ครีมไม่มี อย. “ของก๊อป” โจ่งแจ้งเกลื่อนออนไลน์

คอลัมน์ ชั้น 5 ประชาชาติ

โดย สร้อย ประชาชาติ

เป็นปกติของช่วงโค้งท้ายปี ที่เหล่าอีคอมเมิร์ซรายใหญ่ จะทุ่มงบประมาณด้านการตลาดแบบทุ่มไม่อั้น พร้อม “เผาเงินทิ้ง” เพื่อดึงกำลังซื้อ อย่างล่าสุดในแคมเปญ 9.9 เมื่อกันยายนที่ผ่านมา “ลาซาด้า” ประกาศความสำเร็จสำคัญคือ “แบรนด์ทั้งหมดใน LazMall สามารถสร้างยอดขายเฉลี่ยที่เพิ่มสูงขึ้นกว่า 37 เท่าจากช่วงเวลาปกติ” ส่วน “ช้อปปี้” ประเทศไทย ยอดขายเติบโตกว่า 480 เท่า เมื่อเทียบกับวันปกติ

แต่กลยุทธ์การตลาดปีนี้เห็นชัดว่า “เกม” ถูกใช้เพื่อดึงผู้ซื้อเข้าร่วมกิจกรรมก่อนที่จะแจกส่วนลด จึงไม่ใช่ผู้ใช้งานทุกคนจะได้ซื้อของถูก และการจัดลดราคาเฉพาะช่วงเวลา “flash sale” เพื่อกระตุ้นให้ผู้บริโภครู้สึกว่า “ต้องรีบซื้อ” เดี๋ยวจะไม่ได้ราคาถูก แต่จริง ๆ แล้ว ซื้อในช่วงเวลาปกติได้ราคาถูกกว่า รวมถึงมีกรณีที่ลดราคาต่ำร้อยบาท เพื่อดึงดูด แต่ปรากฏว่า คุณภาพสินค้าย่ำแย่ แม้จะคืนเงินได้ แต่เมื่อเทียบกับค่าใช้จ่ายและเวลาที่ต้องเสียไป ลูกค้าเกือบทั้งหมดเลือกจะ “แค่รีวิวบ่น”

และหากมีผู้บริโภครายใด “หลงกล” กับคำว่า flash sale ก็จะมีเหยื่อรายใหม่เกิดขึ้นอีก

แน่นอนว่า มองในแง่หนึ่งก็อาจจะเป็น “หน้าที่” ของผู้บริโภคที่จะต้องพึงระมัดระวัง แต่อีกแง่หนึ่งก็อาจจะสร้าง “ภาพจำ” ถึงความ “จริงใจ” ของแต่ละแบรนด์

แต่สิ่งที่น่าตกใจมากกว่าคือ กลับมีสิ่งของที่เห็นได้ชัดว่า “ผิดกฎหมาย” เกลื่อนไปหมด ง่าย ๆ ก็เสื้อผ้า รองเท้า กระเป๋าที่เป็น “ของก๊อป” แม้ส่วนใหญ่ดูรูปแบบการขาย ดูราคาก็พอจะรู้ได้ว่า “ก๊อบปี้” แน่นอน และการนำไปใช้งานก็ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อสุขภาพอนามัยมากนัก แต่ก็เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ “ประเทศไทย” อยู่ในบัญชีประเทศที่ต้องจับตามอง (watch list : WL 1) ของสหรัฐอเมริกา โดยในรายงาน Notorious Markets ปี 2562 ได้ชี้ไปถึงปัญหาบน “ตลาดออนไลน์” ของไทย

แต่ที่น่าจะกระทบกับสุขภาพอนามัยของผู้บริโภคมากคือ เครื่องสำอางผลิตภัณฑ์บำรุงผิวต่าง ๆ ซึ่งมีทั้งที่ “ปลอมแท้ ๆ” เพราะขายราคาถูกจนไม่มีทางเป็นไปได้ที่จะเป็นของแท้ กับ “ปลอม” แต่ขายในราคา “ของแท้” ที่ลดราคา ซึ่งลูกค้าจะไม่มีวันรู้ได้เลย หากไม่ได้ใช้งานในสินค้านั้นประจำและได้รับสินค้าที่ส่งมาถึงมือแล้วเท่านั้น

และที่ไม่น่าเชื่อว่าจะมีอยู่มากและถูกดึงเข้าแคมเปญโปรโมต คือบรรดา “ครีมกระปุก” ครีมหลอด ครีมซอง
ที่ไม่มีทั้งชื่อผู้ผลิต ส่วนผสม และแน่นอน ไม่มี “อย.” ซึ่งกระทบกับผู้บริโภคแน่ ๆ เพราะถ้าของ “ดีจริง” ผู้คิดค้นคงกล้าประกาศตัวต่อสาธารณะ

หลายครั้งเมื่อมีโอกาสสอบถามไปยังผู้บริหารอีมาร์เก็ตเพลซรายใหญ่ทั้งหลาย ก็มักจะได้คำตอบว่ามีทีมคอยมอนิเตอร์อยู่ตลอดเวลาเพื่อป้องกันปัญหานี้ แต่อาจจะมีหลุดรอดไปได้เพราะมีสินค้า “มหาศาล” อยู่บนแพลตฟอร์ม

แต่การถูกดึงเข้า “flash sale” เจ้าของแพลตฟอร์ม “ต้องรู้ต้องเห็น” ถึงความมีอยู่ของสินค้า และยังเห็นดีเห็นงามที่จะใช้โปรโมตดึงยอดขายจะว่าไปสินค้าเหล่านี้ก็เหมือน fake news ที่คนทั่วไปที่ไม่รู้เท่าทันก็ตกเป็นเหยื่อหลงเชื่อ เพราะคิดว่า ขายบนออนไลน์ของ “แพลตฟอร์มใหญ่” ก็น่าจะคัดกรองมาแล้ว และถ้าขายได้โจ่งแจ้งอย่างงี้แปลว่า “ภาครัฐไม่ว่าอะไร”

คำถามต่อไปคงต้องส่งไปถึงผู้ใหญ่ในบ้านในเมืองว่า ลุกมาจัดการกับ fake news ได้แล้วสินค้าประเภท “ใช้แล้วแย่ กินแล้วตาย” จะปล่อยให้เฉิดฉายบนโลกออนไลน์ต่อไปเรื่อย ๆ แบบนี้หรือ