ผู้ประกอบการจีนรุ่นใหม่ กับ “ความมั่นคง” ธุรกิจท่องเที่ยวภาคเหนือ

คอลัมน์ ช่วยกันคิด

โดย ดร.อรัญญา ศิริผล คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่

ปัจจุบันอัตรานักท่องเที่ยวจีนที่เดินทางมาประเทศไทยขยายตัวอย่างรวดเร็ว จากปี. 2556 มีเพียงกว่า 7 แสนคน พุ่งเป็น 9.5 ล้านคนในปี 2560 จำนวนนักท่องเที่ยวจีนที่พุ่งสูงขึ้นไม่เพียงทำให้ผู้ประกอบการไทยตื่นตัวทำธุรกิจ แต่ผู้ประกอบการจีนจำนวนมากก็เล็งเห็นช่องทฟางธุรกิจด้านท่องเที่ยวในไทยด้วย

ในจังหวัดเชียงใหม่ พบว่ามีผู้ประกอบการจีนทยอยทดลองเปิดกิจการอย่างกว้างขวาง ข้อมูลกรมพัฒนาธุรกิจการค้าเชียงใหม่ ชี้ว่าปี 2557 มีผู้ประกอบการจีนเข้ามาจดทะเบียนทำธุรกิจอย่างถูกต้องตาม พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 จำนวน 331 ราย รวมมูลค่าลงทุนกว่า 2,000 ล้านบาท โดยอยู่ในกลุ่มอสังหาริมทรัพย์มากถึงกว่า 1,200 ล้านบาท และยังมีกลุ่มธุรกิจที่พักและบริการด้านอาหาร รวมมูลค่าลงทุนกว่า 165 ล้านบาท ไม่รวมผู้ประกอบการจีนรายย่อยที่ไม่ได้จดทะเบียนตามกฎหมายอีกจำนวนมาก ที่มักใช้วิธี “ทดลอง” เปิดร้านผ่านการ “เช่าสถานที่” เพื่อลองทำ หรือ “เช่าต่อ” ธุรกิจต่าง ๆ จากผู้ประกอบการไทย ไม่ว่าธุรกิจที่พัก โรงแรม เกสต์เฮาส์ บ้านพัก ร้านอาหาร ร้านนวดสปา บริษัททัวร์ ขายของที่ระลึก หรือเป็นผู้ประกอบการอิสระเต็มเวลา/บางส่วน เช่น เข้ามาเรียนหนังสือ แต่ทำธุรกิจส่งของที่ระลึกขายเครือข่ายออนไลน์ขนาดใหญ่

ผู้ประกอบการจีนมาจากไหน

เมื่อพิจารณากลุ่มผู้ประกอบการจีนในเชียงใหม่พบว่าส่วนใหญ่คือคนจีนรุ่นใหม่ กลุ่มคนหนุ่มสาว อายุ 25-40 ปี จบการศึกษาอย่างต่ำมัธยมปลายและระดับปริญญาตรี มาจากพื้นฐานครอบครัวชนชั้นกลางที่เคยหรือกำลังประกอบอาชีพรับราชการ บริษัทเอกชน บางคนเคยเป็นศิลปิน นักเขียน นักวิชาการ บางส่วนกำลังเรียนหรือเคยเรียนหนังสือในไทยก่อนผันตัวเองมาทำธุรกิจ พวกเขาอยู่ในไทยพร้อมกับเป้าหมายของชีวิต หวังประสบความสำเร็จทางเศรษฐกิจ จึงทำงานแบบสร้างเนื้อสร้างตัว พร้อมทดลองเรียนรู้ธุรกิจใหม่ ๆ และกล้าเสี่ยง

