รับมือแรงกระแทกเศรษฐกิจ

คอลัมน์ สามัญสำนึก

โดย พัฒนพันธุ์ วงษ์พันธุ์

มีความรู้สึกเหมือนโลกเรากำลังจะหยุดหมุนยังไงไม่รู้ ความหวั่นวิตกจากไวรัสมหาภัยที่มีจุดเริ่มจากจีนกำลังสั่นสะเทือนไปทั่วโลก การเดินทางไปมาระหว่างประเทศ โดยเฉพาะสายการบินต่าง ๆ ปรับลดเที่ยวบินกันโกลาหล เพราะคนไม่ต้องการมีความเสี่ยงในพื้นที่แคบ ๆ คนที่มานั่งข้าง ๆ เราเป็นใครก็ไม่รู้

อีเวนต์ระดับโลกช่วง 6 เดือนแรกของปี มีทั้งประกาศยกเลิกไปเลย และเลื่อนการจัดงานอย่างไม่มีกำหนด ไม่ว่าจะเป็นงานเจนีวา มอเตอร์โชว์, เฟซบุ๊ก เอฟ 8 ฯลฯ

Advertisment

ที่เพิ่งยกเลิกไปสด ๆ ร้อน ๆ ทั้งที่งานกำลังจะเริ่ม คือ งานมหกรรมท่องเที่ยวโลก-ไอทีบี เบอร์ลิน 2020 ที่่วงการท่องเที่ยวไทยคุ้นเคยดี เพราะเป็นงานขายใหญ่ที่สุดของอุตสาหกรรมนี้

แม้ว่าตัวเลขผู้เข้ารับการรักษาหายแล้วจะสูงขึ้นเรื่อย ๆ มากกว่าครึ่งสามารถกลับบ้านไปใช้ชีวิตตามปกติ แต่ยอดผู้ติดเชื้อจากไวรัสโควิด-19 รวมทั่วโลกถือว่ามหาศาล มีผู้เสียชีวิตมากกว่าโรคระบาดใด ๆ

แน่นอนว่าสิ่งที่เกิดขึ้นกับประเทศจีนซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจมหาศาล เป็นทั้งผู้นำเข้าและส่งออก เป็นแหล่งซัพพลายวัตถุดิบให้กับทั่วโลก บวกกับความหวาดวิตกยอดผู้ติดเชื้อในประเทศอื่น ๆ เพิ่มจำนวนขึ้นจนน่าตกใจ คือสาเหตุสำคัญ ทำให้ตลาดหุ้นทั่วโลกแดงไปทั้งกระดาน

ไม่อยากนึกถึงว่า หากอีเวนต์ยักษ์-โอลิมปิก 2020 กลางปีนี้ ที่กรุงโตเกียว ประเทศญี่ปุ่น มีอันต้องยกเลิกไปเหมือนอีเวนต์อื่น ๆ ผลกระทบจะกว้างขวางขนาดไหน

Advertisment

ย้อนกลับมามองประเทศไทย ที่ผ่านมาเรามีรายได้จากการท่องเที่ยวมหาศาล ผลกระทบครั้งนี้จึงพุ่งตรงไปที่อุตสาหกรรมท่องเที่ยว บริการ แหล่งช็อปปิ้ง โยงใยไปถึงธุรกิจใหญ่น้อยมหาศาล

มีผู้ประกอบการอยู่ในซัพพลายเชนนับแสน ๆ ราย

คนทำงานในธุรกิจเหล่านี้้เป็นหลักล้าน

แม้แต่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ยังยอมรับว่า…กรณีที่ไวรัสโควิด-19 ระบาดทั้งปีมีโอกาสที่เศรษฐกิจไทยปีนี้จะเติบโตต่ำกว่า 1% จากที่เคยคาดการณ์ไว้เดิมที่ 2.8%

น่าเป็นห่วง คือ บรรดาเอสเอ็มอีธุรกิจขนาดกลางและขนาดเล็ก เมื่อรายได้ลดลงอย่างไม่ทันตั้งตัว จะประคับประคองธุรกิจในช่วงนี้อย่างไร

โดยเฉพาะคนที่สายป่านไม่ยาว ต้องกู้เงินมาลงทุน

จริงอยู่ในทางการแพทย์เชื่อมั่นว่าสุดท้ายแล้วความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีจะสามารถคิดค้นวิธีเอาชนะไวรัสร้าย “โควิด-19” ได้อย่างแน่นอน

เหมือนโรคซาร์ส, ไข้หวัดใหญ่ 2019, ไวรัสอีโบลา หรือโรคร้ายแรงอื่น ๆ

ที่อยากบอกก็คือ เป็นสิ่งถูกต้องและสมควรอย่างยิ่งที่เราให้ความสำคัญกับไวรัสโควิด-19 เพราะมีผลกระทบต่อสุขภาพประชาชนโดยตรง แต่ไม่อยากให้ลืมว่าประเทศไทยยังมีความท้าทายอื่น ๆ รออยู่ โดยเฉพาะภัยแล้งที่กำลังรอวันปะทุ

ภาวะน้ำในเขื่อนต่ำกว่าปกติ ซึ่งเห็นสัญญาณกันมาตั้งแต่ปลายปี กำลังจะส่งผลกระทบต่อเกษตรกรซึ่งเป็นประชากรกลุ่มใหญ่ที่สุดของประเทศ หลาย ๆ คนคงลืมไปแล้วว่า ที่ผ่านมาเราประกาศห้ามเพาะปลูกข้าวในเขตลุ่มเจ้าพระยา แต่มีการฝืนปลูกกันร่วม ๆ 2 ล้านไร่

ถ้าฝนทิ้งช่วงจริง ๆ อะไรจะเกิดขึ้น

ยังไม่รวมเรื่องใหญ่ ๆ ที่ค้างมาจากปีก่อนอย่างการส่งออก เนื่องจากผลกระทบสงครามการค้า แต่ละเรื่องที่ถาโถมเข้ามาล้วนเป็นเรื่องใหญ่ ๆ ทั้งนั้น

สุดท้ายกลายเป็นว่าเราต้องเจอทั้งศึกนอก-ศึกใน

ในขณะที่รัฐบาลกำลังสำลักเกมการเมืองที่ตัวเองผูกเอาไว้ ส่วนหน่วยงานราชการต่าง ๆ หนักไปทาง “ตั้งรับ” กับปัญหา มองไปทางไหนยังไม่เห็นแนวทางแก้ไข

ที่ทำได้ในเวลานี้ก็คือ

เตรียมตัวเองให้พร้อมที่สุด เตรียมรับแรงกระแทกทางเศรษฐกิจกันเอาไว้ให้ดี