“ธนา เธียรอัจฉริยะ” ถอดบทเรียน “สัตยา ไมโครซอฟท์” สู้โควิด

ธนา เธียรอัจฉริยะ

“ธนา เธียรอัจฉริยะ” ถอดบทเรียน “สัตยา ไมโครซอฟท์” Mobile First Cloud First คาถาสู้โควิด ธุรกิจโลกใหม่

“ธนา เธียรอัจฉริยะ” สมัยอยู่ “ดีแทค” เขาเป็นผู้บริหารที่ปลุกปั้นสร้างแบรนด์ “แฮปปี้” บริการมือถือแบบเติมเงิน หรือพรีเพด จนโด่งดัง เป็นหนึ่งในหัวเรือสำคัญที่มีส่วนพลิกฟื้นองค์กร และแบรนด์ “ดีแทค” ร่วมกับทีมการตลาด และ 2 โคซีอีโอ คู่หู “วิชัย เบญจรงคกุล” และ “ซิคเว่ เบรคเก้” ในสมัยนั้น

“ดีแทค” เปลี่ยนภาพลักษณ์จาก underdog ที่แทบไม่มีอะไรสู้ใครได้ มาเป็นคู่แข่งที่น่าจับตาในสมรภูมิธุรกิจมือถือ

ธนา” โลดแล่นอยู่ในฐานะ “ผู้บริหารมืออาชีพ” ในหลากหลายวงการ โดยใช้ความเชี่ยวชาญด้านการตลาดและความเป็นนักสังเกตการณ์มาสร้างปรากฏการณ์ใหม่ ๆ หลังออกจาก “ดีแทค” เพื่อตามหาความท้าทายใหม่ ที่เขาใช้คำว่า “ทำให้หัวใจกลับมาเต้นแรงอีกครั้ง”

ทั้งในธุรกิจเสื้อผ้า, โทรทัศน์ และเป็นหนึ่งในผู้ก่อตั้งหลักสูตรอบรมที่น่าจะเรียกได้ว่าฮอตที่สุดในปัจจุบัน ปัจจุบันเป็นรองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มงานการตลาด ธนาคารไทยพาณิชย์ (เอสซีบี)

และอีกบทบาทที่ทำได้ดีไม่แพ้กัน คือ การเป็นนักเล่าเรื่อง ทั้ง “พูด” และ “เขียน”

หลายปีก่อน “ธนา” เปิดคอลัมน์ “ครูพักลักจำ” ในหนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ ซึ่งในภายหลัง เขานำบทความเหล่านั้น รวมกับที่เขียนขึ้นใหม่มาเผยแพร่บนเฟซบุ๊กเพจชื่อว่า “เขียนไว้ให้เธอ”

เรื่องล่าสุดที่ “ประชาชาติธุรกิจ” นำกลับมาแบ่งปันอีกครั้ง ใน “รวมพลังสู้โควิด-19” ก็ด้วย ยังทันสมัยและนำมาปรับใช้เพื่อก้าวข้ามวิกฤตครั้งนี้ไปด้วยกันได้

“สัตยา ไมโครซอฟท์”

เมื่อเร็ว ๆ นี้ มีข่าวที่น่าสนใจในวงการธุรกิจอเมริกาในช่วงอาทิตย์ที่ผ่านมา ใน digitaltrends.com โดยบอกว่า “ไมโครซอฟท์” เตรียมยกเลิกงานอีเวนต์ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นสัมมนา หรือจัดงานแถลงใหญ่ใด ๆ ที่ต้องพบเจอผู้คนไปจนถึงมิถุนายน 2021 ฟังดูอีกนานและความคิดแรกก็คงคิดว่า ไมโครซอฟท์คงกลัว และประเมินโควิด-19 ไว้ว่าน่าจะเป็นวิกฤตที่ยาวนานกว่าที่คิด

บังเอิญเมื่อ 4 ปีก่อน ผมเคยติดสอยห้อยตาม “ซีอีโอ” บริษัทผม ไปเยี่ยมดูงานที่ไมโครซอฟท์ และมีโอกาสนั่งฟังคุณสัตยา ซีอีโอใหญ่ไมโครซอฟท์ ผมเขียนบทความไว้ในช่วงนั้น พอเอามาอ่านทบทวนแล้วก็จะรู้ว่า การที่ไมโครซอฟท์ทำตัวนำเทรนด์งดประชุม งดสัมมนา งดเจอหน้าจนกว่าจะกลางปีหน้านั้น ไม่ใช่เป็นการกลัวโควิด แต่น่าจะมาจากสาเหตุอื่น ลองอ่านบทความเมื่อ 4 ปีก่อนดูนะครับ

…….