กล่าวได้ว่าผู้ประกอบการจีนรุ่นใหม่ (ในเชียงใหม่) มาจากทั่วทุกภาคของจีน ไม่ว่ามณฑลกวางสี ยูนนานตอนใต้เซี่ยงไฮ้ เสิ่นเจิ้น ฟูเจี้ยนทางตะวันออกเฉียงใต้ มณฑลเหอหนานจากตอนกลาง จากชิงไห่ ฝั่งตะวันตกเฉียงใต้ บางคนมาไกลจากปักกิ่งทางตอนเหนือของจีนก็มี

เงื่อนไขหลักที่ทำให้คนเหล่านี้มา เป็นเพราะการเดินทางที่สะดวกขึ้น จากเส้นทางการบินที่เปิดมากขึ้นระหว่างเมืองใหญ่ของจีนกับไทย

ในแง่ประสบการณ์การค้า พบว่าจำนวนมากเคยทำธุรกิจคล้ายกันในบ้านตนก่อน เช่น คนที่เคยทำธุรกิจที่พัก เกสต์เฮาส์ โรงแรมรับนักท่องเที่ยวในเซี่ยงไฮ้ ต้าลี่ ลี่เจียง จากนั้นผันตัวเองมาทดลองทำธุรกิจที่พักโรงแรมในเชียงใหม่ ขณะที่ยังเป็นหุ้นส่วน ถือหุ้นในธุรกิจเดิมอยู่ บางคนขยายธุรกิจชิปปิ้งขนส่ง ที่ทำในคุนหมิง มาเชื่อมเครือข่ายขนส่งสินค้าจากเชียงใหม่สู่คุนหมิง กระจายไปที่ต่าง ๆ ในจีน ฯลฯ

คนเหล่านี้ส่วนใหญ่เคยมีประสบการณ์เรียนหรือทำงานในไทยมากกว่า 2-3 ปี มองเห็นลู่ทางการค้าและไม่อยากกลับบ้าน ซึ่งมีการแข่งขันสูงและหางานทำยาก จึงทดลองทำธุรกิจไปก่อนและพบว่าทำกำไรได้ดี จึงเดินหน้าต่อไป คนเหล่านี้พัฒนายุทธวิธีทำธุรกิจอย่างไร จึงมีแนวโน้มประสบความสำเร็จ คำตอบนี้อาจมองเห็นใน 4 รูปแบบ คือ

แบบแรก สร้างความหลากหลายทางการค้า การลงทุน ทั้งในประเทศจีนและที่อื่น

หลักการนี้เป็นองค์ประกอบด้านเป้าหมายระยะยาวที่ต้องการลดความเสี่ยงท่ามกลางการแข่งขันที่สูงขึ้น เป็นเหมือนการสร้างแผนสำรองต่อปัญหาที่ไม่คาดคิดที่อาจเกิดขึ้น ให้สามารถรับการเปลี่ยนแปลงสร้างความหวังให้อนาคตได้

ผู้ประกอบการจีนรุ่นใหม่เหล่านี้จึงไม่ได้พึ่งพาธุรกิจการค้าแบบเดียวที่กำลังทำอยู่ปัจจุบัน แต่ลงทุนในกิจการอื่น ๆ ทั้งในจีนและที่อื่น เช่น ลงทุนทำธุรกิจโรงแรม เกสต์เฮาส์ ร้านอาหาร ใกล้เคียงกับประสบการณ์เดิม หรือซื้อหุ้นบริษัทลงทุนทั้งในตลาดหลักทรัพย์จีนและต่างประเทศ

แบบที่สอง สร้างระบบการจัดการธุรกิจแบบมืออาชีพมากขึ้น

มีการวางแผน จัดองค์กร สร้างแรงจูงใจและควบคุมทรัพยากร เช่น จ้างพนักงานมืออาชีพมาทำงานเฉพาะรับเจรจาติดต่อลูกค้าต่างประเทศ ใช้ภาษาอังกฤษในร้านขายเฟอร์นิเจอร์ราคาแพงเพื่อขยายกลุ่มลูกค้าใหม่ ๆ (ที่ไม่ใช่เพียงคนจีน) จ้างมืออาชีพทางการตลาด การขาย การบริการ การติดต่อประสานงานหาวัตถุดิบ การออกแบบ ช่วยทำงานในสายการผลิตภาคบริการ ต่างไปจากผู้ค้าจีนรุ่นเก่ากลุ่มเสื่อผืนหมอนใบสิ้นเชิง

