เชื่ออย่างไรอยู่ที่คิด ?

คอลัมน์ ชั้น 5 ประชาชาติ

สาโรจน์ มณีรัตน์

จริง ๆ แล้วความเชื่อว่าโลกกลมมีมาแต่สมัย “คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส” ที่กราบทูลถวายรายงานต่อกษัตริย์และพระราชินีแห่งสเปนที่ให้การสนับสนุนทุนทางด้านการเงิน จนทำให้ใครต่อใครในยุคนั้น และยุคต่อมาเชื่อต่อเนื่องกันมา

กระทั่งปัจจุบันนักวิทยาศาสตร์ต่างพากันพิสูจน์จนรับรู้ไปทั่วแล้วว่าโลกไม่ได้กลมอย่างที่ “คริสโตเฟอร์ โคลัมบัส” คิดหรือสันนิษฐานแต่อย่างใด

หากโลกนั้นกลับแบนราบต่างหาก

ความเชื่อว่าโลกแบนราบ ไม่ได้มีเพียงนักวิทยาศาสตร์เท่านั้นที่คิด หาก “โทมัส แอล. ฟรีดแมน” นักหนังสือพิมพ์และนักเขียนที่เคยคว้ารางวัลพูลิตเซอร์ถึง 3 ครั้ง แห่งประเทศสหรัฐอเมริกา เจ้าของผลงานอย่าง From Beirut to Jerusalem, The World is Flat และอื่น ๆ อีกมากมายก็คิดอย่างนั้นเช่นกัน

ทั้งนั้นเพราะเขามองว่าการที่โลกแบนราบไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับระบบสุริยจักรวาล ไม่ได้เกี่ยวข้องอะไรกับดาวนพเคราะห์ รวมถึงสภาพภูมิศาสตร์ต่าง ๆ ด้วย

หากเกิดขึ้นจากระบบสารสนเทศและเทคโนโลยีที่กำลังย่อโลกเข้าหากัน

คำตอบของ “ฟรีดแมน” อาจกำปั้นทุบดินอยู่บ้าง เพราะใคร ๆ ต่างรับรู้เรื่องนี้มาอย่างยาวนาน แต่ที่น่าสนใจเพราะ “ฟรีดแมน” ทำให้หลายคนฉุกคิด เพราะอย่าลืมว่าทุกอย่างในโลกล้วนเกิดขึ้นจากกระบวนการคิด, การมอง, การสัมผัส และตั้งข้อสมมุติฐานทั้งสิ้น

ซึ่งบางครั้งอาจใช่ บางครั้งอาจไม่ใช่

แต่ท้ายที่สุด ไม่ว่าความจริงจะปรากฏเป็นเช่นใด ถูกหรือผิด ทุกอย่างล้วนผ่านเบ้าหลอมของกระบวนการทางความคิดทั้งสิ้น ซึ่งเหมือนกับความเชื่อว่าโลกแบน

การที่โลกแบนราบอาจเป็นสมมุติฐานที่หลายคนอาจแย้งในทางระบบสุริยจักรวาล อาจแย้งในทางกายภาพ หรืออาจแย้งในทางเทคโนโลยีสารสนเทศ

แต่ในความเป็นจริง ถ้ามองอย่างเข้าใจ จะเห็นว่าไม่ว่าสรรพสิ่งใด ๆ ในโลก ล้วนถูกพลังบางอย่างดูดเข้าหากันเกือบตลอดมา ไม่ว่าจะเป็นการเมืองระหว่างประเทศ, สนธิสัญญาทางการค้า หรือแม้แต่เรื่องสภาวะโลกร้อนก็ตาม

ทั้งนั้นเพราะพลวัตของประชากรโลกกำลังข้ามมหานทีเข้าหากัน และไม่เฉพาะแต่คนขั้วโลกเหนือที่เคยอยู่เฉพาะขั้วโลกเหนือ หากคนขั้วโลกใต้ก็มีโอกาสที่จะเดินทางข้ามไปขั้วโลกเหนือได้

เฉกเช่นเดียวกับชนเผ่าอะบอริจินส์ที่เคยอยู่อย่างสงบในประเทศออสเตรเลีย แต่เมื่อความเจริญผ่านเข้ามา ความเจริญดังกล่าวกลับทำให้ชนเผ่าอะบอริจินส์กลายเป็นชนกลุ่มน้อยไป

ชาวผิวเหลืองกลายเป็นเจ้าของประเทศแทน

จนไม่นานผ่านมา ชนเผ่าอะบอริจินส์เริ่มมีบทบาทบ้าง แต่กระนั้น ในความเป็นจริงต้องยอมรับว่าการที่ชนเผ่าอะบอริจินส์เป็นที่ยอมรับของสังคมออสซี่ หรือได้รับการยอมรับว่าเป็นเจ้าของประเทศ

