รำลึกทมิฬ-มองศรีลังกา

Photo by ISHARA S. KODIKARA / AFP
คอลัมน์ : สามัญสำนึก
ผู้เขียน : ชุมฉันท์ ชำนิประศาสน์

รอช้านานแต่ก็มาแล้ว การเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม. พร้อมกับที่ชาวพัทยาจะได้เลือกนายกเทศมนตรีมาถึงวันอาทิตย์ที่ 22 พฤษภาฯ

ฤกษ์งามยามดีนี้ ไม่รู้ว่าตอนที่ คสช.รัฐประหารเมื่อ 8 ปีก่อน ให้หมอดูทำนายหรือไม่ว่า ถ้าเลือกวันที่ 22 พ.ค.แล้วจะอยู่เป็นรัฐบาลได้นานยืนยงมาจนถึงวันนี้

เมื่อ 8 ปีที่แล้ว ก่อนที่จะถึงวันที่ 22 พ.ค. บรรยากาศตึงเครียดทางการเมืองลากยาวมาจากปลายปี 2556 กลุ่มไล่รัฐบาลยิ่งลักษณ์ กวักมือรัวยิ่งกว่าแมวกวักให้อัศวินม้าขาวรีบออกมาจัดการยึดอำนาจ

แต่คณะผู้ (ช่าง) กล้า รอเวลาข้ามปี กระทั่งผ่านวันรำลึกเหตุการณ์พฤษภา 35 และพฤษภา 53 แล้วจึงได้ฤกษ์ผงาดเป็นรัฏฐาธิปัตย์วันที่ 22 พ.ค.

มาถึงปีนี้ เหมือนเป็นตลกร้ายที่วันเลือกตั้งสำคัญกลับมาตรงวันเดียวกับวันรัฐประหาร ทั้งยังผ่านวันรำลึกเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมืองเดือนพฤษภาฯมาเช่นกัน

ก่อนถึงวันเลือกตั้ง มติชนสุดสัปดาห์ จัดงานเสวนาเรื่อง 3 ทศวรรษ พฤษภาฯมหาโหด เป็นวาระพิเศษที่ครบรอบ 30 ปีเหตุการณ์พฤษภา 35

อาจารย์ปริญญา เทวานฤมิตรกุล แห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้ร่วมเสวนา เกริ่นก่อนว่าจะยึดแนวทางของอาจารย์ชาญวิทย์ เกษตรศิริ คือไม่เรียกเหตุการณ์นี้ว่า “พฤษภาทมิฬ” เพราะทมิฬเป็นนามของชาติพันธุ์ในประเทศศรีลังกา (ที่ไม่ควรถูกใช้ในบริบทว่าโหดร้าย)

แต่ถึงแม้ในไทยไม่ใช้คำว่า พฤษภาทมิฬ เดือนพฤษภาฯก็ยังเป็นเดือนรำลึก “ทมิฬ” อยู่ดี ที่ศรีลังกา

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า ศรีลังกาจัดงานรำลึกชาวทมิฬที่สูญเสียชีวิตราว 4 หมื่นชีวิตในช่วงสงครามกลางเมือง เมื่อวันที่ 18 พ.ค. มีทั้งชาวพุทธ ชาวคริสต์ ชาวฮินดู มาสวดมนต์และจุดตะเกียงรำลึกถึงผู้เสียชีวิตตั้งแต่ปี 2515 จนถึงเดือนพฤษภาฯ 2552 ที่การต่อสู้ยุติลง

การจัดพิธีรำลึกชาวทมิฬดังกล่าวที่ศรีลังกาเป็นการจัดงานครั้งแรกในรอบ 13 ปี จากเดิมรัฐบาลที่นำโดยตระกูลราชปักษา สั่งห้ามจัดงานมาตลอด เพราะรัฐบาลชุดนี้สร้างชื่อมาจากการปราบปรามกลุ่มกบฏพยัคฆ์ทมิฬในสงครามกลางเมือง

แต่ปีนี้บารมีและเครดิตของตระกูลราชปักษาหดหายลงไปจากวิกฤตเศรษฐกิจ ทำให้การจัดงานรำลึกชาวทมิฬเกิดขึ้นได้ ไม่ต้องหลบ ๆ ซ่อน ๆ แอบจัดเหมือนในอดีต

ส.ส.ในพื้นที่ชุมชนชาวทมิฬทางภาคเหนือกล่าวว่า การจัดงานอย่างเปิดเผยเป็นสัญลักษณ์และมีความสำคัญมากต่อชาวทมิฬ ส่วนนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมองว่า พิธีรำลึกนี้จะเป็นก้าวแรกของการสมานฉันท์ระหว่างชาวทมิฬ ชนกลุ่มน้อย และชาวสิงหล ชนส่วนใหญ่ของประเทศที่จะร่วมกันเรียกร้องความยุติธรรมและความรับผิดชอบจากผู้ใช้ความรุนแรงต่อไป

อย่างไรก็ตาม งานรำลึกชาวทมิฬอาจดูไม่ใหญ่โต เมื่อเทียบกับสถานการณ์เศรษฐกิจของศรีลังกาที่อยู่ในความสนใจระดับโลก เพราะย่ำแย่ถึงขั้นถังแตก เงินจะชำระหนี้ต่างประเทศ (51,000 ล้านดอลลาร์) ก็ไม่มี ต้องเบี้ยวเป็นประเทศแรกในภูมิภาคเอเชีย-แปซิฟิก ส่วนเงินในประเทศที่จะไปซื้อน้ำมันเชื้อเพลิงก็ไม่มี อาหารร่อยหรอลง เงินเฟ้อเดือน เม.ย.พุ่ง 29.8% และราคาอาหารเพิ่มขึ้น 46.6% เทียบกับปีก่อน

ประชาชนจำนวนมากต่างเห็นว่า วิกฤตดังกล่าวนี้ไม่ใช่เพราะผลกระทบจากโรคระบาดโควิดอย่างเดียว แต่มาจากสองพี่น้องราชปักษาผู้นำประเทศ ทั้งมหินทา-โกตาบายา บริหารประเทศและจัดการกับเศรษฐกิจผิดพลาดไปหมด กว่าที่ตัวนายกฯจะลาออก สถานการณ์ก็มาไกลแล้ว

แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นมีข้อสังเกตด้วยว่า ท่ามกลางวิกฤตรุนแรงกลับยังไม่มีบรรยากาศตั้งเค้าว่า กองทัพศรีลังกาจะเข้ามายึดอำนาจรัฐบาลเพื่อสวมบทฮีโร่ ด้วยเหตุผลว่าประชาชนไม่มีความสุข หรือประเทศไปต่อไม่ได้แล้ว

ทหารระดับสูงนายหนึ่งกล่าวว่า ไม่มีใครในกองทัพมีความคิดอยากยึดอำนาจ เรื่องอย่างนี้ไม่เคยเกิดขึ้นในประเทศของเรา และไม่ง่ายด้วยที่จะทำเช่นนั้น

ถ้าเป็นได้อย่างนี้จริง ถือว่าอย่างน้อยชาวศรีลังกาไม่ต้องมีโจทย์เข้ามาทำให้ยุ่งยากกว่าเดิมอีก