แบบที่สาม เป็นผู้ใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ เพื่อขยายและเพิ่มประสิทธิภาพการทำธุรกิจ

แบบนี้เกิดขึ้นทั้งในกลุ่ม startup พวกเริ่มต้น ไปจนถึงกลุ่มที่ตั้งตัวได้ เช่นธุรกิจโรงแรม ที่พักอาศัย เกสต์เฮาส์ ใช้โทรทัศน์วงจรปิดติดตั้งไว้ตามมุมต่าง ๆ ช่วยตรวจตราจัดการการทำงานของพนักงานและอื่น ๆ ได้จากที่ห่างไกล สอดคล้องกับชีวิตทางธุรกิจแบบเคลื่อนที่ เดินทางไปมาระหว่างจีนกับไทยและประเทศอื่น ๆ ส่วนเรื่องบัญชีการรับ-จ่ายเงินหรือจ่ายเงินเดือนก็ใช้เทคโนโลยีใหม่ ๆ ผ่านระบบออนไลน์ เช่น การจองที่พักมีการจ่ายเงินผ่านแอปพลิเคชั่น ระบบกระเป๋าเงินอย่างวีแชท อาลีเพย์ หรือแอปอื่น ๆ จนเป็นเรื่องปกติ สอดคล้องกับไลฟ์สไตล์ใหม่ ๆ ทั้งของลูกค้าจีนและวิถีชีวิตคนรุ่นใหม่ทั่วไปในปัจจุบัน เทคโนโลยีใหม่ ๆ เหล่านี้ ยังทำให้ผู้ประกอบการจีนสามารถลดความเสี่ยงจากปัญหาเรื่องการไหลเวียนเงินสดและปัญหาการจัดการเงินสดของพนักงานได้ด้วย

แบบที่สี่ ขยายตลาดหรือทำธุรกิจผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์เป็นช่องทางหลัก

ผู้ประกอบการจีนมองว่าเป็นแนวทางใหม่ของการทำธุรกิจปัจจุบัน ไม่ว่าจะเป็นการใช้สื่ออิเล็กทรอนิกส์ในการโปรโมต ซื้อขายสินค้า/การบริการ และการขยายตลาดสามารถกำหนดกลุ่มเป้าหมายลูกค้า และเข้าถึงลูกค้าจีนที่ส่วนใหญ่ต่างใช้มือถือในชีวิตประจำวันมากขึ้นเรื่อย ๆ

ทั้งหมดส่งผลต่อความมั่นคงของไทยอย่างไร

หากถามว่าสถานการณ์ผู้ประกอบการจีนที่รุกไล่เศรษฐกิจการค้า การท่องเที่ยวไทยขนาดนี้ จะส่งผลกระทบต่อใคร อย่างไร แน่นอนว่าผลกระทบด้านบวกเกี่ยวกับภาพรวมธุรกิจการท่องเที่ยว อาจทำให้ภาวะเศรษฐกิจของประเทศโดยรวมดีขึ้น ดังที่รัฐบาลมักโชว์ตัวเลขรายได้จากการท่องเที่ยวเป็นประจำทุกปี

