กล้าก่อนจึงสำเร็จ

คอลัมน์ชั้น 5 ประชาชาติ
สาโรจน์ มณีรัตน์

ในหนังสือ “คิดต้องทำ คันต้องเกา”ที่มี “ช่าห์ วัสมุนด์” และ “ริชาร์ด นิวตัน” เป็นผู้เขียน ส่วนผู้แปลคือ “ปฏิพล ตั้งจักรวรานนท์” มีคำคมที่น่าสนใจหลายความหมายด้วยกัน

โดยฉพาะในส่วนที่ 3 เรื่องความกลัว และความเสียดาย ซึ่งผู้เขียนได้ยกคำพูดของ “โมฮัมหมัด อาลี” อดีตนักมวยโลกรุ่นเฮฟวี่เวต ของสหรัฐอเมริกา ที่บอกว่า…คนที่ไม่มีความกล้ามากพอที่จะเสี่ยง ย่อมไม่มีวันทำสิ่งใดได้สำเร็จ

พร้อมกับมีคำอธิบายความประกอบว่า…ความกลัวคงอยู่กับมนุษย์เรามานานแสนนาน ในอดีตบรรพบุรุษของเราพร้อมจะกระโจนหนีอย่างไม่คิดชีวิต ทันทีที่ได้ยินเสียงกิ่งไม้หักเบา ๆ

ดังนั้น จงโอบกอดความกลัว และเขี่ยความเสียดายไปให้พวกขี้แพ้คนอื่น ๆ ซึ่งฟังอย่างไม่คิดอะไร อาจมองไปได้ว่าเพราะ “อาลี” เป็นฝรั่ง

มีความคิดแบบตะวันตก

ทั้งยังเป็นนักมวยอาชีพ

อาจทำให้เขามองโลกแบบนักกีฬา

ไม่ใช่นักธุรกิจ

แต่กระนั้น ถ้าเราตั้งคำถามขึ้นว่า สิ่งที่ “อาลี” กล่าวเช่นนี้ เป็นไปได้หรือไม่ในโลกแห่งความเป็นจริง ?

คำตอบคือเป็นไปได้

ทั้งนั้นเพราะ “โมฮัมหมัด อาลี” เอาชีวิตทั้งชีวิตเพื่อแลกกับความสำเร็จที่เขาได้รับ จนกระทั่งกลายเป็นนักมวยที่มีชื่อเสียงระดับโลก ทั้งยังถูกยกย่องให้เป็นวีรบุรษกำปั้นอาชีพ ทั้งของสหรัฐอเมริกา และวงการมวยสากลโลก

ถามต่อว่าทำไมเขาถึงก้าวมาถึงจุดนี้ได้ ?

คำตอบง่ายมาก…เพราะเขาซ้อม และก็ซ้อม ซ้อม ซ้อม

จนค้นพบว่าหากเราเอาชนะความหวาดกลัว และมีความกล้ามากพอ คุณจะกล้ายอมเสี่ยงที่จะเอาชนะคู่ต่อสู้โดยไม่ยาก ฉะนั้นถ้าสังเกตดี ๆ จะเห็นว่า ตั้งแต่ “อาลี” เป็นตัวแทนประเทศสหรัฐอเมริกา ในการเข้าแข่งขันโอลิมปิก ประเภทกีฬามวยสากลสมัครเล่น

เขาจะไม่ต่อยกับคู่ต่อสู้แบบลองเชิงเลย

ตรงข้ามเขากลับบู๊ทุกยก

จนกระทั่งคู่ต่อสู้อ่อนล้า และเหนื่อยแรงไปเอง

กล่าวกันว่า เหตุที่เขาทำเช่นนี้ได้ เพราะเขามีความเชื่อมั่นในพละกำลังร่างกายของเขา เขารู้ดีว่าเขาจะยืนครบยก และเขารู้ดีว่าเหรียญทองโอลิมปิก คงเป็นแค่บันไดชีวิตที่ผ่านเข้ามาเท่านั้นเอง

เพราะเป้าหมายต่อไปคือการชกอาชีพ

ในบทบาทของการเป็นนักมวยอาชีพทำให้เขาประสบความสำเร็จมีชื่อเสียงทั้งในสหรัฐอเมริกา และระดับโลก จนทุกวันนี้ก็ยากที่จะหาใครเสมอเหมือน

แม้เขาจะวายชนม์ไปแล้วก็ตาม

แต่ทุกคนคงยังจดจำบทบาทของสิงห์จอมโว, เคสเซียส เคลย์ หรือเดอะ แบล็ก ซูเปอร์แมน ของเขาได้จนถึงทุกวันนี้ เพราะนอกจากบทบาทของการเป็นนักมวยอาชีพ “อาลี” ยังถือเป็นอีกผู้หนึ่งที่สร้างตำนานประวัติศาสตร์อีกหลายอย่างในชีวิต

เริ่มตั้งแต่ตอนหัดชกมวยครั้งแรก

ซึ่งใครจะเชื่อล่ะว่า มูลเหตุแรกของการต่อยมวย มาจากครูฝึกคนหนึ่งที่เป็นตำรวจเชื้อสายไอริช ชื่อ “โจ มาร์ติน” ที่ต้องการสอนศิลปะป้องกันตัวให้เขาเมื่อตอนอายุ 12 ปี

เพื่อเอาไว้ปกป้องจักรยานของตัวเองที่มีราคาเพียง 60 ดอลลาร์เท่านั้น เพราะเด็ก ๆ แถบละแวกบ้านชอบมาแย่งจักรยานของเขาไปขี่

ต่อจากนั้น เขาจึงเริ่มหัดชกมวยอย่างจริงจัง จนเป็นแชมป์มวยสากลสมัครเล่นรุ่นไลต์เฮฟวี่เวตของเมืองหลุยส์วิลล์ และเป็นแชมป์ระดับภูมิภาคของเมืองชิคาโก

แชมป์มวยสากลสมัครเล่นแห่งชาติ

และเหรียญทองโอลิมปิก รุ่นไลต์เฮฟวี่เวต ที่กรุงโรม ประเทศอิตาลี

กล่าวกันว่าระหว่างที่เขาเดินทางกลับประเทศเยี่ยงวีรบุรุษ เขาเข้าไปในร้านอาหารแห่งหนึ่งเพื่อเฉลิมฉลองเหรียญทองโอลิมปิก แต่บริกรไม่ยอมให้เขาเข้าร้าน เพราะมีข้อกำหนดของร้านที่บริการเฉพาะคนขาวเท่านั้น

“อาลี” จึงเขวี้ยงเหรียญทองโอลิมปิกลงแม่น้ำโอไฮโอ เพื่อเป็นการประท้วง

นอกจากนั้น ยังมีคำกล่าวของนักพากย์มวยในสมัยนั้นว่า ทุกครั้งที่ “อาลี” ต่อย เขาจะโบยบินเหมือนผีเสื้อ แต่ต่อยเจ็บเหมือนผึ้ง

อีกเรื่องหนึ่งที่เป็นที่กล่าวขานกันมากคือ ตอนปี 1966 “อาลี” ได้รับหมายเกณฑ์ทหารให้เข้าร่วมรบในสงครามเวียดนาม เขาถูกจัดให้อยู่ประเภท A-1 (ดีเยี่ยม) โดยทางการสัญญาว่า ตำแหน่งของเขาจะอยู่ห่างจากสมรภูมิหลายร้อยไมล์

แทนที่ “อาลี” จะเชื่อ แต่เขากลับพูดออกไปว่า…ผมไม่เคยมีเรื่องอะไรกับพวกเวียดกง ผมไม่ขอเข้าร่วมรบในกองทัพ

