ข้อเสนอนโยบายสาธารณะ บริหารจัดการค่าบาท-ระบบนิติรัฐ

ท่าเรือ การส่งออกสินค้า
คอลัมน์ ดุลยธรรม
ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ

สงครามการค้ารอบใหม่จะปะทุขึ้นอีกรอบหนึ่งก่อนเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา การกล่าวหาไทยและไต้หวันว่าปั่นค่าเงินเพื่อเอาเปรียบทางการค้าเป็นส่วนหนึ่งของการกีดกันทางการค้าต่อสินค้าส่งออกของไทยและไต้หวัน สงครามการค้ารอบใหม่เป็นส่วนหนึ่งของกลยุทธ์การเอาชนะในการเลือกตั้งของพรรครีพับลิกัน และทีมงานของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์

ทั้งนี้ คาดว่าอาจจะไม่มีการดำเนินการใด ๆ ถึงขั้นที่อาจทำให้เกิดความเสียหายต่อระบบการค้าโลก แต่สร้างความเสี่ยงและความไม่แน่นอนต่อการเจรจาการค้าเฟสแรกของสหรัฐกับจีน รวมทั้งคงไม่มีการเจรจาเฟส 2 ก่อนการเลือกตั้งสหรัฐ แต่จะกระทบต่อภาคส่งออกและเศรษฐกิจของจีนในระดับหนึ่ง

ความรุนแรงของการกีดกันทางการค้าจะไม่มากถึงจุดที่จะย้อนกลับไปกระทบต่อเศรษฐกิจสหรัฐและตลาดแรงงานภายในของสหรัฐเอง เนื่องจากความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจ การลงทุน การค้าระหว่างสหรัฐและจีน รวมทั้งระบบการค้าโลกที่ไทยเป็นส่วนหนึ่งที่มีความซับซ้อนเกี่ยวพันกันมากเกินกว่าที่แนวความคิดแบบชาตินิยมสุดขั้วจะเกิดขึ้นได้อย่างง่ายดาย อย่างไรก็ตาม

คาดการณ์ว่าจะมีมาตรการแข็งกร้าวทางการค้าจากสหรัฐอเมริกามากขึ้นตามลำดับ เมื่อผนวกเข้ากับปัจจัยทางเศรษฐกิจภายในที่อ่อนแอของไทย 5 เดือนสุดท้ายของปีนี้ สถานการณ์ทางเศรษฐกิจอาจทรุดตัวลงได้อีก และในเบื้องต้นจะส่งผลให้ตลาดการเงินโลกมีความผันผวนสูงขึ้นด้วย พร้อม ๆ กับการปรับเพิ่มขึ้นของราคาทองคำ แม้ในปัจจุบันราคาทองคำจะอยู่ในระดับสูงมากจากการเก็งกำไรเกินขนาดแล้วก็ตาม

ขณะที่ไทยจะได้รับผลกระทบตามไปด้วย โดยไทยอาจถูกจับตาและถูกกล่าวหาว่าแทรกแซงค่าเงินบาทเพื่อเอาเปรียบทางการค้าสหรัฐอเมริกา สำหรับประเด็นข้อกล่าวหาเรื่องการปั่นค่าเงินดังกล่าว ไทยไม่ควรวิตกกังวลมากเกินไป และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ควรดำเนินการบริหารจัดการอัตราแลกเปลี่ยนและค่าเงินบาทให้อยู่ในระดับที่เหมาะสมต่อภาวะเศรษฐกิจ โดยไม่ฝืนกลไกตลาดต่อไป แนวโน้มของค่าเงินบาทควรอ่อนค่าลงจากปัจจัยและตัวแปรต่าง ๆ ของเศรษฐกิจมหภาคอยู่แล้ว และการอ่อนค่าของเงินบาทจะช่วยประคับประคองการทรุดตัวลงของเศรษฐกิจได้ระดับหนึ่งโดยไม่ก่อให้เกิดแรงกดดันของเงินเฟ้อแต่อย่างใด

ขณะนี้ประเทศไทยมีปัญหาที่น่าวิตกมากกว่าคือ ภาวะเงินฝืด (deflation) แต่จะมีภาวะเงินฝืดยาวนานแบบญี่ปุ่นหรือไม่ขึ้นอยู่กับการดำเนินนโยบายสาธารณะว่าถูกทิศทางและตรงเป้าหมายหรือไม่ในระยะต่อไป โดยการเพิ่มปริมาณเงินในระบบเศรษฐกิจ พร้อมกับการเร่งรัดการลงทุนโดยภาครัฐที่ก่อให้เกิดการจ้างงานจำนวนมาก จะเป็นหลักประกันขั้นต้นของการกระเตื้องขึ้นของเศรษฐกิจในช่วงต้นปีหน้า

โดยในเบื้องต้นรัฐบาลและหน่วยงานภาครัฐต้องทำให้เกิดความเชื่อมั่นต่อกระบวนการยุติธรรม และระบบการปกครองโดยกฎหมายเกิดขึ้นจริงในสังคมไทยคือ เป็นประเทศที่มีระบบนิติรัฐนิติธรรม (rule of law) อันเข้มแข็ง

ระบบยุติธรรม ระบอบการปกครองยึดถือกฎหมายและความเป็นธรรม จะเป็นโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจ เป็น soft infrastructure ทางเศรษฐกิจ ทำให้เศรษฐกิจภาคการลงทุนขับเคลื่อนได้ บางครั้งเป็นมากกว่า hard infrastructure ที่ต้องใช้เงินงบประมาณมหาศาลอย่างการลงทุนโครงข่ายคมนาคม

เนื่องจากระบบนิติรัฐที่บังคับใช้กฎหมายอย่างเสมอภาค ระบบยุติธรรมที่เป็นธรรม ไม่ต้องใช้เงินงบประมาณจำนวนมาก แต่สามารถสร้างความเชื่อมั่นต่อการลงทุนโดยเฉพาะโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของนักลงทุนต่างชาติที่ก่อให้เกิดการจ้างงานจำนวนมาก การทำให้กฎหมายศักดิ์สิทธิ์ เคารพกฎหมาย สัญญาสัมปทานต่าง ๆ มีการดำเนินการตามมาตรฐานสากลจึงเป็นเรื่องสำคัญ หากไม่ทำเช่นนั้นคนจะเคารพกฎหมายน้อยลง นักลงทุนจะไม่มั่นใจในสัญญาสัมปทานต่าง ๆ จะเลือกใช้วิธีวิ่งเต้นด้วยทรัพย์สินเงินทองและติดสินบนด้วยสายสัมพันธ์แบบอุปถัมภ์มากกว่าแข่งขันกันด้วยประสิทธิภาพและคุณภาพ ปฏิบัติตามมาตรฐานสากลและหลักธรรมาภิบาล

อันนำมาสู่การจัดสรรผลประโยชน์อย่างเป็นธรรมระหว่างรัฐ (ที่ทำหน้าที่เพื่อประโยชน์สาธารณะ) กับนักลงทุนธุรกิจเอกชน (ที่ดำเนินโครงการต่าง ๆ โดยได้รับผลตอบแทนอย่างเป็นธรรมภายใต้ความเสี่ยงที่ยอมรับได้) ผลประโยชน์สาธารณะของประชาชนได้รับการปกป้องและไม่เสีย “ค่าโง่” ด้วยเงินภาษีประชาชน แต่การไม่มี “นิติรัฐ” และ “นิติธรรม” จะนำมาสู่ภาวะไร้เสถียรภาพทางการเมืองและสังคม ซ้ำเติมความเดือดร้อนทางเศรษฐกิจและชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชน