ต้นทุนชีวิต…เพิ่มขึ้น เข้าสู่ยุค “ข้าวยากหมากแพง”

Photo by AFP
คอลัมน์ : สามัญสำนึก
ผู้เขียน : สุดใจ ชาญชาตรีรัตน์

หลังจากที่คนไทยต้องติดหล่มอยู่กับ “สงครามโรคระบาด” เป็นเวลา 2 ปีเต็ม ๆ

หลายคนชีวิตเปลี่ยน จำนวนไม่น้อยตกงาน ต้องรับมือกับวิถีชีวิตใหม่บนสถานการณ์โรคระบาด ทั้งปรับตัวได้และปรับตัวไม่ได้ ไม่ต้องพูดถึงปัญหาสังคมที่ตามมามากมายที่ยังซุกซ่อนอยู่

ล่าสุดสภาพัฒน์รายงานข้อมูลไตรมาส 4/65 เด็กจบใหม่เผชิญปัญหาว่างงานสูง โดยเฉพาะที่จบในระดับอุดมศึกษา มีสัดส่วนถึง 49.3% ของผู้ว่างงานทั้งหมด

ขณะที่ปัญหาเดิม (โควิด) ยังคงอยู่ต่อไป ปัญหาใหม่ก็วิ่งเข้ามาไม่ขาดสาย จาก “สงครามโรค” สู่ “สงครามโลก” จากวิกฤตรัสเซีย-ยูเครนที่เข้ามากระหน่ำซ้ำเติม

ทำให้สถานการณ์ “เงินเฟ้อ” รุนแรงขึ้น โดยเฉพาะจากต้นทุนพลังงานทั้งราคาน้ำมันดิบ ราคาก๊าซธรรมชาติ ธัญพืช และวัตถุดิบต่าง ๆ ที่พุ่งทะยานจากภาวะเข้าใกล้สงคราม และมาตรการคว่ำบาตรรัสเซียด้วยวิธีการต่าง ๆ

Advertisment

สำหรับ “เงินเฟ้อ” ของไทยเดือน ก.พ. 2565 ขยายตัวถึง 5.28% เทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน สูงสุดในรอบ 13 ปี นับจากช่วงที่มีสงครามอ่าวเปอร์เซีย สาเหตุหลักก็มาจาก “กลุ่มพลังงาน” ที่กระทบต่อเงินเฟ้อถึง 62.26% และสินค้าหมวดอาหารและเครื่องดื่ม (ไม่มีแอลกอฮอล์) กระทบต่อเงินเฟ้อ 35.05%

ขณะที่ราคาน้ำมันดิบโลก (7 มีนาคม) เบรนต์พุ่งแตะ 128 เหรียญต่อบาร์เรล เป็นระดับสูงสุดในรอบ 13-14 ปี ท่ามกลางวิกฤตสงคราม “รัสเซีย-ยูเครน” ที่ยังไม่มีสัญญาณจะจบลง และกลายเป็นวิกฤตใหญ่ที่โลกต้องเผชิญ

แม้ว่าปัจจัยต้นทุนพลังงานที่เกิดขึ้นจะได้รับผลกระทบกันทุกประเทศ แต่เพราะการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยยังเปราะบาง ประชาชนจำนวนมากมีรายได้เท่าเดิมหรือลดลง ขณะที่ต้นทุนการดำรงชีวิตเพิ่มสูงขึ้น ดังนั้นความสามารถรับมือผลกระทบวิกฤตรัสเซีย-ยูเครนได้มากแค่ไหน

ขณะที่ราคาสินค้าก็ทยอยปรับเพิ่มขึ้นทุกวัน ไม่ว่าจะเป็นบะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ปลากระป๋อง น้ำมันพืช นมสดเครื่องดื่มบำรุงกำลัง ไม่นับรวมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ รวมไปถึงของกินของใช้อื่น ๆ อีกมากมาย รวมทั้งบรรจุภัณฑ์ต่าง ๆ ที่มีภาระต้นเพิ่มขึ้นจากวัตถุดิบต่างๆ จึงมีการผลักภาระต่อถึงผู้บริโภค

Advertisment

ผู้ประกอบการยอมรับว่า อั้นมาตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว เพราะต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจากทั้งปัญหาซัพพลายเชนดิสรัปต์จากการระบาดของโควิด-19 ที่ต้องมาระเบิดขึ้นราคากันตอนนี้

ขณะที่รัฐบาลพยายามทุกวิถีทาง ในการปรับสูตรเชื้อเพลิงการผลิตไฟฟ้า เพื่อที่จะพยุงไม่ให้ต้นทุนค่าไฟฟ้าเพิ่มขึ้น เพราะนั่นจะยิ่งทำให้ภาระค่าครองชีพของประชาชนคนรากหญ้าหนักอึ้งมากขึ้น

แม้ว่าจะมีมาตรการตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตร แต่นั่นก็หมายถึงการต้องนำเงินภาษีประชาชนทั้งประเทศมาอุ้มคนใช้ดีเซล ขณะที่ประชาชนอีกจำนวนมากก็ต้องแบกรับต้นทุนจากการใช้น้ำมันเบนซินที่ไม่ได้รับการดูแล

เรียกว่าสัญญาณอันตรายเศรษฐกิจกำลังถาโถม

โดยเมื่อวันที่ 7 มี.ค.ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า สิ่งสำคัญที่สุดวันนี้คือทุกคนต้องเตรียมตัวให้พร้อมรองรับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นในโลกข้างนอก โดยรัฐบาลกำลังพยายามคลี่คลายสถานการณ์ให้ได้มากที่สุด บรรเทาความเดือดร้อนให้ได้มากที่สุด ในเกณฑ์ที่รัฐบาลสามารถยอมรับได้ ภายใต้งบประมาณที่มีอยู่ และตัวบทกฎหมายอีกหลายตัว

นอกจากนี้นายกฯประยุทธ์ย้ำว่า สิ่งสำคัญที่สุดคือเรื่องของราคาพลังงานที่ขึ้นทุกวัน ต้องหามาตรการที่เหมาะสม และจะดูแลได้ถึงเมื่อไหร่ พร้อมกันนี้นายกฯได้ขอให้ประชาชนทุกคนช่วยกันประหยัดการใช้พลังงาน โดยเฉพาะการใช้รถยนต์เท่าที่จำเป็น เพราะงบประมาณก็มีจำกัด ไม่เช่นนั้นปัญหาอย่างอื่นจะตามมา

หลายคนที่ได้ยินอาจไม่พอใจกับคำพูดนายกฯเรียกร้องให้ “ทุกคนประหยัดพลังงาน” แต่คงไม่มีอะไรดีกว่าการร่วมแรงร่วมใจกันแก้ปัญหาแบบไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลังจริง ๆ

เพราะนี่คือความจริงที่โลกกำลังเผชิญภาวะ “ข้าวยากหมากแพง” ในยุคเข้าใกล้สงคราม