ถัดมาอีก 10 วัน เขาถูกดำเนินคดีที่เมืองฮุสตัน ในข้อหาหลีกเลี่ยงการเป็นทหาร ผู้พิพากษาชื่อ “โจ อิงแกรม” ตัดสินให้เขารับโทษสูงสุดคือ จำคุก 5 ปี และปรับเป็นเงิน 10,000 ดอลลาร์สหรัฐ

เขาขอยื่นอุทธรณ์

ระหว่างยื่นอุทธรณ์ เขาถูกศาลสั่งห้ามชกมวย

แต่แล้วคำร้องอุทธรณ์ของเขาก็ประสบความสำเร็จในอีก 4 ปีต่อมา คือ ในวันที่ 28 มิถุนายน 1971 คำตัดสินของศาลสูงสุดยกฟ้องด้วยคะแนน 8 : 0

เขาจึงกลับมาชกมวยอีกครั้ง

และเขาไม่เคยทำให้ผู้ชมผิดหวัง ยิ่งเฉพาะกับคู่ปรับสำคัญอย่าง “โจ ฟราเซียร์” และ “จอร์จ โฟร์แมน” ซึ่งมีบันทึกประวัติศาสตร์บอกว่า “อาลี” และ “ฟราเซียร์” พบกันหลายครั้ง

ครั้งแรก “ฟราเซียร์” ชนะคะแนน “อาลี” ได้ในเวลา 15 ยก แต่กระนั้น “ฟราเซียร์” ต้องเข้ารักษาตัวที่โรงพยาบาลนานถึง 10 เดือน เพราะฤทธิ์หมัดของ “อาลี”

ต่อมาเขาทั้งคู่ชกกันอีกครั้งที่ฟิลิปปินส์ ในศึกที่มีชื่อว่า “Thriller in Manila” คราวนี้ “ฟราเซียร์” แพ้ทีเคโอในยกที่ 14

ส่วนการชกกับ “จอร์จ โฟร์แมน” ตอนนั้น “โฟร์แมน” เป็นแชมป์โลกอยู่ แต่ “อาลี” ไปขอท้าชิงในศึก The Rumble in the Jungle ที่กรุงกินชาซา ประเทศซาอีร์ (คองโก) การชกครั้งนี้ไม่เพียงเป็นการจัดชกมวยระดับโลกครั้งแรกในใจกลางทวีปแอฟริกา

ยังมีนัยทางการเมืองแฝงอยู่ด้วย เพราะขณะนั้น กระแสการเหยียดสีผิวรุนแรงมากทั่วทุกมุมโลก ประกอบกับโปรโมเตอร์ผู้จัดครั้งนั้นคือ “ดอน คิง” ด้วย จึงทำให้เป็นที่น่าจับตามอง

ผลการชก “โฟร์แมน” เป็นฝ่ายเดินเข้าหา และปล่อยหมัดใส่ “อาลี” ตั้งแต่ยกแรก ขณะที่ “อาลี” ก็เอาแต่ปัดป้อง และถอยหลังพิงเชือก จนกระทั่งถึงยกที่ 8 “โฟร์แมน” เริ่มอ่อนแรง “อาลี” จึงเร่งระดมปล่อยหมัดจนกระทั่งน็อกเขาได้ในยกที่ 8

จนกลับมาเป็นแชมป์โลกอีกครั้ง

แล้วจากนั้น เส้นทางมวยอาชีพของ “อาลี” ก็เดินไปด้วยขวากหนามอีกสารพัด แต่ทุกครั้งที่เขาขึ้นชก จะต้องมีผู้เข้าชมแน่นสนาม

พร้อม ๆ กับมีเสียงเพลง Black Superman กระหึ่มดังไปทั่ว

จนกลายเป็นบุคคลในตำนานจนทุกวันนี้

ทุกวันที่เขาก่อกำเนิดขึ้นมาจากคำพูดที่บอกว่า…คนที่ไม่มีความกล้ามากพอที่จะเสี่ยง ย่อมไม่มีวันทำสิ่งใดได้สำเร็จ