ผมมีโอกาสดีมาก ๆ ในการร่วมเดินทางไปเยี่ยมชม Microsoft ที่สหรัฐอเมริกา ร่วมกับคณะของทางธนาคารไทยพาณิชย์ เมื่ออาทิตย์ที่แล้ว นอกจากจะได้ฟังความรู้ใหม่ ๆ ด้านเทคโนโลยีหลาย ๆ ด้านแล้ว ความตื่นเต้นสำคัญประการหนึ่ง คือ ได้มีโอกาสเจอบุคคลที่ Business Insider ให้ฉายาว่า “The game changing CEO of Microsoft” Satya Nadella ซึ่งผมเดาเอาว่ามาจากสัตยาในภาษาสันสกฤต เพราะซีอีโอท่านนี้เป็นคนอินเดียโดยกำเนิด

“สัตยา นาเดลลา” (Satya Nadella) ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ไมโครซอฟท์ คอร์ปอเรชั่น (Photo by Manjunath Kiran / AFP)

ไมโครซอฟท์ เมื่อไม่กี่ปีมานี้ ยังเป็นบริษัทที่เชย ๆ ดูตกยุค ทำอะไรไม่ค่อยประสบความสำเร็จ ราคาหุ้นก็อยู่กับที่มาเป็นสิบปี ตอนที่คุณสัตยาเข้ามารับตำแหน่งซีอีโอ เมื่อต้นปี 2014 ไมโครซอฟท์กำลังอยู่ในช่วงตกต่ำ ผลิตภัณฑ์ที่ออกสู่ตลาดอย่าง Windows 8 ในตอนนั้นก็ล้มเหลวพอสมควร

เพียงแค่ 2 ปี ที่คุณสัตยาเข้ามากุมบังเหียน “ไมโครซอฟท์” กลายเป็นยักษ์ที่ตื่นขึ้นมาอย่างน่ากลัว นอกจากจะประสบความสำเร็จกับวินโดวส์ 10 แล้ว การเข้าสู่ธุรกิจ cloud การเข้าซื้อ และขยาย Skype หรือการเข้าซื้อ Mojang (ผู้สร้าง Minecraft) รวมถึงผลิตภัณฑ์ที่ประสบความสำเร็จอย่าง Xbox หรือ Surface และผลิตภัณฑ์เปลี่ยนโลกที่ได้รับการยกย่องจากหลายสำนักให้เป็นผลิตภัณฑ์แห่งปี อย่าง HoloLens ทำให้ราคาหุ้นขยับขึ้นอย่างมาก หลังสงบนิ่งมาเป็นสิบปี

แสดงถึงความเชื่อมั่นจากหลาย ๆ ด้าน จนมีหลายคนบอกว่า ไมโครซอฟท์ได้กลับมา “cool” อีกครั้งหนึ่งแล้ว

คุณสัตยา เป็นซีอีโอคนที่ 3 ของไมโครซอฟท์ ต่อจาก บิลล์ เกตส์ และ สตีฟ บาลเมอร์ เป็นคนอินเดียโดยกำเนิด และอพยพมาเรียน และเข้าทำงานที่ไมโครซอฟท์ ตั้งแต่ปี 1992

ตอนที่เข้าไมโครซอฟท์ใหม่ ๆ มีคนอินเดียทำงานอยู่ไมโครซอฟท์ แค่ 30 สิบคน เขาเป็น 1 ในนั้น

คุณสัตยาไต่เต้าจากงานเล็ก ๆ จนกลายเป็น president of the server and tools division ก่อนได้รับการเลือกให้เป็น “ซีอีโอ” ในที่สุด และใช้เวลาเพียง 2 ปี หันหัวเรือขององค์กรขนาดใหญ่ที่กำลังจะตกยุค ให้กลายเป็นองค์กรที่คล่องแคล่ว และกลับมายืนในสายตาของผู้บริโภคและนักลงทุนได้อย่างน่าอัศจรรย์

ความลับของเขาอยู่ตรงไหน ?…

คณะที่ไปเยี่ยมชมไมโครซอฟท์มีกำหนดที่จะเจอคุณสัตยาช่วงสั้น  ๆ ในวันที่ 2 แต่จากผู้บริหารหลาย ๆ คนที่เรามีโอกาสได้เจอวันแรกจะรู้สึกได้เลยว่า ผู้บริหารและพนักงานที่เราเจอ มีความศรัทธาและพูดถึงในตัว “ซีอีโอ” อย่างตาเป็นประกาย ทุกคนพูดประโยคคล้าย ๆ กันถึง mission ขององค์กรและเป้าหมาย และภูมิใจในความเป็นไมโครซอฟท์ เป็นอย่างมาก