แต่มองอีกด้าน ผลกระทบด้านลบกำลังเกิดขึ้นกับผู้ประกอบการไทย ทั้งระดับกลางและเล็ก ที่ถูกท้าทายอย่างหนัก เพราะการแข่งขันสูงขึ้นและเงื่อนไขเทคนิควิธีการทำตลาดอันซับซ้อน ขณะที่รัฐบาลไทยเพิกเฉย มองไม่เห็นปัญหาภาพรวม และผู้ประกอบการไทยทั้งระดับกลางและเล็ก ยังขาดการสนับสนุนเครื่องมือในการสู้กับการแข่งขัน ลองพิจารณาจากข่าว และพื้นที่สนามเชียงใหม่ พบว่าบริษัททัวร์จีนมาทำธุรกิจท่องเที่ยวครบวงจร เปิดร้านอาหาร ขายสินค้าไทย/ของที่ระลึก นำนักท่องที่ยวจีนไปเฉพาะร้านที่มีเจ้าของเป็นคนจีน หรือกลุ่มผู้ประกอบการจีนบางคนทำธุรกิจที่พักแรม ร้านอาหาร ติดต่อเช่าบ้าน เกสต์เฮาส์ คอนโดมิเนียม บ้านจัดสรรเอาไว้เป็นรายปี แล้วจัดแบ่งไว้ให้นักท่องเที่ยวชาวจีนมาเช่าต่อ หรือรวมที่พักเช่นนี้เอาไว้ในโปรแกรมทัวร์ที่เปิดขายในประเทศจีน

นอกจากนี้ยังพบกรณีร้านขายของที่ระลึก ร้านขายสินค้าไทย ที่มีผู้ประกอบการจีนมาร่วมทุน/ซื้อกิจการร้านจำหน่ายสินค้าหัตถกรรมในเชียงใหม่ไปจำนวนมาก เพื่อขายให้กับกลุ่มนักท่องเที่ยวจีน ทั้งนี้ยังรวมไปถึงกลุ่มบริษัทขนส่งสินค้า (ชิปปิ้ง) ของนักธุรกิจจีน เข้ามาเปิดบริการรับส่งสินค้ากลับไปยังจีน หรือบริษัทจีน ขายส่งสินค้าไทยแบบปลีก-ส่งในประเทศจีน เช่น ในเขตหางดง เชียงใหม่ มีไม่ต่ำกว่า 5 ราย ในช่วงปี 2559 โดยที่ผู้ประกอบการไทยไม่สามารถแข่งขันทางการค้าได้

ผู้ประกอบการไทยบางกลุ่มจำเป็นต้องปรับตัวรับการเปลี่ยนแปลง บ้างสามารถปรับตัวได้ ผ่านการปรับรูปแบบ เช่น หาหุ้นส่วนร่วมทุน หาตลาดใหม่ผ่านเครือข่ายใหม่ ๆ หรือเพิ่มพูนความรู้ที่เกี่ยวเนื่อง แต่สำหรับผู้ที่ปรับตัวไม่ได้ก็ต้องออกไปจากธุรกิจที่เคยทำมา เปลี่ยนมือกิจการให้แก่ผู้ประกอบการจีน เป็นต้น สภาวะเช่นนี้ส่งผลกระทบต่อความมั่นคงทางเศรษฐกิจภาคการท่องเที่ยวของคนในสังคมไทยอย่างมาก หากไม่ได้มีการปรับตัวหรือได้รับการช่วยเหลืออย่างทันท่วงที

บทบาทรัฐบาลจีนกับไทยต่างกันอย่างไร

บทบาทรัฐจีนมีความก้าวหน้ากว่าไทยหลายขุม โดยเฉพาะการคิดบนหลักการ การสนับสนุนอำนวยความสะดวกอย่างเท่า ๆ กันในกลุ่มธุรกิจ และการใช้เครื่องมือเชิงนโยบายของรัฐอย่างชาญฉลาด ดังเช่น รัฐบาลจีนใช้ “การเคลื่อนย้ายของคนจีน” เป็นกลยุทธ์สร้างการเรืองอำนาจของจีนในโลก ถึงกับออกนโยบายเชิงยุทธศาสตร์ “การก้าวออกไป” ส่งเสริมให้คนจีนรุ่นใหม่ไปทำธุรกิจลงทุนนอกบ้านตัวเองมากขึ้น

