“ซอฟต์พาวเวอร์” จากมะม่วงสู่ “ข้าวไทย”

คอลัมน์ : ชั้น 5 ประชาชาติ
ผู้เขียน : กษมา ประชาชาติ

 

หลังจาก “น้องมิลลิ ดนุภา คณาธีรกุล” นักร้องแรปไทยชื่อดังขึ้นเวทีคอนเสิร์ตระดับโลกอย่าง Coachella 2022 และกิน “ข้าวเหนียวมะม่วง” โชว์กลางเวที

แค่เสี้ยววินาทีนั้นทำให้เมนูขนมหวานที่แสดงอัตลักษณ์ของความเป็นไทยดังเปรี้ยงปร้างในชั่วข้ามคืน

ราคามะม่วงดีขึ้น เกษตรกรยิ้มออก

กลายเป็นที่มาของคำฮิต “ซอฟต์พาวเวอร์” หรือ soft power หรือการเผยแพร่วัฒนธรรม แนวคิด ให้เกิดการยอมรับหรือเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมโดยไม่ใช้กำลัง

ซึ่งก่อนหน้านี้ “ลิซ่า ลลิษา มโนบาล” นักร้องไทยวงแบล็คพิงค์ เคยสร้างตำนานซอฟต์พาวเวอร์ “ลูกชิ้นยืนกิน” ให้ดังพลุแตกมาแล้ว

“วิศิษฐ์ ลิ้มลือชา” รองประธานหอการค้าไทย และนายกกิตติมศักดิ์ สมาคมผู้ผลิตอาหารสำเร็จรูป เล่าว่า จริง ๆ แล้ว คำว่าซอฟต์พาวเวอร์นี้ เกิดขึ้นมาตั้งแต่ปี 1990 โดย ศ.โจเซฟ ไนย์ ที่ระบุว่ามันเป็นเรื่องความสามารถเพื่อจูงใจให้ได้สิ่งที่ต้องการ โดยการโน้มน้าว

ไทยมีเรื่องซอฟต์พาวเวอร์แฝงอยู่ในทุกอุตสาหกรรม ยกตัวอย่างในวงการอาหารคงจะรู้จักคำว่า “ครัวไทยสู่ครัวโลก” ร้านอาหาร Thai Select เพราะเรื่องอาหารการกินนั้นเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมในแต่ละชาติ

นอกจาก “มะม่วง” แล้ว เราน่าจะใช้ “ซอฟต์พาวเวอร์” เป็นโอกาสส่งเสริมการทำการตลาดซอฟต์พาวเวอร์ในสินค้าเกษตรไทยหลาย ๆ ชนิด โดยเฉพาะพระเอกเก่าอย่าง “ข้าว” พืชเกษตรหลัก ซึ่งในแต่ละปี ไทยผลิต 20 ล้านตัน ส่งออก 50% หรือประมาณ 10 ล้านตัน และบริโภคภายใน 50%

ที่ผ่านมาตลาดข้าวซบเซามาอย่างต่อเนื่องหลายปี ด้วยความที่ข้าวยังเป็นสินค้าเกษตรขั้นต้นที่แข่งขันด้วยราคาเป็นหลัก เมื่อราคาสูงแข่งขันลำบาก และที่สำคัญคู่แข่งหน้าใหม่เริ่มพัฒนาข้าวสายพันธุ์ใหม่หลากหลายมากขึ้น ขณะที่ตลาดในประเทศก็ประสบปัญหาจากนักท่องเที่ยวไม่เข้ามา และคนไทยเองก็บริโภคข้าวลดลงมาก ๆ

เมื่อขายข้าวได้ลดลง ราคาข้าวตกต่ำรัฐบาลก็ต้องจ่ายเงินประกันรายได้ให้เกษตรกรหลายหมื่นล้าน

เป็นไปได้หรือไม่ที่จะหันมาทำการตลาดข้าวโดยใช้ “ซอฟต์พาวเวอร์” บ้าง

“วัฒนศักย์ เสือเอี่ยม” อธิบดีกรมการค้าภายในเล่าว่า ในเร็ว ๆ นี้ กรมจึงเตรียมจัดงาน “ไรซ์ เอ็กซ์โป” ปีนี้ประมาณ 10 ครั้ง จะเริ่มนำร่องครั้งแรก ระหว่างวันที่ 6-8 พฤษภาคม 2565 ที่ไอคอนสยาม โดยดึงสินค้าข้าวที่ชนะการประกวดสายพันธุ์ไปจัดแสดง ให้ผู้บริโภครู้จักข้าวพันธุ์ต่าง ๆ มากขึ้น

“ต่อไปการทำตลาดข้าวจะทำเฉพาะชนิดอย่างข้าวขาว ข้าวหอมมะลิไม่ได้แล้ว กรมมีแนวคิดว่า ทำไมเราไม่ส่งเสริมให้ผู้บริโภคผสมข้าว สายพันธุ์ต่าง ๆ เช่น ข้าวกล้อง ข้าวหอม (เบลนด์) แบบที่พวกเขาชอบให้เป็นซิกเนเจอร์ของแต่ละบ้านไปเลย เสมือนสินค้ากาแฟที่แต่ละร้านที่เบลนด์เมล็ดกาแฟสายพันธุ์ต่าง ๆ ที่คัดสรรมาอย่างดี สร้างให้เป็นซิกเนเจอร์แต่ละร้าน ว่าจะไปซื้อแบบนี้จะได้ข้าวผสมรสชาติแบบนี้ เป็นการสร้างประสบการณ์ให้ผู้บริโภครู้สึกภูมิใจที่มีข้าวเฉพาะสูตรของตัวเอง ก็น่าจะเป็นทางเลือกในการทำตลาดอีกทางหนึ่ง”