คว้าโอกาสปฏิรูป โครงสร้างเศรษฐกิจไทย

นักท่องเที่ยว
คอลัมน์ ร่วมด้วยช่วยคิด
นิธิสาร พงศ์ปิยะไพบูลย์ ฝ่ายนโยบายการเงิน ธปท.

 

หากท่านผู้อ่านติดตามข่าวของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในช่วงที่ผ่านมาจะพบว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เริ่มให้ความสำคัญมากขึ้นกับการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจ โดยในรายงานการประชุมครั้งล่าสุด กนง.เห็นว่า “ควรให้ความสำคัญกับนโยบายด้านอุปทานเพื่อสนับสนุนการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ ให้สามารถฟื้นตัวได้ในภูมิทัศน์ใหม่ หลังการแพร่ระบาดของโควิด 19 คลี่คลายลง” วันนี้จึงขอชวนคุณผู้อ่านมาร่วมด้วยช่วยคิดในเรื่องดังกล่าวครับ

ขออธิบายความแตกต่างของนโยบายด้านอุปสงค์และด้านอุปทานกันก่อน นโยบายด้านอุปสงค์ จะเน้นการบริหารจัดการความต้องการใช้จ่ายในสินค้าและบริการ เช่น นโยบายการคลัง ซึ่งเป็นพระเอกในการกู้วิกฤตโควิดรอบนี้ ไม่ว่าจะเป็นการใช้จ่ายในด้านสาธารณสุขเพื่อรักษาและป้องกันโรคระบาด หรือการโอนเงินเยียวยาให้ผู้ที่ต้องหยุดงานชั่วคราวมีรายได้พอที่จะผ่านพ้นช่วงปิดเมืองไปได้ นอกจากนี้ นโยบายการเงินนับเป็นนโยบายด้านอุปสงค์เช่นกัน โดย กนง.ลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายต่ำที่สุดในประวัติการณ์มาอยู่ที่ 0.50% เพื่อลดภาระดอกเบี้ยให้ธุรกิจและครัวเรือนมีเงินเหลือไปใช้จ่ายในด้านอื่น ๆ ได้

สำหรับนโยบายด้านอุปทาน จะเน้นที่การบริหารจัดการทรัพยากรในภาคเศรษฐกิจต่าง ๆ ให้เกิดประโยชน์สูงสุด มีคำถามสำคัญ เช่น เราควรจะจัดสรรแรงงาน เงินทุน ที่ดิน ไปให้สาขาเศรษฐกิจ (sector) ใด ผู้ประกอบการควรจะเลือกทำธุรกิจใน sector ใด เพื่อให้เกิดผลตอบแทนสูงสุด โดยการจัดสรรทรัพยากรให้แต่ละ sector แตกต่างกัน ทำให้โครงสร้างเศรษฐกิจของแต่ละประเทศแตกต่างกันด้วย เช่น ประเทศไทยเป็นเศรษฐกิจเปิดขนาดเล็กที่พึ่งพาภาคต่างประเทศมาก สะท้อนจากสัดส่วนการส่งออกที่มีขนาดใหญ่ประมาณ 65% ของ GDP แบ่งเป็น การส่งออกสินค้าประมาณ 50% ของ GDP และการส่งออกบริการประมาณ 15% ของ GDP (การส่งออกบริการส่วนใหญ่มาจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ)

และเมื่อต้นปี 2020 ชาวโลกได้เจอกับโรคระบาดชนิดใหม่ที่ชื่อว่าโควิด-19 ทำให้ภูมิทัศน์ของเศรษฐกิจโลกเปลี่ยนไปฉับพลันอย่างหน้ามือเป็นหลังมือ รัฐบาลประเทศต่าง ๆ จำเป็นต้องใช้มาตรการปิดเมือง หรือ lockdown เพื่อป้องกันการแพร่ระบาด กิจกรรมทางเศรษฐกิจจึงหยุดชะงักลง ในช่วงดังกล่าว ทางการของประเทศต่าง ๆ รวมถึงไทยจำเป็นต้องใช้นโยบายด้านอุปสงค์ ทั้งนโยบายการเงินและนโยบายการคลังอย่างเต็มที่