ก็ต้องผ่านเบ้าหลอมของกระบวนการทางความคิดมาก่อนทั้งสิ้น

ความคิดดังกล่าว ถ้าเป็นแง่งามก็งามไป แต่ถ้าเป็นในแง่ที่ไม่งามขึ้นมาล่ะ อะไรจะเกิดขึ้น เพราะอย่างที่บอกโลกทุกวันนี้ล้วนมีคนช่างคิด ช่างตั้งข้อสังเกตมากมาย

มากจนไม่รู้ว่าใครเป็นคนคิด

หรือใครเป็นต้นคิด ?

จนต้องมีกฎหมายสิทธิบัตรเพื่อรองรับทรัพย์สินทางปัญญา

ถามว่าต่อไปในอนาคต ไม่ว่าโลกจะแบนราบหรือกลมเหมือนลูกชิ้น จะมีประโยชน์อันใดเล่า ถ้ามนุษย์ไม่รู้จักการเคารพทางความคิด ไม่รู้จักว่าคิดอย่างนี้แล้ว ใครจะเสียหาย คิดอย่างนี้แล้ว จะทำลายอีกฝ่ายหนึ่งจนยับย่อยหรือไม่ ก็เหมือนกับกระบวนการทางความคิดทางด้านการจัดการทรัพยากรบุคคล และองค์กร มองเผิน ๆ เหมือนกับว่าสิ่งที่ฝรั่งคิดจากฝั่งมหานทีหนึ่ง

แต่มาใช้กับอีกมหานทีหนึ่ง

ซึ่งเป็นโลกของฝั่งตะวันออก

ฝรั่งเจ้าของกระบวนการทางความคิดกลับบอกว่าคนในซีกโลกตะวันออก ช่างไม่เข้าใจการจัดการทางด้านการบริหารบุคคลและทรัพยากรเอาเสียเลย เพราะยึดติดแต่ขนบเก่า ๆ

ยึดติดแต่วัฒนธรรมประเพณีแบบเดิม ๆ

และยึดแต่คุณธรรมน้ำมิตรมากเกินไป

จนทำให้ตัวเลขผลประกอบการไม่โต ถามจริง ๆ เถอะว่า ฝรั่งที่เป็นเจ้าของความคิดจากซีกโลกตะวันตกนั้น เขาเคยมาถาม มาวิจัย หรือมาคลุกคลีตีโมงกับคนตะวันออกอย่างเป็นจริงเป็นจังบ้างหรือไม่

เขาเข้าใจเรื่องคุณธรรมน้ำมิตรมากแค่ไหน ?

เพราะถ้าเขาเข้าใจจริง ย่อมรู้ว่าสิ่งที่เขาเชื่อว่าคิดดี คิดถูกต้อง คิดยอดเยี่ยม แท้ที่จริงเป็นเพียงแค่เปลือกเท่านั้น เขาไม่รู้จักแก่นแท้หรอก เพราะแก่นแท้มันอยู่ลึกเข้าไปในเปลือก ดังนั้น การที่ฝรั่งจากซีกโลกตะวันตกมีความเชื่อตลอดมาว่าวิสัยทัศน์ของเขาดี

ขายได้ และเชื่อว่าน่าจะขายต่อไปได้ในอนาคตด้วย

ก็คงขายได้เฉพาะลูกครึ่งไทยผสมเจ๊ก ผสมแขก ผสมลาว มอญ ฝรั่ง ที่มีโอกาสไปเรียนเมืองนอก แล้วกลับมาปรักปรำว่าสิ่งที่เตี่ย ป๋า หรือพ่อ แม่ ที่เคยเชื่อแต่ปรัชญาโบราณ ล้วนเป็นเรื่องเชยทั้งสิ้น

หรือน่าขำนักหนา

โดยลืมมองไปว่า ในหน่อเนื้อเชื้อไขที่มีสัญชาติของตัวเองซ่อนอยู่ แท้จริงแล้วมันมีความเป็นโลกกลม ๆ ซ่อนอยู่ ขณะเดียวกัน ก็มีความแบนราบซ่อนอยู่ข้างใน

เหมือนธาตุไฟ กับธาตุน้ำ

เหมือนหยิน และหยาง

แล้วอย่างนี้จะเชื่อหรือยังว่าไม่ว่าโลกจะกลมหรือแบนราบ ท้ายที่สุดไม่ได้เกี่ยวกับอะไรเลย หากอยู่ที่กระบวนการทางความคิดทั้งสิ้น ขอแต่เพียงคิดให้ดีเท่านั้นเป็นพอ