ยุทธศาสตร์นี้เน้นการอำนวยความสะดวกให้แก่ภาคธุรกิจ สนับสนุนการเงิน หาแหล่งสินเชื่อให้ สนับสนุนข้อมูลเชิงเศรษฐกิจมหภาคให้ เป็นเครื่องมือช่วยตัดสินใจ ลดขั้นตอนความยุ่งยากต่าง ๆ ปัจจุบันยุทธศาสตร์นี้ยิ่งก้าวหน้าไปมากขึ้น เพราะไม่เพียงสนับสนุนรัฐวิสาหกิจหรือภาคธุรกิจขนาดใหญ่ของจีนเท่านั้น แต่ช่วงหลังทศวรรษ 2010 เป็นต้นมา ได้ส่งเสริมกลุ่มวิสาหกิจชุมชนขนาดกลางและเล็กอย่างเข้มข้น ทั้งกลุ่มระดับเมืองและหมู่บ้าน (Town and Village Enterprises:TVE) ที่กำลังเติบโตทางเศรษฐกิจอย่างรวดเร็ว ให้ออกไปทำธุรกิจนอกประเทศจีนมากขึ้นด้วย ซึ่งพบว่านโยบายนี้สำเร็จอย่างดี สามารถกระตุ้นให้วิสาหกิจ TVE ออกไปลงทุนทำการค้านอกบ้านมากกว่า 20,000 กลุ่ม และยังพบว่ากลุ่มวิสาหกิจชุมชนเหล่านี้กลายเป็นกลไกหลักในการบริหารจัดการธุรกิจข้ามชาติของวิสาหกิจชุมชนจีนอีกด้วย

กลับมาดูบทบาทรัฐไทยบ้าง ขณะที่รัฐจีนกระตือรือร้นส่งเสริมคนจีน วิสาหกิจชุมชนขนาดกลางและเล็กออกไปทำธุรกิจนอกบ้าน แต่รัฐไทยกลับตื่นตัวน้อยมาก วางตัวเองอยู่บนหลักการ “ตั้งรับ-รอปัญหาเกิด-เมื่อปัญหาเกิดก็เน้นควบคุมมากกว่าอำนวยความสะดวก-และเลือกปฏิบัติ” เช่น ตัวอย่างการเข้ามาของผู้ประกอบการจีน เกิดขึ้นมาตั้งแต่ พ.ศ. 2556 แต่รัฐบาลไทยตอบรับต่อสถานการณ์น้อยมาก ไม่มีแผนหรือมาตรการต่าง ๆ ในการเตรียมแก้เชิงรุก ระยะสั้น กลาง หรือยาว ได้แต่ปล่อยให้ผู้ประกอบการไทยขนาดกลางและเล็กรับมือด้วยตัวเอง

ยกตัวอย่าง รัฐบาลไทยที่ไม่ตื่นต้วในการทำงาน เช่น ปัญหาช่องว่างทางกฎหมาย เรื่องกรรมสิทธิ์ทรัพย์สิน (เช่น กฎหมายทรัพย์สินส่วนบุคคล ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และ พ.ร.บ.การประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว พ.ศ. 2542 ที่ส่งผลให้เกิดการถือหุ้นแบบตัวแทนที่ผิดกฎหมาย จัดตั้งบริษัทแบบนอมินีเพื่อจุดประสงค์ในการมีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินที่ดินในไทย) พบว่ารัฐบาลไทยไม่ได้สนใจในการแก้ปัญหา เข้าไปดูรายละเอียด แต่กลับบอกปัดว่าหากทำอะไรลงไป จะส่งผลกระทบต่อบรรยากาศการลงทุนจากต่างประเทศในไทยได้