สำหรับไทยสามารถรับมือการระบาดได้ดีจนได้รับคำชมเชยจากนานาชาติ และได้ผ่อนคลายมาตรการควบคุมการระบาดมาเป็นลำดับ ดังนั้น ไทยควรคว้าโอกาสจากการที่ควบคุมการระบาดได้เร็วกว่าประเทศอื่น ๆ เร่งใช้นโยบายด้านอุปทานเพื่อปรับโครงสร้างเศรษฐกิจให้ฟื้นตัวได้ในโลกหลังโควิด-19

แล้วภูมิทัศน์ใหม่หลังโควิด-19 เปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง เราพบว่าทั่วโลกมีกำลังการผลิตส่วนเกิน (excess capacity) เกิดขึ้นในหลาย sector โดยที่เห็นได้ชัดเจนมากที่สุดในไทย คือ ภาคการท่องเที่ยว ในปี 2562 ประเทศไทยต้อนรับนักท่องเที่ยวต่างชาติถึง 40 ล้านคน แต่ในปี 2563 นักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาได้เพียงในไตรมาสที่ 1 ประมาณ 6.7 ล้านคน สำหรับช่วงครึ่งหลังของปีจะขึ้นอยู่กับความคืบหน้าของมาตรการระเบียงท่องเที่ยว (travel bubble) ประมาณการจำนวนนักท่องเที่ยว

ล่าสุดของแบงก์ชาติ ณ มิ.ย. 2563 อยู่ที่ 8 ล้านคน ในปี 2563 และเพิ่มเป็น 15 ล้านคนในปี 2564 ซึ่งยังนับว่าห่างไกลเลข 40 ล้านคนมาก ดังนั้น อาคารสถานที่และแรงงานในภาคการท่องเที่ยวจึงกลายเป็น excess capacity จำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นในธุรกิจสายการบิน การขนส่งผู้โดยสาร โรงแรม ร้านอาหาร ร้านสปา ฯลฯ

โจทย์สำคัญของการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ คือ การเคลื่อนย้าย excess capacity ไปยัง sector อื่นที่มีแนวโน้มขยายตัวได้ดี ภาครัฐจึงควรมีกลไกการบริหาร excess capacity อาทิ เอื้อให้เกิดการควบรวมกิจการ หรือการปรับเปลี่ยนรูปแบบธุรกิจทำได้ง่ายขึ้น ตลอดจนออกแบบนโยบายเพื่อสนับสนุนและยกระดับผลิตภาพของ sector ที่มีศักยภาพและมีโอกาสฟื้นตัวเร็ว ซึ่งการเร่งปฏิรูปกฎเกณฑ์ภาครัฐที่มีอยู่เป็นจำนวนมาก และเป็นอุปสรรคต่อภาคธุรกิจ จะช่วยเร่งกระบวนการปรับตัวให้เร็วขึ้นได้

สิ่งสำคัญที่สุด คือ การเคลื่อนย้ายแรงงานที่กลับสู่ sector เดิมไม่ได้ ไปยัง sector ใหม่ที่มีศักยภาพในการเติบโต ซึ่งแรงงานจำเป็นต้องมีการพัฒนาทักษะเดิม (upskill) และเติมทักษะใหม่ (reskill) ที่สอดคล้องกับรูปแบบธุรกิจในโลกหลังโควิด-19 เช่น ธุรกิจมีแนวโน้มใช้เครื่องจักรและระบบอัตโนมัติในการผลิต (automation) เพื่อลดต้นทุนและลดการสัมผัสมากขึ้น แรงงานจึงต้องมีทักษะในการทำงานร่วมกับเครื่องจักรมากขึ้นทั้งการควบคุมและการซ่อมบำรุง

