ความดีที่กลับเป็นตราบาปชั่วชีวิต (1)

คอลัมน์ นอกรอบ

โดย รณดล นุ่มนนท์

การลอบสังหารประธานาธิบดี จอห์น เอฟ. เคนเนดี ในปี 2506 นำไปสู่ความมืดมนทางการเมือง และความคิดที่แตกแยกของคนอเมริกัน ซึ่งมีทั้งเรื่องความเหลื่อมล้ำทางสังคม ปัญหาการเหยียดสีผิว การถลําลึกในสงครามเวียดนาม ตลอดจนการกดขี่แรงงานต่างด้าว

แต่เมื่อโรเบิร์ต “บ๊อบบี้” เคนเนดี วุฒิสมาชิกรัฐนิวยอร์ก น้องชายของประธานาธิบดี จอห์น เอฟ. เคนเนดี ประกาศสมัครชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐ ในปี 2511 คนอเมริกันเริ่มมีความหวังที่จะมีผู้นำใหม่เข้ามาแก้ไขปัญหาที่รุมเร้าทางเศรษฐกิจและสังคมมาอย่างยาวนาน การช่วงชิงเป็นตัวแทนพรรคเดโมแครตในช่วงแรก วุฒิสมาชิกบ๊อบบี้ เคนเนดี มีคะแนนสูสีกับวุฒิสมาชิกยูจีน แม็คคาร์ธี (Eugene McCarthy) จากมลรัฐมินนิโซตา จนมาถึงวันเลือกตั้งที่รัฐแคลิฟอร์เนีย ซึ่งกำคะแนนเสียงจำนวนมากของพรรค ผู้ได้รับชัยชนะจากรัฐนี้จึงน่าจะได้เปรียบ และจะทำให้ผู้เลือกตั้งในรัฐอื่น ๆ เทคะแนนเสียงให้

เคนเนดีจึงให้ความสำคัญกับการเลือกตั้งที่นี่มาก ถึงกับเลือกโรงแรมแอมบาสซาเดอร์ โรงแรมใหญ่ใจกลางเมืองลอสแองเจลิสเป็นศูนย์บัญชาการ ในวันที่ 3 มิถุนายน 2511 ก่อนการเลือกตั้ง 2 วัน เคนเนดีซึ่งกลับจากการตระเวนหาเสียงค่อนข้างดึก ตัดสินใจสั่งอาหารค่ำขึ้นมารับประทานในห้องพัก บรรดาพ่อครัวและพนักงานเสิร์ฟตื่นเต้นสุดขีด ยื้อแย่งกันอุตลุดเพื่อจะเป็นคนนำอาหารขึ้นไปให้บริการท่านวุฒิสมาชิก

แต่ด้วยกลเม็ดเด็ดพรายใดไม่ทราบ ฆวน โรเมโร (Juan Romero) เด็กหนุ่มวัย 17 ปี เชื้อสายเม็กซิโก ได้รับมอบหมายให้ทำหน้าที่นี้ เมื่อฆวนเข้าไปในห้อง เขาเกิดความประหม่ามาก จัดโต๊ะอาหารแบบลุกลี้ลุกลน จนเมื่อเคนเนดีเอ่ยปาก กล่าวคำขอบคุณ พร้อมยื่นมือทั้งสองมาจับมือฆวนอย่างกระชับแน่น ฆวนตกตะลึงจ้องหน้าบ๊อบบี้แบบหูตาค้าง และเมื่อเขาเดินออกจากห้อง ก็รู้สึกหัวใจพองโต เต็มไปด้วยความหวัง เพราะคำพูดและสายตาของเคนเนดีนั้น ไม่ได้มองว่าเขาเป็นคนผิวสี หรือฐานะแตกต่างกัน หากแต่มองในฐานะพลเมืองร่วมชาติ