มีคำที่ทุกคนพูดเหมือนกัน เช่น mobile first cloud first หรือการที่ต้องการเปลี่ยนชีวิตคนทั่วโลก ซึ่งเป็นที่น่าแปลกใจเป็นอย่างยิ่งสำหรับบริษัทเทคโนโลยีที่ควรพูดเรื่องเทคโนโลยี หรือผลิตภัณฑ์เป็นหลัก และทุกคนก็จะพูดถึงทั้งทางตรงและทางอ้อมว่า คุณสัตยาเป็นจุดเริ่มของการเปลี่ยนแปลงที่ทำให้ไมโครซอฟท์เป็นอย่างที่เป็นในปัจจุบัน

ในวันที่ 2 ที่ได้มีโอกาสพบกับคุณสัตยา คณะที่ไปด้วยกันได้มีโอกาสซักถามถึงเรื่องราวของการเปลี่ยนไมโครซอฟท์ คุณสัตยาตัวจริงเป็นคนสุภาพ เป็นมิตร และไม่มีฟอร์มของซีอีโอระดับโลกให้เห็นเลย

คุณสัตยาเล่าด้วยว่า เคยอยู่เมืองไทยตอนเด็ก ๆ อยู่ 5 ปี เพราะพ่อต้องไปทำงานที่ไทย เคยมีบ้านอยู่แถวโรงแรมเฟิร์ส ถนนเพชรบุรี ทำให้คุ้นเคยกับเมืองไทยอยู่บ้าง

หนึ่งในคณะที่ไปด้วยถามถึงวิธีการ “turnaround” และเริ่มสร้างความเปลี่ยนแปลงในองค์กร คุณสัตยาเล่าว่า ตอนเริ่มแรกสุดนั้น เขาพยายามที่จะสร้าง sense of purpose ขึ้นมา หาเหตุผลว่าทำไมไมโครซอฟท์ถึงจะต้องมีอยู่ในโลก และมีประโยชน์ต่อคนส่วนใหญ่ในโลกได้ยังไง และพยายามให้เลิกมองคู่แข่ง เลิกอิจฉาริษยาคู่แข่ง แต่ชวนคนในองค์กรหันมาตอบคำถามว่า ทำไมโลกถึงยังต้องการไมโครซอฟท์อยู่มากกว่า

คุณสัตยาพยายามสื่อสารให้องค์กรทั้งหมดรู้ว่า ซีอีโอ “คิด” อะไรอยู่ อย่างสม่ำเสมอ เขาบอกว่า พนักงานทุกคนไม่ว่าบริษัทไหนก็ตาม จะ “สนใจ” อย่างมากว่า ผู้นำคิดอะไร คุณสัตยาให้ทิศทางที่ชัดเจนและเข้าใจง่าย ๆ ที่ทุกคนในองค์กรจะเห็นได้เหมือนกัน การอ่านเทรนด์ของโลกแล้วกำหนดเป็นคำพูดที่ง่าย ๆ แต่ทรงพลังอย่าง mobile first cloud first ที่เราได้ยินจากทุกคน เปรียบเสมือนเข็มทิศที่ให้ทุกคนเดินไปในทิศทางเดียวกัน

คุณสัตยายังเล่าอีกว่า พอมี sense of purpose แล้ว ก็ต้องสร้างวัฒนธรรมองค์กรที่มาสนับสนุน purpose นั้น ๆ คุณสัตยาเชื่อว่าวัฒนธรรมองค์กรไม่ใช่เป็นอะไรที่ตายตัว แต่เป็นวัฒนธรรมแห่งการเรียนรู้ตลอดเวลา เขาบอกว่า เขาได้ไอเดียนี้จากการอ่านหนังสือจิตวิทยาเด็กของภรรยา เรื่อง Growth Mindset (หาอ่านละเอียดได้จาก Carol S.Dweck Ph.D. ซึ่งเป็นผู้เขียน)

เขาเชื่อว่า คนหรือองค์กรที่มี growth mindset พร้อมที่จะเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ ตลอดเวลา เห็นความล้มเหลวเป็นการเรียนรู้ ชอบความท้าทาย มีความพยายามสูง ไม่ว่าจะแข่งกันเรียน หรือแข่งทางธุรกิจ ก็จะชนะคนที่มี fixed mindset ได้ตลอด แทนที่คนไมโครซอฟท์จะคิดว่า ตัวเองเคยยิ่งใหญ่มาอย่างไร เขากลับสนับสนุนให้คิดว่า บทเรียนที่เราได้ในแต่ละวันคืออะไร มากกว่า

