยในการทำงาน รวมทั้งการไม่นำเงินรายได้จากการค้าไปสนับสนุนการก่อการร้าย และการฟอกเงิน

อัญมณีและเครื่องประดับ นับเป็นหนึ่งในสินค้าที่อยู่ใน global supply chain ตั้งแต่วัตถุดิบ คือ พลอยสี เพชรเจียระไน ทองคำแท่ง เครื่องประดับเงิน เครื่องประดับทอง และทองคำรูปพรรณ ซึ่งประเทศส่วนใหญ่ที่เป็นตลาดนำเข้าที่สำคัญจะเป็นประเทศพัฒนาแล้ว เช่น สหรัฐอเมริกา ยุโรป

ธุรกิจค้าปลีกใหญ่ ๆ ในสหรัฐเองก็มีการใช้ระบบตรวจสอบที่มาที่ไปของสินค้ามานานแล้ว และเริ่มนำระบบนี้มาใช้ในการค้าอัญมณีและเครื่องประดับ เดี๋ยวนี้ลูกค้าที่ประสงค์จะซื้อเพชร หรือเครื่องประดับทอง และเครื่องประดับเงิน สามารถสืบค้นและติดตามที่มาของวัตถุดิบด้วยระบบออนไลน์

นอกจากนี้ องค์การระหว่างประเทศทั้งของรัฐและเอกชน เช่น United Nations, World Gold Council, สมาพันธ์อัญมณีและเครื่องประดับโลก (CIBJO) ก็มีกฎข้อบังคับเรื่องการติดตามและตรวจย้อนกลับจากปลายทางสู่ต้นทาง (traceability) ซึ่งข้อกำหนดดังกล่าว

ส่งผลให้ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียในโซ่อุปทานต้องมีการปรับตัว เช่น การซื้อขายจะต้องมีใบเสร็จและมีที่มาของสินค้า การให้ความสำคัญกับการตรวจรับรอง การให้ความสำคัญกับการสร้างแบรนด์ การทำบัญชีรับและจ่ายสินค้าที่โปร่งใส รวมตลอดถึงการห้ามทำการซื้อขายกับประเทศที่ไม่ปฏิบัติตามข้อกำหนด traceability

ข้อบังคับดังกล่าวนี้ยังไม่แพร่หลายในประเทศที่เป็นแหล่งผลิตหลาย ๆ ประเทศ แต่บริษัทผู้ผลิตเครื่องประดับ
ที่เป็นแบรนด์ดัง ๆ ส่วนใหญ่เริ่มให้ความสำคัญและมีการนำข้อบังคับนี้มาใช้แล้ว

สิ่งที่จะกระทบคือการค้าแบบดั้งเดิมที่ไม่นิยมออกใบเสร็จและแจ้งที่มาที่ไปของสินค้า เช่น ในการซื้อขายพลอย ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นประเด็นที่ท้าทายสำหรับผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะ SMEs ที่ไม่ได้ค้าขายอยู่ในระบบ

จะเห็นได้ว่าข่าวคราวเกี่ยวกับเรื่องนี้เริ่มทยอยออกมามากขึ้น ข่าวการเตรียมการออกมาตรการของสหรัฐเรื่องการเปิดเผยแหล่งที่มาของวัตถุดิบ และสามารถสำแดงแหล่งที่มาวัสดุและวัตถุดิบทั้งหมดว่ามาจากที่ไหน เพื่อป้องกันปัญหาที่เกิดขึ้นจากการค้าวัตถุดิบที่มีค่าเพื่อนำไปเป็นแหล่งเงินทุนสนับสนุนการก่อการร้ายที่ทำให้เกิดความขัดแย้งในหลาย ๆ ประเทศ รวมทั้งการฟอกเงิน

แม้ว่าภาคอุตสาหกรรมนี้ในสหรัฐเองก็ทราบดีว่าเป็นเรื่องยาก เนื่องจากวัสดุหลายชิ้นอาจผ่านการรีไซเคิลหรือขายผ่านมือมาหลายทอด แต่ภาครัฐต้องการรู้แหล่งที่มาของวัตถุดิบหรือชิ้นส่วนทุกรายการในเครื่องประดับ มาตรการนี้อาจจะกระทบต่อการค้าเครื่องประดับไทยไปสหรัฐอเมริกาในอนาคต

แนวโน้มเรื่องนี้น่าจะมีความต่อเนื่องและเข้มข้นขึ้นในเวทีการค้าโลก การนำระบบ block chain มาใช้ในการระบุแหล่งที่มาที่ไปของอัญมณีและเครื่องประดับในทุกขั้นตอนของห่วงโซ่อุปทาน น่าจะเป็นคำตอบที่ดีที่จะช่วยผู้ประกอบการให้ส่งออกไปในตลาดที่พัฒนาแล้วหรือค้าขายกับแบรนด์ใหญ่ ๆ ได้

แต่เนื่องจากการนำระบบนี้มาใช้ยังอยู่ในระยะเริ่มต้นและยังมีคำถามเกี่ยวกับแหล่งที่มาของเหมืองเล็ก ๆ อีกหลายคำถามที่ยังไม่สามารถสรุปได้ สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ กำลังดำเนินการศึกษาผลกระทบข้อดีข้อเสียของระบบ block chain ดังกล่าวเพื่อให้ผู้ประกอบการไทยได้เตรียมรับมือกับการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดในอนาคต