สงครามแย่งวัคซีนโควิด

Photo AFP
คอลัมน์ สามัญสำนึก
ถวัลย์ศักดิ์ สมรรคะบุตร

หน้าหนาวปีนี้ได้กลายเป็นช่วงเวลาที่มืดมนของทวีปยุโรป-อเมริกา รวมไปถึงอินเดีย เมื่อจำนวนผู้ติดเชื้อไวรัสโควิด-19 พุ่งพรวดจนผ่านหลักล้านในระยะเวลาเพียง 1-2 วันเท่านั้น ส่งผลให้ตัวเลขสะสม ณ วันที่ 13 พฤศจิกายน อยู่ที่ 58,085,762 คน เสียชีวิต 1,299,267 คน

โดยประเทศที่ย่ำแย่ที่สุดยังคงเป็น สหรัฐอเมริกา ตัวเลขผู้ติดเชื้อล่าสุดอยู่ที่ 10,873,900 คน ตาย 8,727,900 คน หรือมีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นวันละเป็นแสนคน รองลงมาได้แก่ อินเดีย ติดเชื้อ 8,727,900 คน ตาย 128,686 คน บราซิล ติดเชื้อ 5,783,647 คน ตาย 164,332 คน ทั้ง 3 ประเทศนี้สถานการณ์ไม่ได้ดีขึ้นเลย จนอาจกล่าวได้ว่ามีการระบาดใหญ่อยู่ตลอดเวลา ตั้งแต่เกิดการติดเชื้อขึ้นในประเทศ

หันมาทางด้านยุโรปกันบ้าง ฝรั่งเศส เกิดการระบาดขึ้นมาอีกระลอก มีผู้ติดเชื้อสะสม 1,898,710 คน, รัสเซีย 1,858,568 คน, สเปน 1,484,868 คน, สหราชอาณาจักร 1,290,195 คน, อิตาลี 1,066,401 คน และเยอรมนี 749,632 คน

ที่น่ากังวลก็คือ พบคนติดเชื้อรายวันในระดับหลักพัน และไม่มีทีท่าจะลดลง ทำให้ประเทศเหล่านี้ต้องกลับมาประกาศ lockdown ปิดเมือง ปิดประเทศ อาจลากยาวถึงสิ้นเดือนธันวาคม ถ้ายังไม่สามารถควบคุมได้ จากความเหนื่อยล้าของผู้คนที่จะต้องกลับมา lockdown กันอีกครั้ง ไม่ยอมสวมใส่หน้ากาก สภาพอากาศที่หนาวเย็นบีบบังคับให้ผู้คนต้องรวมตัวกันในสถานที่คับแคบเอื้อต่อการระบาดมากยิ่งขึ้น

อย่างไรก็ตาม ท่ามกลางความมืดมนเหล่านี้ โลกเริ่มเห็นแสงสว่างที่ปลายทาง เมื่อผู้พัฒนาวัคซีนป้องกันการติดเชื้อโควิด-19 หลายรายออกมาประกาศความสำเร็จหลังผ่านพ้นการทดลองระยะที่ 3 ไม่ว่าจะเป็น วัคซีนจากจีน 2 จาก 4 รายการที่ก้าวหน้ามากที่สุด

ตัวแรกเป็นวัคซีนเชื้อตายของ Sinovac กำลังทดลองระยะที่ 3 ในคน ยังไม่มีรายงานการก่อผลข้างเคียง อีกตัวหนึ่งเป็น Wuhan Institute สังกัด Sinopharm ก็อยู่ระหว่างการทดลองระยะที่ 3 เช่นกัน

ด้านรัสเซีย ที่มีผู้ติดเชื้อเป็นอันดับ 5 ของโลก ประกาศความสำเร็จในการพัฒนาวัคซีน 2 รายการ ตัวแรกเป็นของศูนย์วิจัยไวรัสและเทคโนโลยีชีวภาพรัสเซีย (VECTOR) ชื่อว่า Sputnik V กับของสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์กามาเลยา ชื่อ Epi Vac Corona ที่ใช้อะดิโนไวรัสเป็นตัวนำพาและกำลังยื่นขอ WHO ขึ้นบัญชีการใช้งานแบบฉุกเฉินและประเมินคุณสมบัติเบื้องต้น ก่อนฉีดให้อาสาสมัครทดลอง 40,000 คน

ส่วนข้อสงสัยเรื่องประสิทธิภาพประธานาธิบดีปูตินกล่าวว่า วัคซีนรัสเซียก็ควรใช้กับคนรัสเซียก่อนเป็นอันดับแรก

ทางฟากฝั่งยุโรปและอเมริกา เมื่อเร็ว ๆ นี้ Johnson & Johnson ได้หยุดการทดลองระยะ 3 เมื่อมีอาสาสมัครเจ็บป่วยโดยไม่อาจอธิบายได้ ซึ่งก่อนหน้านี้ทางบริษัท AstraZeneca ก็ได้หยุดการทดลองระยะ 3 ไว้ ด้วยสาเหตุเดียวกัน

โดยวัคซีนทั้ง 2 บริษัทนี้ใช้เชื้อไวรัสโรคหวัดที่อ่อนกำลังเป็นตัวส่งสัญญาณคำสั่งทางพันธุกรรมให้เซลล์ของร่างกายสร้างโปรตีนที่มีลักษณะคล้ายคลึงกับชนิดที่พบบนผิวของโคโรน่าไวรัส เพื่อกระตุ้นให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายสร้างเกราะป้องกันไวรัสโควิด

ล่าสุดบริษัทผู้ผลิตยายักษ์ใหญ่ของโลก Pfizer ร่วมกับ BioNTech ออกมาประกาศความสำเร็จมากกว่า 90% ในการป้องกันการติดเชื้อไวรัสโควิด-19 กับอาสาสมัครในการทดลองขั้นที่ 3 แต่มีข้อจำกัดเรื่องการขนย้ายวัคซีน ต้องเก็บไว้ภายใต้อุณหภูมิไม่ต่ำกว่า -70 องศา โดยแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์ของผู้พัฒนาวัคซีนเหล่านี้คาดการณ์กันว่า จะเริ่มผลิตวัคซีนออกมาสู่สาธารณะได้อย่างเต็มที่อย่างเร็วที่สุดกลางปี 2564 ทั้ง ๆ ที่หลายบริษัทไม่รอความสำเร็จ

ในการทดลองระยะที่ 3 แต่ใช้วิธีผลิตวัคซีนควบคู่ไปกับกระบวนการทดลองในอาสาสมัครกันเลยทีเดียว

ประเทศไทยเองมีรายงานจากกระทรวงสาธารณสุขเข้ามาว่า มีแผนจัดซื้อวัคซีนล่วงหน้าให้คนไทยร้อยละ 50 จากจำนวนประชากรทั้งหมดภายในปี 2564 โดย Pfizer ก็เป็นหนึ่งในบริษัทยาที่อยู่ในแผนที่รัฐจะจัดซื้อวัคซีน

แน่นอนว่าวัคซีนที่ถูกพัฒนาขึ้นจนสำเร็จเป็นรายแรก ๆ นี้ “บริษัทยาไม่ได้มีไว้แจกฟรี” แต่จะต้องแย่งกันซื้อในราคาแพงกับหลายประเทศในโลกที่ลงทุน “จอง” ล่วงหน้าจำนวนหลายพันล้านเหรียญไปกับบริษัทยาเหล่านี้ไปแล้ว