“โคเวิร์กกิ้งสเปซ” Must have ถ้าไม่อยากตกขบวน

คอลัมน์ชั้น 5 ประชาชาติ

โดย ก้อย ประชาชาติ

เฉพาะในกรุงเทพฯมีมากกว่า 100 แห่งของ “โคเวิร์กกิ้งสเปซ” ที่กระจายตัวไปตามจุดต่าง ๆ ด้วยขนาดพื้นที่มากบ้างน้อยบ้าง ในหลากหลายคอนเซ็ปต์และดีไซน์ เพื่อตอบสนองดีมานด์ที่โตอย่างต่อเนื่อง

ช่วง 2-3 ปีก่อน “โคเวิร์กกิ้งสเปซ” อาจยังเป็นเรื่องใหม่ และหลายคนยังไม่เข้าใจว่าทำไมต้องเสียค่าใช้จ่ายเพื่อมาใช้บริการ และมองว่าเราก็สามารถเลือกไปนั่งตามร้านอาหารและร้านคาเฟ่-เครื่องดื่มได้

ที่สำคัญคอนเซ็ปต์ของโคเวิร์กกิ้งสเปซ แต่ยังกลายเป็นพื้นที่ที่รองรับไลฟ์สไตล์การพบปะสังสรรค์และพูดคุยของกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่ได้รับความนิยมเพิ่มสูงขึ้น

เห็นได้จากกลุ่ม “ค้าปลีก” ที่ผันบทบาทตัวเองเข้ามาเปิดพื้นที่และจัดโซนสำหรับ “โคเวิร์กกิ้งสเปซ” มากขึ้นเรื่อย ๆ แบบไม่มีใครยอมใคร และไม่มีใครที่จะยอมตกขบวนไลฟ์สไตล์นี้

สตาร์บัคส์ แมคโดนัลด์ เรื่อยมาถึงร้านกาแฟอเมซอน ศูนย์การค้าเซ็นทรัล เอ็มบาสซี จนมาถึงร้านสะดวกซื้อแฟมิลี่มาร์ท หรือร้านบีทูเอส ที่ปรับบทบาทจากเพียงร้านขายหนังสือและสเตชันนารี่มาสู่พื้นที่ของการเติม “โคเวิร์กกิ้งสเปซ” เข้ามาเติมเต็ม

“สมชัย ถาวรรุ่งโรจน์” กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท บีทูเอส จำกัด ฉายภาพว่า หลังเปิด Think Space B2S ที่ศูนย์การค้าเซ็นทรัลเฟสติวัล อีสต์วิลล์ กระแสตอบรับจากลูกค้าดีมาก บวกกับพฤติกรรมของผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงไป ทำให้เราต้องปรับตัว เราต้องการเป็นมากกว่าร้านหนังสือ

ต้องการให้ที่นี่เป็น after school community มีกลุ่มเป้าหมายนักเรียน-นักศึกษา, ครอบครัว, คนทำงาน การออกแบบจึงเน้นเปิดโล่ง เพื่อเปิดประสบการณ์ใหม่ ให้เป็นพื้นที่ที่ผู้คนสามารถใช้เวลาได้ตลอดทั้งวัน อ่านหนังสือเล่มโปรด พบปะผู้คนใหม่ ๆ จากกิจกรรมต่าง ๆ ตอบโจทย์ชีวิตยุคใหม่

ซึ่งเทรนด์นี้กำลังเข้าสู่เมืองต่าง ๆ ทั่วประเทศ

ภาพการเติบโตที่กระจายเข้าสู่พื้นที่ต่าง ๆ ของโคเวิร์กกิ้งสเปซในปัจจุบัน สอดคล้องกับภาพคนที่สนใจเข้ามาทำธุรกิจนี้ ทั้งกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่มีไอเดียเก๋ไก๋หรือคนที่มีที่ดินอยู่แล้ว และอยากนำพื้นที่มาพัฒนาให้เกิดมูลค่าเพิ่ม

อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่า ถ้าทำธุรกิจ “โคเวิร์กกิ้งสเปซ” เพียงอย่างเดียวอาจทำกำไรค่อนข้างช้า และต้องใช้เวลาคืนทุนนาน แต่กลุ่มสายป่านยาว ๆ ธุรกิจขนาดใหญ่ หรือกลุ่มค้าปลีก ที่เปิดพื้นที่ “โคเวิร์กกิ้งสเปซ” นอกจากรองรับพฤติกรรมและไลฟ์สไตล์ของกลุ่มลูกค้า ยังเป็นแม็กเนตสำหรับดึงลูกค้าให้เข้าศูนย์การค้าและร้านค้าได้ไม่น้อย

ไม่ซื้อไม่ว่า…แต่อยากให้มาใช้เวลาด้วยกันนาน ๆ สร้างประสบการณ์ร่วมกัน

ไม่ว่าศูนย์การค้าไหน…ก็ไม่อยากจะตกเทรนด์