“เศรษฐกิจ-การเมือง” วิถีใหม่

Photos by Angela Weiss and SAUL LOEB / AFP
บทบรรณาธิการ

การเลือกตั้งชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐ ทำให้การเมืองภายในของประเทศแม่แบบประชาธิปไตยร้อนแรงไม่แพ้การเมืองไทย ไม่ว่าโจ ไบเดน หรือโดนัลด์ ทรัมป์ จะเป็นผู้คว้าชัย ก็มีโอกาสที่ความชุลมุนวุ่นวายจากกลุ่มผู้สนับสนุนของแต่ละฝ่ายที่เห็นไม่ตรงกันอาจจะมีตามมา

ส่วนการเมืองไทยเวลานี้ยังเป็นคลื่นใต้น้ำ มองผิวเผินเหมือนกำลังปรับโหมดใหม่สู่การสมานฉันท์ แต่ในทางปฏิบัติโอกาสที่เวทีเจรจาหาทางออกไม่ว่าจะสูตรไหน โมเดลใดคงดับไฟขัดแย้งได้ยาก

เพราะเริ่มส่อแววมีปัญหาตั้งแต่ยังไม่ทันเริ่มต้นนับหนึ่ง ล่าสุด นอกจากกลุ่มผู้ชุมนุนเคลื่อนไหวในนามคณะราษฎรจะแถลงการณ์ปฏิเสธไม่ขอเข้าร่วมวงเจรจาแล้ว นักการเมืองฝ่ายรัฐบาลก็เริ่มออกโรงคัดค้าน วิพากษ์วิจารณ์รุนแรงขึ้น

การเมืองทั้งภายในและนอกประเทศจึงยังเป็นปัจจัยทำให้เศรษฐกิจยิ่งสุ่มเสี่ยงไม่แน่นอน ส่งผลกระทบโดยตรงกับภาคธุรกิจ การบริโภค การลงทุน ประกอบกับความเสี่ยงด้านสุขภาพอนามัยจากไวรัสโควิด-19 ซึ่งหลายฝ่ายห่วงว่าจะกลับมาระบาดรอบสองเหมือนที่ประเทศเพื่อนบ้านกำลังเผชิญปัญหา ยิ่งฉุดความเชื่อมั่นซึ่งต่ำอยู่แล้วย่ำแย่ลงอีก

โลกยุคปัจจุบันแม้เทคโนโลยีก้าวหน้าไปไกล แต่ท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจที่ลุกลามหยุดไม่อยู่ โรคอุบัติใหม่ ปัจจัยลบทางการเมือง เป็นสัญญาณเตือนให้คนไทย ธุรกิจไทยตั้งมั่นอยู่ในความไม่ประมาท นอกจากต้องตั้งหลักตั้งการ์ดให้รัดกุมแล้ว การเตรียมความพร้อมปรับตัวรับความผันผวนถือเป็นเรื่องจำเป็นอย่างยิ่ง

Advertisment

วิถีใหม่ ความปกติรูปแบบใหม่ ยุค “เศรษฐกิจ-การเมือง” new normal เป็นตัวเร่งให้แต่ละบุคคล องค์กรธุรกิจต้องปรับตัวให้ทัน ความท้าทายอยู่ที่ต้องค้นหาว่าทำอย่างไรจึงจะตอบโจทย์ เรียนรู้ ปรับตัว ให้สอดรับกับวิถีใหม่ซึ่งไม่มีสูตรสำเร็จตายตัว โดยเฉพาะการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม ทั้งการดำเนินชีวิต ทำงาน การดำเนินธุรกิจ

ที่สำคัญไม่ใช่แค่ปรับเปลี่ยนชั่วคราวหรือเฉพาะหน้าในระยะสั้น แต่ต้องสร้างภูมิคุ้มกันในระยะยาวให้คนไทย ธุรกิจไทยมีความเข้มแข็ง ยืนหยัดสู้การถูกทำลายล้างจากวิกฤตซ้ำซ้อน ทั้งพายุดิสรัปชั่น ปัญหาเศรษฐกิจ โควิด-19 อย่างไรก็ตาม สิ่งเหล่านี้จะเป็นจริงได้ การสร้างบรรยากาศตามวิถีประชาธิปไตยจะช่วยหนุนนำสู่ความสำเร็จ

ควบคู่กับการผลักดันแนวทางปรองดองสมานฉันท์ หากรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องถือโอกาสนี้หยิบยกประเด็นปัญหาเชิงโครงสร้างสังคมไทย แก้วิกฤตช่องว่าง ความเหลื่อมล้ำจึงอาจเป็นทางเลือกเดียว เพราะนอกจากจะคลี่คลายความขัดแย้งทางการเมืองแล้ว ความมั่นคงยั่งยืนจะเกิดขึ้นกับทุกภาคส่วน ส่งผลด้านบวกต่อกลไกเศรษฐกิจ และการขับเคลื่อนประเทศไปข้างหน้า