ค่ำคืนวันเลือกตั้ง (5 มิถุนายน 2511) ผลการนับคะแนนเป็นไปอย่างสูสี และกว่าจะรู้ผลเกือบเวลาเที่ยงคืน ปรากฏว่า เคนเนดีชนะการเลือกตั้งจากการเทคะแนนให้ของคนผิวสี และชนกลุ่มน้อย เคนเนดีขึ้นเวทีกล่าวขอบคุณผู้ลงคะแนน และทีมงาน พร้อม ๆ กับผู้สนับสนุนในห้องบอลรูมของโรงแรม ที่แสดงความยินดีปรีดาเข้าสวมกอดกัน

เคนเนดีกล่าวทิ้งท้ายไว้ว่า เขาจะนำชัยชนะครั้งนี้ไปต่อยอดสู้ศึกที่รัฐอิลลินอยส์ต่อไป เมื่อก้าวลงจากเวที เคนเนดีตัดสินใจเดินทางลัดเข้าห้องครัวเพื่อไปให้สัมภาษณ์กับผู้สื่อข่าว แทนที่จะเดินไปตามเส้นทางปกติที่มีเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัยได้กำหนดไว้

ฆวนซึ่งยืนอยู่แถวนั้นไม่ปล่อยให้โอกาสทองหลุดไป เขารีบวิ่งเข้าไปในห้องครัวเพื่อขอจับมือ แสดงความยินดีกับเคนเนดี เมื่อเคนเนดีเดินเข้ามาในห้องครัว ก็ได้ทักทายกับทุกคนและมาหยุดยื่นมือให้ฆวนจับ เพราะยังจำหนุ่มน้อยคนนี้ได้

ทันใดนั้น เซอร์แฮน เซอร์แฮน ผู้อพยพชาวจอร์แดนวัย 24 ปี วิ่งสวนเข้ามาพร้อมกับใช้ปืน 22 revolver ยิงเข้าไปที่ศีรษะของเคนเนดีจนหงายล้มลง ท่ามกลางความตกตะลึงของทุกคน ฆวนตั้งสติได้ รีบกระโจนเข้าไปพยุงไม่ให้ศีรษะเคนเนดีกระแทกพื้น เคนเนดียังพอมีสติ ถามฆวนว่า “ทุกคนโอเคมั้ย” ฆวนตอบว่า “ครับ” เคนเนดีพูดต่อว่า “ทุกอย่างจะไม่เป็นไร”

ขณะเดียวกัน มือของฆวนเต็มไปด้วยเลือดที่ไหลออกมาจากศีรษะของบ๊อบบี้ ฆวนหยิบสายลูกประคำออกจากกระเป๋าเสื้อของตัวเอง ใส่ไว้ในมือเคนเนดีเพื่อปลอบขวัญ ก่อนที่ท่านวุฒิสมาชิกจะหมดสติ และฆวนถูกแยกตัวออกมา วินาทีนั้นมีผู้บันทึกภาพไว้ได้ กลายเป็นรูปภาพประวัติศาสตร์ สายลูกประคำ และชุดทำงานสีขาว พร้อมหลับตาสีหน้านิ่ง

ทำให้หลายคนเข้าใจว่า ฆวนเป็นนักบวช เดวิด ฮูม (David Hume) ช่างภาพรางวัลพูลิตเซอร์ ได้กล่าวว่า “ช่างเป็นภาพที่ทรงพลัง แสงที่สะท้อนมาจากข้าง ๆ ทำให้เห็นเด็กหนุ่มผู้เข้ามาพยุงศีรษะเพื่อยื้อชีวิตของเคนเนดี ให้ต่อสู้กับความอยุติธรรมในสังคมอเมริกันต่อไป”

  • แหล่งที่มา 1/ ข่าวสด. 2020. สิ้นเด็กเสิร์ฟในตำนาน ผู้พยุงร่างโรเบิร์ต เคนเนดี นาทีถูกลอบสังหาร.[online] Available at: [Accessed 7 June 2020]. 2/ 9news.com.au. 2020. Busboy Who Comforted Robert Kennedy After He Was Shot Dies.[online] Available at: [Accessed 7 June 2020]. 3/ Orwelltoday.com. 2020. RFK Busboy Haunted. [online] Available at: [Accessed 7 June 2020].