เศรษฐกิจจะฟื้นตัว ต้องพึ่งการอัดฉีดของรัฐบาล

คอลัมน์ ช่วยกันคิด
ถนอมศรี ฟองอรุณรุ่ง

เศรษฐกิจโลกและประเทศต่าง ๆ กำลังฟื้นตัวอย่างต่อเนื่อง หลังจากหดตัวรุนแรงในไตรมาส 2 (จากการแพร่ระบาดของโควิด-19 และการล็อกดาวน์) โดยการฟื้นตัวในช่วงที่ผ่านมาเป็นผลมาจาก

1.ภาครัฐอัดฉีดเงินประคองเศรษฐกิจจำนวนมาก เช่น สหรัฐ และยุโรป ซึ่งเป็นประเทศที่มีการแพร่ระบาดอย่างรุนแรงในไตรมาส 1 จำนวนผู้ติดเชื้อใหม่เพิ่มขึ้นในอัตราเร่ง ทำให้ต้องควบคุมโดยการปิดเมือง เศรษฐกิจจึงถูกกระทบและหดตัวรุนแรงในไตรมาส 2

อย่างไรก็ตาม ทั้งรัฐบาลและธนาคารกลางได้ช่วยกันอัดฉีดเงินเพื่อพยุงเศรษฐกิจจำนวนมากกว่า 10% ของจีดีพี จึงทำให้เศรษฐกิจฟื้นตัวได้แรง (สหรัฐจีดีพีขยายตัว 7.4% ในไตรมาส 3 จากที่หดตัว 9% ในไตรมาส 2 หรือกลุ่มประเทศยุโรป ซึ่งเศรษฐกิจหดตัวเกือบ 12% ในไตรมาส 2 ก็ขยายตัวเพิ่มขึ้น 12.7% ในไตรมาส 3) หลังจากที่มีการผ่อนคลายการควบคุมและกลับมาดำเนินธุรกิจตามปกติ โดยเฉพาะการอัดฉีดเงินเพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ว่างงาน ทำให้กำลังซื้อไม่หดตัว เช่น สหรัฐชดเชยเงินกรณีว่างงานสูงถึงสัปดาห์ละ 1,200 เหรียญ ซึ่งมากกว่าค่าจ้างที่ได้รับ

2.การส่งออกที่เร่งตัว ได้แก่ ประเทศจีน เวียดนาม เกาหลี ไต้หวัน ซึ่งเป็นประเทศที่การระบาดของไวรัสโควิด-19 ไม่รุนแรงนัก เนื่องจากภาครัฐเข้ามาควบคุม จัดการอย่างรวดเร็ว และประชาชนก็ให้ความร่วมมือในการป้องกันตัวเอง กลุ่มนี้ได้รับผลกระทบจากการปิดเมืองไม่มากนัก และมีการฟื้นตัวในระดับปานกลาง

โดยการฟื้นตัวนอกจากเป็นผลจากธุรกิจกลับมาดำเนินการได้หลังจากปิดไปชั่วคราว และการอัดฉีดของภาครัฐ ยังได้ประโยชน์จากการส่งออกที่ฟื้นตัว เนื่องจากความต้องการสินค้าในกลุ่มเครื่องมือแพทย์ และอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่เพิ่มขึ้น จากการที่คนเริ่มหันมาทำงานที่บ้านมากขึ้น

3.การพึ่งพาเศรษฐกิจภายใน เช่น จีน ซึ่งมีเศรษฐกิจภายในที่ใหญ่ หรือกลุ่มยุโรป ซึ่งมีการเปิดประเทศภายในกลุ่ม ทำให้ได้ประโยชน์จากการกระตุ้นเศรษฐกิจ จนกลับมาฟื้นตัวได้เร็ว

กองทุนการเงินระหว่างประเทศ หรือไอเอ็มเอฟมองว่า ภาครัฐมีบทบาทสำคัญในการช่วยรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยนโยบายหลักของรัฐที่จะต้องทำเร่งด่วน คือ การควบคุมการแพร่ระบาด เพิ่มศักยภาพของระบบสาธารณสุขในการรักษา
ผู้ติดเชื้อ รวมทั้งเร่งพัฒนาวัคซีนเพื่อป้องกันการติดเชื้อ ซึ่งรัฐบาลส่วนใหญ่ได้จัดสรรงบประมาณเพื่อการนี้ โดยเฉพาะรัฐบาลในประเทศพัฒนาแล้ว

นอกจากนี้ ต้องมีมาตรการช่วยเหลือและบรรเทาผลกระทบจากการที่เศรษฐกิจต้องหยุดชะงักจากการล็อกดาวน์ในวงกว้าง โดยการอัดฉีดเงินเพื่อชดเชยรายได้ที่หายไปให้กับแรงงานและผู้มีรายได้น้อย การช่วยเหลือธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ (ผ่านมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ การปรับลดภาระดอกเบี้ย และขยายระยะเวลาการชำระหนี้ เพื่อลดภาระต้นทุนของธุรกิจ)