หรือธุรกิจมีแนวโน้มใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการดำเนินธุรกิจมากขึ้น แรงงานที่มีทักษะด้านดิจิทัลก็จะเป็นที่ต้องการของตลาดแรงงาน นอกจากนี้ การสร้างระบบหางานที่สามารถจับคู่ระหว่างนายจ้างและแรงงานที่มีทักษะตรงความต้องการจะเป็นปัจจัยความสำเร็จที่สำคัญ ซึ่งกลไกดังกล่าวควรเอื้อให้เกิดการเคลื่อนย้ายแรงงานในระดับล้านคนได้

นอกจากการบริหาร excess capacity แล้ว การพัฒนามูลค่าเพิ่มในแต่ละ sector ก็มีความสำคัญเช่นกัน เช่น ภาคการท่องเที่ยวไม่สามารถเน้นนักท่องเที่ยวกรุ๊ปทัวร์ในเชิงปริมาณได้เหมือนเดิม แต่ควรเน้นนักท่องเที่ยวกลุ่มคุณภาพที่มีการใช้จ่ายสูง เช่น กลุ่ม medical tourism กลุ่ม long stay

หรือภาคการเกษตรของไทยจำเป็นต้องสร้างรายได้เพิ่มขึ้น จากเดิมที่ภาคเกษตรจ้างงาน 32% ของกำลังแรงงาน (12 ล้านคนจาก 38 ล้านคน) แต่สร้างมูลค่าเพิ่มประมาณ 10% ของ GDP เท่านั้น หากภาคเกษตรจะรองรับแรงงานที่กลับสู่ต่างจังหวัดเพิ่มขึ้นก็จำเป็นต้องมีผลิตภาพสูงขึ้น และนี่ถือเป็นโอกาสดี เนื่องจากแรงงานหนุ่มสาวที่กลับไปจะช่วยทดแทนแรงงานสูงอายุในภาคเกษตร และแรงงานหนุ่มสาวมีความสามารถในการปรับใช้เทคโนโลยีก็จะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับภาคเกษตรได้

ยิ่งในปัจจุบัน พัฒนาการด้านการขนส่งโลจิสติกส์ สื่อสังคมออนไลน์ และ platform ดิจิทัลมีความก้าวหน้า ช่วยให้วิสาหกิจชุมชนในต่างจังหวัดสามารถทำการตลาดขายสินค้าได้ทั่วประเทศไทย แรงงานที่กลับบ้านไปพร้อมกับทักษะจะเป็นกำลังสำคัญในการสร้างมูลค่าเพิ่มและการพัฒนาพื้นที่ทั่วประเทศได้

เศรษฐกิจก็เหมือนชีวิตของคนเรา มีการเติบโตและเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา เมื่อพบเจอกับสถานการณ์ใหม่ ๆก็ต้องเรียนรู้และปรับตัวเพื่อดำเนินชีวิตต่อไป บางครั้งการเปลี่ยนแปลงก็เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว หรือที่เรียกว่า disruption ซึ่งเป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นอยู่ก่อนแล้ว

ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ทำให้ความคุ้นเคยเดิม ๆ และธุรกิจเดิม ๆ หายไป เพราะมีของใหม่มาแทนที่ โควิด-19 เป็นอีกหนึ่งเหตุการณ์ที่เข้ามาทดสอบว่าเรามีภูมิคุ้มกันมากน้อยเพียงใด และเมื่อผ่านเหตุการณ์นี้ไปได้ เราจะแข็งแรงขึ้น และมีภูมิคุ้มกันมากขึ้น ผู้เขียนขอเป็นกำลังใจให้ทุกท่านคว้าโอกาสปฏิรูปโครงสร้างประเทศไทยครั้งนี้ได้สำเร็จครับ