คุณสัตยาเขียนอีเมล์ฉบับแรกตอนที่เข้ารับตำแหน่งซีอีโอไว้บางส่วนว่า “Many who know me say I am also defined by my curiousity and thirst for learning. I buy more book than I can finish. I sign up for more online courses than I can complete. I fundamentally believe that if you are not learning new things, you stop doing great and useful things. So family, curiousity and hunger for knowledge all define me.” เป็นทิศทางที่ซีอีโอให้คุณค่าและบอกชัดเจนตั้งแต่วันแรกของการทำงาน

คุณสัตยาทิ้งท้ายว่า การสร้างการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมองค์กรนั้นอยู่บนพื้นฐานของโครงสร้างง่าย ๆ (simple architecture) ที่ทุกคนเข้าใจได้ ตั้งแต่มุมมองต่ออนาคต เป้าประสงค์ขององค์กร และความมุ่งมั่นที่ต้องชัดเจน แล้วสื่อสารซ้ำแล้วซ้ำอีก ไม่ว่าจะอยู่ในที่ประชุมไหน จะไม่เปลี่ยนเนื้อหาหลัก แล้วปรับรายละเอียดต่าง ๆ ขององค์กร ตั้งแต่วิธีการทำงาน การถามคำถามในห้องประชุม จนถึงการกำหนดค่าตอบแทน ให้สอดคล้องไปกับ mission vision ที่ตั้งไว้

“สัตยา นาเดลลา” (Satya Nadella) ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ไมโครซอฟท์ คอร์ปอเรชั่น (Photo by Manjunath Kiran / AFP)

คุณสัตยาพูดเรื่องการเปลี่ยนแปลงก่อนจากกันไว้ว่า การเปลี่ยนแปลงเป็นเรื่องส่วนบุคคล ไม่ใช่นามธรรม ทุกคนชอบคิดที่จะเปลี่ยนคนอื่นอยู่ตลอดเวลา แต่ไม่เคยพยายามจะเปลี่ยนตัวเอง วัฒนธรรมองค์กรใหม่ของไมโครซอฟท์ที่นำพาองค์กรมาจนถึงวันนี้นั้น เกิดขึ้นจากการพยายามเปลี่ยนตัวเอง และใส่ growth mindset ให้กับพนักงานทุกคน

คุณสัตยาทำสำเร็จหรือไม่ ผลงาน 2 ปีที่ผ่านมาก็คงตอบได้ แต่ที่น่าประทับใจกว่านั้นก็คือ การที่พวกเราได้พูดคุยกับชาวไมโครซอฟท์ ตลอด 2 วัน และรู้สึกได้ก็คือ passion ที่ทุกคนมีต่อองค์กร ความภูมิใจที่มี และความเข้าใจถึงทิศทางและวัฒนธรรมองค์กรของบริษัทที่ชัดเจน แม้กระทั่งแม่บ้านที่ดูแลเรื่องอาหารให้เรา ตลอด 2 วันนี้ด้วย

มีใครคนหนึ่งในไมโครซอฟท์เล่าในบทสนทนาหนึ่งระหว่างการประชุมว่า “คุณจะไม่เชื่อเลยว่า ผู้นำคนหนึ่งจะมีผลกระทบต่อองค์กรได้ขนาดนี้”

เป็นโชคดีของผมที่ได้มีโอกาสแอบนั่งฟังตัวจริง เสียงจริง คนนี้

สัตยาแห่งไมโครซอฟท์

…………

ใช่ครับ… mobile first cloud first นี่คือโอกาสที่ดีที่สุดของไมโครซอฟท์ ในการใช้ประโยชน์สูงสุดจากไวรัสโควิด กลยุทธ์ที่ไมโครซอฟท์ละทิ้งทุกอย่างและมุ่งสู่เส้นทางนี้ ทำให้ไมโครซอฟท์มีชีวิตใหม่ขึ้นมาได้

และในสถานการณ์โควิด ถ้ากินร้อน ช้อน (ตัวเอง) กลาง ล้างมือ เป็นเครื่องมือที่เราควรจะทำเพื่อให้สุขภาพแข็งแรง mobile first cloud first ก็จะกลายเป็นเครื่องมือสำคัญของทุกบริษัทที่จะอยู่รอดในโลกใหม่ด้วยเช่นกัน

นี่คือโอกาสทองของไมโครซอฟท์ละครับ…..

………..

ประชาชาติธุรกิจ นำเสนอซีรีส์ “รวมพลังสู้ โควิด-19” ภายใต้เนื้อหาที่มาจากประชาชน นักคิด นักเขียน ผู้รู้ นักธุรกิจ สตาร์ตอัพ ผู้ประกอบการทุกระดับ ที่นำเสนอแนวคิด ความรู้ และทางออกจากปัญหาไปด้วยกัน