หลังจากสามารถควบคุมการแพร่ระบาดให้ชะลอลงแล้ว ต้องเริ่มเปิดเศรษฐกิจอย่างระมัดระวัง โดยธุรกิจที่มีความเสี่ยงมากอาจจะยังต้องถูกควบคุม (การเปิดรับนักท่องเที่ยว) ทำให้เศรษฐกิจยังไม่สามารถกลับมาดำเนินการได้เต็ม 100%

ดังนั้น ภาครัฐยังต้องช่วยให้ธุรกิจกลับมาดำเนินการได้โดยต้องให้ความช่วยเหลือกับธุรกิจที่ได้รับผลกระทบ โดยเฉพาะการปรับโครงสร้างหนี้ เพิ่มสภาพคล่องให้ธุรกิจ การช่วยรักษาการจ้างงาน เพิ่มทักษะให้แรงงาน และสุดท้ายคือ การฟื้นเศรษฐกิจโดยกระตุ้นการใช้จ่าย

สำหรับประเทศไทยนั้น รัฐบาลได้มีนโยบายช่วยเหลือเช่นเดียวกับประเทศต่าง ๆ โดยได้ออกมาตรการ 3 ชุด ในส่วนที่เป็นการช่วยเหลือทางการเงินนั้น มีวงเงินรวมกว่า 2.2 ล้านล้านบาท โดยเป็นเงินให้สินเชื่อ 1.15 ล้านล้านบาท ผ่านสถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐบาลประมาณ 250,000 ล้านบาท และธนาคารแห่งประเทศไทยอีก 900,000 ล้านบาท (สินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ 500,000 ล้านบาท และกองทุนเพื่อรักษาเสถียรภาพของตลาดพันธบัตรอีก 400,000 ล้านบาท)

ส่วนที่เหลืออีก 1 ล้านล้านบาท เป็นเงินอัดฉีดของภาครัฐที่ช่วยบรรเทาผลกระทบโควิด-19 โดยแบ่งเป็น การบรรเทาผลกระทบผ่านการชดเชยรายได้ และการฟื้นฟูและปรับโครงสร้างเศรษฐกิจหลังโควิด เงินชดเชยรายได้ให้กับแรงงาน

นอกระบบและผู้มีรายได้น้อยและกลุ่มอื่น ๆ (30 ล้านคน) เบิกจ่ายแล้วกว่า 400,000 ล้านบาท ในช่วงเดือนพฤษภาคมถึงกรกฎาคม 2563

เงินให้สินเชื่อแก่ธุรกิจ สินเชื่อผ่านสถาบันการเงินเฉพาะกิจของภาครัฐ น่าจะมีการใช้วงเงินไปแล้วกว่าครึ่งหนึ่ง แต่ในส่วนสินเชื่อของธนาคารแห่งประเทศไทยใช้วงเงินไปเพียง 120,000 ล้านบาท ดังนั้น ในส่วนของสินเชื่อน่าจะมีการเบิกจ่ายไปเพียง 300,000 ล้านบาท หรือน้อยกว่า 30% ของวงเงินที่ตั้งไว้

งบประมาณฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังโควิด ครม.อนุมัติวงเงินไปแล้วประมาณ 45,000 ล้านบาท (เบิกจ่ายจริงน่าจะน้อยกว่านั้น) หรือประมาณ 10% ของวงเงินที่ตั้งไว้

ซึ่งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยนั้นจะฟื้นตัวได้ช้า เพราะขาดตัวช่วย 2 ตัว คือ การส่งออก ที่ปัจจุบันยังหดตัว (กันยายน ส่งออกติดลบ 4.2%) การใช้จ่ายภายในประเทศไม่แข็งแรง หนี้ครัวเรือนสูง กำลังซื้อลดเพราะบางธุรกิจ (ท่องเที่ยว) ยังไม่กลับมาเป็นปกติ และที่สำคัญ คือ การสูญเสียรายได้จากการท่องเที่ยว ซึ่งหายไปเกือบ 1 ล้านล้านบาท

ดังนั้น สำหรับประเทศไทยการใช้จ่ายภาครัฐจะเป็นปัจจัยสำคัญที่จะช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ ซึ่งนอกจากงบประมาณปกติของภาครัฐแล้ว ปัจจุบันโครงการกระตุ้นเศรษฐกิจของรัฐบาลที่ออกมา และที่จำได้ คือ จ่ายคนละครึ่ง ช้อปดีมีคืน เที่ยวด้วยกัน (ซึ่งเป็นแค่การกระตุ้นในคนที่มีกำลังซื้อส่วนหนึ่งออกมาใช้จ่าย)

แต่ที่สำคัญ คือ การผลักดันโครงการการลงทุนของรัฐภายใต้ พ.ร.ก.โควิด-19 วงเงิน 400,000 ล้านบาท เพื่อสร้างงานและปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ ซึ่งหวังว่าจะได้เห็นเม็ดเงินอัดฉีดในปีหน้า และทำให้เศรษฐกิจไทยฟื้นตัวได้อย่างต่อเนื่อง