อีกตัวอย่างที่แสดงให้เห็นว่ารัฐไทยเน้นตั้งรับมากกว่าคิดเชิงรุก ไม่มีแผนจัดการระยะยาว และเมื่อพบปัญหาก็ช้าเกินไป กลายเป็นปัญหาใหญ่ลุกลาม เช่น การปราบปรามทัวร์ศูนย์เหรียญเมื่อปลายปี 2559 รัฐเลือกใช้วิธีการปราบปรามมากกว่าวิธีอื่น ๆ แน่นอนว่าด้านหนึ่งถือเป็นการชะลอปัญหาไม่ให้เลวร้ายไปกว่าเดิม แต่ก็เป็นการแก้ปัญหาชั่วคราวที่ไม่ได้เป็นหลักประกันการมองทางออกในระยะยาว เช่นเดิม

หรือ กรณี ปี 2558-2559 รัฐบาลไทยพยายามจะหยุดธุรกิจจีนผิดกฎหมายที่มาตั้งบริษัททำธุรกิจในรูปนอมินีให้คนไทยถือหุ้นแทน กระทรวงพาณิชย์ร่วมกับกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา กรมสอบสวนคดีพิเศษ ออกข่าวว่าได้เริ่มตรวจสอบธุรกิจที่ทำผิดกฎหมายดังกล่าว ในกลุ่มอสังหาริมทรัพย์ ที่ดิน รถยนต์ ธุรกิจบ้านเช่า-ซื้อ บริษัทนำเข้า-ส่งออกสินค้าเกษตร พบว่ามีมากกว่า 13,000 บริษัทที่ถูกตรวจสอบว่าอาจจะทำผิดกฎหมายดังกล่าว กระจายอยู่ใน 10-17 จังหวัดทั่วประเทศ ในเวลาต่อมาพบว่าดำเนินการจับกุมปราบปรามไปบ้างตามวาระโอกาสเอื้ออำนวย

ในแง่นี้แม้จะเห็นความพยายามของหน่วยงานรัฐ แต่ก็ยังเป็นการตั้งรับปัญหาเพื่อลดแรงเสียดทานจากสังคมมากกว่าการมองการณ์ไกล นอกกรอบ เพื่อเป้าหมายความมั่นคงและยั่งยืนทางเศรษฐกิจของไทยในระยะยาว นอกจากนี้ปัญหาหลักของรัฐบาลไทย คือ การเลือกปฏิบัติ ให้ความสนใจช่วยเหลือแต่ธุรกิจขนาดใหญ่ไทยมากกว่า เช่น นโยบายของรัฐบาลไทยใช้นโยบายการเงิน มาตรการภาษีต่าง ๆ สนับสนุนกลุ่มธุรกิจไทยขนาดใหญ่ การส่งเสริมการลงทุนของบีโอไอ กระตุ้นการลงทุนจากต่างประเทศ ให้สิทธิทางภาษี เสนอข้อยกเว้นพิกัดอัตราภาษีการค้าให้กับต่างประเทศที่มาลงทุนในไทย ร่วมทุนกับบริษัทไทยขนาดใหญ่

สิ่งเหล่านี้ชี้ให้เห็นว่า บทบาทของรัฐไทยกับรัฐจีนแตกต่างกันอย่างสิ้นเชิง “การสร้างความหลากหลายเชิงนโยบาย” กระจายไปทั่วทุกภาคกลุ่มธุรกิจ ไม่ได้ให้เครื่องมือหรือนโยบายสนับสนุนกลุ่มธุรกิจขนาดกลางและเล็กของไทยอย่างมีประสิทธิภาพ เหมือนกับที่รัฐบาลจีนให้ความสำคัญและใช้อย่างจริงจัง เมื่อเป็นเช่นนี้ กลุ่มผู้ประกอบการไทยในธุรกิจขนาดกลางและเล็กด้านการท่องเที่ยว จะได้รับผลกระทบต่อความมั่นคงและความยั่งยืนในชีวิตทางธุรกิจการค้า ในระยะยาวอย่างแน่นอน