ถอดบทเรียนฝ่าวงล้อมโควิด

บทบรรณาธิการ

วิกฤตโควิด-19 ระลอกใหม่ทำให้ได้เห็นสังคมไทยในหลากหลายมิติขึ้น ทั้งการร่วมแรงร่วมใจ การเสียสละเอื้ออาทร และปรากฏการณ์ในทางตรงกันข้าม การไม่ยอมปฏิบัติตามหลักสุขอนามัย เพื่อลดความเสี่ยงจากการแพร่ระบาดของโควิด ฯลฯ ฉายให้เห็นภาพความเป็นจริงทั้งด้านบวกและลบ

ขณะเดียวกันก็สะท้อนถึงการทำงานของรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องที่ยังเป็นไปแบบสะเปะสะปะ ส่งผลให้การบริหารจัดการวิกฤตดำเนินไปอย่างติดขัดไม่ราบรื่น แม้มีการปรับจูนเรื่องการให้ข้อมูลป้องกันไม่ให้เกิดความตื่นตระหนกหรือสับสน แต่การทำงานโดยขาดการบูรณาการระหว่างหน่วยงานยังเป็นปัญหาใหญ่ที่แก้ไม่ตก

เรื่องดี ๆ ที่น่าจะเป็นที่ชื่นชม อย่างกรณีภาคเอกชนหลายจังหวัดยื่นมือช่วยเหลือภาครัฐ เสนอให้ใช้พื้นที่โรงงาน โกดังเก็บสินค้า ตั้งโรงพยาบาลสนามสำหรับผู้ติดเชื้อโควิดบางส่วนที่อาการไม่รุนแรง แก้ปัญหาโรงพยาบาลรัฐที่มีอยู่จำกัด ไม่สามารถรองรับผู้ป่วยที่อาจมีเพิ่มขึ้นจำนวนมากได้ โดยเฉพาะในพื้นที่เสี่ยงสูงที่มีมาตรการตรวจโรคโควิดในเชิงรุก

ขณะที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) กว่า 20 แห่งเสนอตัวแบ่งเบาภาระงบประมาณรัฐ พร้อมจะจัดสรรเงินงบประมาณที่มีอยู่ในมือจัดซื้อวัคซีนป้องกันโควิดฉีดให้กับประชาชนในพื้นที่ โดยได้นำแนวคิดดังกล่าวเข้าหารือกระทรวงสาธารณสุข ล่าสุดแม้รัฐบาลไม่ถึงกับปัดข้อเสนอ แต่มีแนวโน้มเจอทางตันจากปัจจัยทางการเมืองเข้าแทรก

หลายปรากฏการณ์ซึ่งถือเป็นมิติใหม่ จากที่หลายภาคส่วนร่วมมือร่วมใจ พร้อมช่วยเหลือรัฐบาลกู้วิกฤตใหญ่ของประเทศ อย่างน้อยน่าจะส่งผลดีทำให้สถานการณ์โรคโควิดคลี่คลายได้เร็วขึ้น เพราะแทนที่จะรอพึ่งรัฐแต่เพียงฝ่ายเดียว ภาคเอกชน ประชาชนที่มีความพร้อม มีกำลัง พากันแสดงสปิริตโดยไม่นิ่งดูดาย

ท่ามกลางการระบาดของโควิด-19 รอบใหม่ นอกจากจะซ้ำเติมธุรกิจและอุตสาหกรรมหลายสาขาหนักหน่วงรุนแรงยิ่งกว่าเดิมแล้ว วิกฤตเศรษฐกิจที่ยังลามไม่จบ ภาคท่องเที่ยว การส่งออกยังเต็มไปด้วยปัจจัยลบ

หนทางเดียวที่จะลดการสูญเสียและความเสียหายคือ รัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องเร่งปิดเกม หยุดโควิด หยุดการติดเชื้อรายวันให้ลดลงโดยเร็ว

แนวทางหนึ่งที่ต้องทำคือถอดบทเรียนการรับมือโควิด-19 รอบแรก มาปรับใช้ในการบริหารจัดการโควิดรอบใหม่ สร้างสมดุลการรักษาสุขภาพอนามัย กับการแก้ปัญหาเรื่องปากท้อง

เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับธุรกิจ ภาคเศรษฐกิจ วิถีชีวิตประชาชน หากทำได้การฝ่าวงล้อมโรคอุบัติใหม่ นำพาประเทศรอดพ้นวิกฤตคงอยู่ไม่ไกล