วัคซีนโควิด…ทางเลือกทางรอด

(FILES) Photo by AFP
บทบรรณาธิการ

การแพร่ระบาดของโควิด-19 ระลอก 3 ตอกย้ำถึงความไม่แน่นอนจากวิกฤตสุขอนามัย ทำให้เศรษฐกิจในภาพรวมที่เปราะบางอยู่แล้วยิ่งย่ำแย่ลง ภาคธุรกิจ ประชาชนทั่วไปได้รับผลกระทบต่อเนื่อง

ถึงตอนนี้ยังไม่สามารถคาดเดาได้ว่าต้องใช้เวลาอีกนานเท่าใด กว่าโควิดรอบนี้จะคลี่คลาย การพลิกสถานการณ์ให้ฟื้นคืนกลับมาเป็นปกติจึงไม่ใช่เรื่องง่าย ท้าทายทั้งรัฐบาลทั้งภาคเอกชน

ที่น่าห่วงคืออาจสั่นสะเทือนไทม์ไลน์การเปิดประเทศรับชาวต่างชาติโดยไม่ต้องกักตัว ตามโมเดล “ภูเก็ต แซนด์บอกซ์” ซึ่งตามกำหนดจะเริ่มคิกออฟวันที่ 1 ก.ค. 2564 เนื่องจากโควิดระลอก 3 แพร่กระจายรวดเร็ว และมีผู้ติดเชื้อครอบคลุมทั้ง 77 จังหวัด ถ้าหากไม่สามารถยับยั้งการระบาด ความเชื่อมั่นต่างชาติจะลดน้อยลง

ปัจจัยชี้ขาดขึ้นอยู่กับมาตรการป้องกันควบคุมโรค ซึ่งรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องทำให้ยอดผู้ติดเชื้อที่พุ่งขึ้นทำสถิตินิวไฮรายวันลดลงมากที่สุด ควบคู่กับการ กระจายฉีดวัคซีนให้กับประชาชน

เพราะบนทางเลือกที่มีไม่มาก วัคซีนน่าจะตอบโจทย์ทั้งการแก้ปัญหาเศรษฐกิจ และวิกฤตโควิด แม้ไม่อาจคาดหวังผลได้เต็มร้อยแต่จะช่วยสร้างภูมิคุ้มกันลดความเสี่ยงจากการติดเชื้อ เพราะภายใต้สถานการณ์ปัจจุบันปฏิเสธไม่ได้ว่าวัคซีนโควิดเป็นทางเลือกทางรอดของทุกประเทศทั่วโลก

กรณีตัวอย่างสหราชอาณาจักรที่ยอดผู้ติดเชื้อลดลงชัดเจนหลังระดมฉีดวัคซีนได้เพิ่มขึ้น ขณะที่ผู้ติดเชื้อรายใหม่จากช่วงต้นเดือน ม.ค. 2564 ซึ่งเคยอยู่ในระดับกว่า 5 หมื่นคน/วัน ลดลงเหลือหลักพันคน/วัน วัคซีนจึงกลายเป็นความหวัง ล่าสุด รัฐบาลอังกฤษได้ประกาศผ่อนคลายล็อกดาวน์ ให้ประชาชน ภาคธุรกิจ กลับมาใช้ชีวิตและดำเนินธุรกิจตามปกติได้มากขึ้น ส่งผลดีต่อเศรษฐกิจทั้งระบบ

อาจไม่ถึงกับเป็นการยิงปืนนัดเดียวได้นกสองตัว แต่ปรากฏการณ์ดังกล่าวชี้ชัดว่า วัคซีนโควิดช่วยให้เศรษฐกิจเมืองผู้ดีกลับมาขับเคลื่อนได้ต่อ เพราะเมื่อการกระจายฉีดวัคซีนครอบคลุมถึงระดับมีภูมิคุ้มกันหมู่ รัฐบาลอังกฤษจะเดินหน้าแก้เศรษฐกิจได้เต็มที่ ไม่ต้องพะว้าพะวงกับศึกอีกด้านจนทำให้เกือบเพลี่ยงพล้ำเหมือนที่ผ่านมา

ประเทศไทยซึ่งเวลานี้อยู่ในวงล้อมวิกฤตเศรษฐกิจกับโควิดระลอก 3 จึงต้องขบคิดทบทวนให้ดี ที่สำคัญรัฐบาลต้องเร่งตัดสินใจว่าจะทำตามข้อเสนอภาคเอกชนที่เรียกร้องให้ปลดล็อกการบริหารจัดการวัคซีน สร้างภูมิคุ้มกันโควิดให้คนไทยทุกคนโดยเร็ว หรือแม้สถานการณ์เปลี่ยนแต่นโยบายไม่เปลี่ยน เอกชนจะได้ประเมินความเสี่ยง รู้ตัวล่วงหน้าว่าจะมีโอกาสรอดหรือไม่รอด