ศรีลังกาน้ำมันใกล้หมดประเทศ นายกฯรับเหลือสำรองในคลังแค่วันเดียว

ศรีลังกา
Photo by Ishara S. KODIKARA / AFP

นายกฯศรีลังการับประเทศเหลือน้ำมันสำรองแค่วันเดียว เร่งกู้ต่างชาติ 6 พันล้านจ่ายนำเข้าพลังงาน แย้มเล็งขายทิ้งสายการบินแห่งชาติ

วันที่ 17 พฤษภาคม 2565 บีบีซี รายงานว่า นายรานิล วิกรามาสิงหะ นายกรัฐมนตรีศรีลังกาได้แถลงการณ์ผ่านโทรทัศน์ยอมรับต่อประชาชนว่า ขณะนี้ศรีลังกาเหลือน้ำมันสำรองในคลังได้เพียงแค่วันเดียวเท่านั้น ท่ามกลางวิกฤตเศรษฐกิจของประเทศ

นายกฯวิกรามาสิงหะยอมรับว่า รัฐบาลจำต้องหาแหล่งเงินทุนจากต่างชาติเป็นการเร่งด่วน เพื่อระดมเงินให้ได้อย่างน้อย 75 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือกว่า 2,600 ล้านบาท เพื่อสำรองจ่ายชำระค่านำเข้าพลังงานล่วงหน้า ส่งผลให้ตั้งแต่ช่วงเย็นต่อเนื่องถึงเช้าวันนี้ ตามสถานีน้ำมันในกรุงโคลอมโบ เมืองหลวงศรีลังกา ประชาชนต่างแห่เข้าคิวยาวเพื่อรอเติมน้ำมันทั่วเมือง ท่ามกลางกระแสข่าวที่ศรีลังกาน้ำมันใกล้หมดประเทศ

“ขณะนี้เรามีน้ำมันสำรองอยู่แค่วันเดียว อีก 2-3 เดือนข้างหน้าจะเป็นช่วงที่ยากที่สุดในชีวิตของเรา” อย่างไรก็ตาม การจัดส่งน้ำมันเบนซินและดีเซลโดยใช้วงเงินสินเชื่อกับอินเดียสามารถจัดหาเชื้อเพลิงได้ในอีกไม่กี่วันข้างหน้า เขากล่าวเสริม

นายกฯศรีลังกาคนใหม่ยังเผยอีกว่า รัฐบาลมีแผนเตรียมเล็งขายสายการบินศรีลังกาแอร์ไลน์ เพื่อลดภาระด้านการคลังหลังจากรัฐบาลต้องอุ้มสายการบินแห่งชาตินี้มานาน นับตั้งแต่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโควิด-19

รัฐบาลใหม่ศรีลังการะบุว่า สายการบินศรีลังกาแอร์ไลน์มีผลขาดทุนหนักถึง 4.5 หมื่นล้านรูปี (124 ล้านดอลลาร์) ในปีงบการเงินที่สิ้นสุดในเดือน มี.ค. 2021 ส่งผลให้รัฐบาลจำต้องตัดสินใจเปิดแผนขายสายการบินแห่งชาติ เพื่อรักษาเสถียรภาพการเงินของชาติ โดยนายกฯคนใหม่ศรีลังกากล่าวว่า “การขาดทุนนี้ไม่ควรเป็นภาระทางภาษีของผู้ยากจนในประเทศที่ไม่เคยโดยสารเครื่องบินด้วยซ้ำ”

ขณะเดียวกันนายกฯศรีลังกาคนใหม่ยอมรับด้วยว่า รัฐบาลจำต้องพิมพ์เงินเพิ่มเพื่อสำหรับจ่ายเงินเดือนข้าราชการ ซึ่งการพิมพ์ธนบัตรเพิ่มจะยิ่งทำให้ค่าเงินของศรีลังกาเฟ้อย่ำแย่ลงไปอีกในช่วงเวลาที่ประเทศเร่งหาเงินดอลลาร์เพื่อจ่ายนำเข้าพลังงานจากต่างชาติ ท่ามกลางวิกฤตพลังงานที่เหลือใช้เพียงวันเดียว

ทั้งนี้ ศรีลังกากำลังเผชิญวิกฤตเศรษฐกิจเลวร้ายสุดในรอบ 74 ปีนับตั้งแต่ได้รับเอกราชจากสหราชอาณาจักร เนื่องจากปัญหาเงินเฟ้อพุ่งสูงเป็นประวัติการณ์ และทุนสำรองต่างประเทศมีอยู่อย่างจำกัด ซึ่งไม่เพียงพอกับการชำระหนี้ต่างชาติ ท่ามกลางปัจจัยแนวโน้มราคาพลังงานและอาหารที่สูงขึ้น