ฟื้นสัมพันธ์ไทย-ซาอุฯ หนุนส่งออก ‘สินค้าเกษตรและอาหาร’

คอลัมน์ : ระดมสอง
ผู้เขียน : กฤชนนท์ จินดาวงศ์
ศูนย์วิจัย Krungthai COMPASS

เป็นครั้งแรกในรอบ 32 ปีที่ไทยและซาอุฯกลับมาฟื้นความสัมพันธ์ จึงเป็นที่น่าจับตาอย่างมากในแง่มุมของการลงทุน การท่องเที่ยว และโดยเฉพาะด้านการค้าระหว่างประเทศ ซึ่งหนึ่งในสินค้าส่งออกสำคัญของไทย คือ “สินค้าเกษตรและอาหาร” ซึ่งไทยส่งออกไปทั่วโลกปีละประมาณ 1 ล้านล้านบาท หรือ 16% ของการส่งออกทั้งหมด

แต่สำหรับตลาดซาอุฯปัจจุบันไทยส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารไปได้เพียงปีละ 5 พันล้านบาท หรือ 0.4% ของการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารของไทย คำถาม คือ

การฟื้นความสัมพันธ์ครั้งนี้จะช่วยเพิ่มมูลค่าการส่งออกของไทยได้หรือไม่อย่างไร และความท้าทายในการเจาะตลาดกลุ่มผู้บริโภคในตลาดซาอุฯคืออะไร แต่ก่อนที่จะตอบคำถามนั้น อยากให้ผู้อ่านทราบก่อนว่าทำไมตลาดนี้จึงน่าสนใจ ?

ประการแรก ซาอุฯยังต้องพึ่งพาการนำเข้าสินค้าเกษตรและอาหารถึง 96.3% ของการบริโภคสินค้าเกษตรและอาหารในประเทศทั้งหมด โดยในปี 2020 ซาอุฯนำเข้าสินค้าเกษตรและอาหารคิดเป็นมูลค่าถึง 20,800 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือ 15.8% ของการนำเข้าสินค้าทั้งหมดของซาอุฯ

และปริมาณการนำเข้าสินค้าเกษตรและอาหารมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง โดยมีอัตราเติบโตเฉลี่ย 6.2% ต่อปี (CAGR 2010-2020) เนื่องจากซาอุฯมีพื้นที่ส่วนใหญ่เป็นทะเลทราย ทำให้เผชิญกับสภาพอากาศแห้งแล้ง

ส่งผลให้พื้นที่เพาะปลูกของประเทศยังมีสัดส่วนที่ค่อนข้างน้อยอยู่ที่เพียง 0.1% ของพื้นที่ทั้งหมดของประเทศ ทำให้ผลผลิตทางการเกษตรที่เพาะปลูกในประเทศยังคงมีปริมาณไม่เพียงพอต่อความต้องการบริโภคในประเทศ

ประการที่สอง ผู้บริโภคในประเทศซาอุฯมีกำลังซื้อสูง เนื่องจากซาอุฯเป็นประเทศที่พึ่งพารายได้จากการส่งออกน้ำมัน สร้างรายได้เข้าสู่ประเทศปีละประมาณ 2.2 แสนล้านเหรียญสหรัฐ

ทำให้รายได้ต่อหัวของประชากรซาอุฯ ในปี 2020 อยู่ในระดับสูงที่ประมาณ 19,936 เหรียญสหรัฐต่อคนต่อปี มากกว่ารายได้ต่อหัวของประชากรโลกซึ่งอยู่ที่ 10,566 เหรียญสหรัฐต่อคนต่อปีเกือบสองเท่า อีกทั้งในปี 2022 คาดว่าราคาเฉลี่ยน้ำมันในตลาดโลกจะยังอยู่ในระดับสูงจากข้อพิพาทระหว่างรัสเซีย-ยูเครนที่ราว 92 เหรียญสหรัฐต่อบาร์เรล ยิ่งเป็นปัจจัยหนุนอำนาจซื้อของซาอุฯ

ประการที่สาม นอกจากการค้ากับซาอุฯแล้ว ยังเป็นประตูสู่โอกาสทางการค้าไปยังประเทศอื่น ๆ ในภูมิภาคเดียวกัน เนื่องจากซาอุฯอยู่ในกลุ่มประเทศความร่วมมืออ่าวอาหรับ Gulf Cooperation Council หรือกลุ่มประเทศ GCC

ซึ่งประกอบด้วยสมาชิกอีก 5 ประเทศ ได้แก่ คูเวต โอมาน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ กาตาร์ และบาห์เรน จึงเป็นโอกาสของผู้ประกอบการเกษตรและอาหารในการขยายฐานตลาดในภูมิภาคนี้เพิ่มเติม

โดยในปี 2010-2020 อัตราการขยายตัวของมูลค่านำเข้าสินค้าเกษตรและอาหารของกลุ่มประเทศ GCC เพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 3.59% โดยเฉพาะมูลค่านำเข้าสินค้าเกษตรและอาหารของโอมานและกาตาร์มีอัตราการขยายตัวเฉลี่ยปีละ 4.17% และ 3.62% ตามลำดับ ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยของกลุ่มประเทศ GCC

ด้วยปัจจัยข้างต้นหากประเทศไทยสามารถเปิดประตูการค้ากับซาอุฯ จึงมีโอกาสที่มูลค่าการส่งออกสินค้าเกษตรและอาหารของไทยจะขยับขึ้นไปอยู่ในสัดส่วนเดิมก่อนยุติความสัมพันธ์หรือเพิ่มขึ้นประมาณ 600 ล้านเหรียญสหรัฐต่อปี หรือกว่า 18,000 ล้านบาท ( 31.5 บาท/เหรียญสหรัฐ)

โดยสินค้าเกษตรและอาหารที่คาดว่าจะมีโอกาสเพิ่มขึ้น ได้แก่ อาหารทะเลแปรรูป ข้าว ไก่ เครื่องปรุงรส ผัก และผลไม้ ซึ่งเป็นสินค้าที่ซาอุฯยังมีความต้องการนำเข้าเพื่อบริโภคในสัดส่วนที่สูง

และปัจจุบันไทยยังคงมีส่วนแบ่งตลาดในสินค้าเหล่านี้ต่ำกว่าในช่วงก่อนยุติความสัมพันธ์ค่อนข้างมาก อีกทั้งยังเป็นกลุ่มสินค้าที่ไทยยังมีศักยภาพในการส่งออก ทั้งในด้านมาตรฐานและกฎระเบียบทางการค้า

โดยสรุปแล้ว การส่งออกและการลงทุนสำหรับธุรกิจเกษตรและอาหารไทยในซาอุฯ หลังจากฟื้นความสัมพันธ์จะมีทิศทางดีขึ้น อย่างไรก็ดี ยังมีปัจจัยที่ผู้ประกอบการต้องคำนึงถึงในการขยายตลาดนี้ ได้แก่ “กฎระเบียบ” และ “มาตรการทางการค้า” ที่ค่อนข้างเข้มงวด

เนื่องจากประชากรในกลุ่มนี้ส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลามประมาณ 95% ของประชากร ทำให้ผู้ประกอบการต้องให้ความสำคัญในด้านคุณภาพและมาตรฐานสินค้าฮาลาล อีกทั้งผู้ประกอบการควรทำความเข้าใจทั้งในด้านวัฒนธรรมและพฤติกรรมในการบริโภคสินค้าของผู้บริโภคตลาดนี้

เพื่อให้สามารถพัฒนาผลิตภัณฑ์ได้ตรงกับความต้องการของตลาดมากยิ่งขึ้น เช่น เทรนด์อาหารในกลุ่ม future foods organic foods และ functional foods เนื่องจากประชากรชาวซาอุฯส่วนใหญ่เป็นกลุ่มผู้บริโภคยุคใหม่ที่มีอายุต่ำกว่า 30 ปี

สัดส่วนถึง 70% ของประชากรทั้งหมด สอดคล้องกับผลสำรวจของ Nielsenที่ชี้ว่า 66% ของผู้บริโภคชาวซาอุฯต้องการบริโภคอาหารที่มีไขมันและน้ำตาลต่ำ รวมทั้งไม่ใช้สารเคมีและสารปรุงแต่งในการผลิต