แม่เหียะโมเดล สมาร์ทซิตี้เชียงใหม่เพื่อคนท้องถิ่น

เทศบาลเมืองแม่เหียะ

หลายบริษัทเริ่มนำเทคโนโลยีดิจิทัลใหม่ ๆ เข้ามาใช้บริหารจัดการองค์กรมากขึ้น ซึ่งเหมือนกับเทศบาลเมืองแม่เหียะ อ.เมือง จ.เชียงใหม่ ถึงแม้จะเป็นหน่วยงานภาครัฐ และเป็นองค์การบริหารปกครองส่วนท้องถิ่นระดับเทศบาล

แต่ด้วยวิสัยทัศน์ของ “ธนวัฒน์ ยอดใจ” นายกเทศมนตรีเมืองแม่เหียะที่อยากให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งในและนอกองค์กร เนื่องจากคลุกคลีกับงานบริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นมากว่า 22 ปี จึงอยากจะลบภาพระบบราชการเก่า ๆ ออกไป

ธนวัฒน์ ยอดใจ
ธนวัฒน์ ยอดใจ

“ธนวัฒน์” เล่าว่า บทบาทหน้าที่ขององค์การบริหารปกครองส่วนท้องถิ่น คือการดูแลประชาชนเรื่องน้ำไหล ไฟสว่าง ถนนหนทางดี ประเพณีคงอยู่ การศึกษา วัฒนธรรม สภาพแวดล้อม ตลอดจนคุณภาพชีวิตของประชาชนทุกด้าน

เรามีแนวคิดที่อยากจะปรับเปลี่ยนกระบวนการดูแลประชาชนให้มีความสะดวกและรวดเร็วทั่วถึงมากขึ้น เนื่องจากเมื่อก่อนการเข้ามาติดต่อราชการ ร้องทุกข์ มักจะมีแต่ความซับซ้อนยุ่งยาก และใช้เวลานาน

ดังนั้น การที่เราจะเปลี่ยนระบบ และทำให้ดีขึ้นจึงต้องนำเอาเทคโนโลยีเข้ามาใช้ ผมจึงปรึกษากับทีมงานที่เขาเก่งเรื่องการพัฒนาระบบ จนทำให้เกิดไอเดีย one stop service โดยใช้ระบบแอปพลิเคชั่น “เทศบาลเมืองแม่เหียะ” ผ่านมือถือให้ประชาชนเข้าใช้งาน

ไม่ว่าจะร้องทุกข์ แจ้งรายงาน หรือขออนุมัติเรื่องต่าง ๆ ก็สามารถทำได้ครบจบที่แอปพลิเคชั่นเดียว เช่น น้ำไม่ไหล ไฟดับ งานบริการด้านภาษี การยื่นคำร้องต่าง ๆ ยกตัวอย่าง การขอปลูกบ้าน ซึ่งเมื่อก่อนประชาชนที่จะปลูกบ้านต้องมาขออนุญาตเทศบาลไม่ต่ำกว่า 3 ครั้งจึงจะดำเนินการได้

แต่ตอนนี้ทำผ่านออนไลน์ได้เลย เพราะปัจจุบันระบบราชการเปิดทางให้ใช้ลายเซ็นอิเล็กทรอนิกส์ได้แล้วแต่อาจจะมีเพียงไม่กี่แห่งที่นำไปปฏิบัติอย่างจริงจัง ยังใช้ระบบเก่าที่ต้องเป็นลายลักษณ์อักษร ส่วนของแม่เหียะขอใช้แบบลายเซ็นออนไลน์มาตั้งแต่ปี 2560 แล้ว

“อีกทั้งยังมีระบบที่เก็บฐานข้อมูลเมือง ซึ่งเป็นการใช้โดรนสำรวจพื้นที่ว่ามีการใช้ประโยชน์ที่ดินอะไรบ้าง เก็บเป็นฐานข้อมูลในระบบไว้แล้ว ฉะนั้น ประชาชนที่จะมาขออนุญาตปลูกบ้าน เจ้าหน้าที่จะเข้าตรวจสอบข้อมูล ภาพถ่ายพื้นที่ในระบบ และสามารถอนุมัติได้เลยทันทีไม่ต้องใช้เวลานาน

เพราะถ้าเป็นเมื่อก่อน การขออนุญาตปลูกบ้านประชาชนต้องมาที่เทศบาลไม่ต่ำกว่า 3 ครั้งถึงจะดำเนินการสร้างบ้านได้ ตอนนี้เราลดเวลาลง ทำให้อนุมัติง่าย ช่วยประหยัดเวลาประชาชนที่มารับบริการ ทั้งยังสะดวกแก่เจ้าหน้าที่ด้วย

เพราะสามารถประมวลผลการทำงานของแต่ละกองได้เป็นรายสัปดาห์ รายเดือน และรายปี ผมยังสามารถติดตามดูรายงานได้ตลอดเวลา และเนื่องจากเป็นระบบออนไลน์ เทศบาลจึงต้องจัดทำฐานข้อมูล เพื่อวางแผนพัฒนาองค์กรต่อไปได้”

“ธนวัฒน์” กล่าวต่อว่า เดิมทีเทศบาลเมืองแม่เหียะ เป็นพื้นที่เกษตรกรรม ปัจจุบันกลายเป็นพื้นที่เศรษฐกิจใหม่แล้ว เพราะมีแหล่งท่องเที่ยว สถานที่สำคัญ ทั้งดอยคำ พืชสวนโลก ไนท์ซาฟารี ทั้งยังเป็นที่ตั้ง 6 คณะของมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ อุทยานวิทยาศาสตร์ และวัดพระธาตุดอยคำ

ดังนั้น การจะทำให้เมืองแม่เหียะมีคุณภาพ จึงต้องมีการวิจัย และนำเทคโนโลยีมาใช้จัดระบบระเบียบข้อมูล เพื่อนำมาวางแผนพัฒนาในการทำงาน เหมือนที่ประเทศไทยพูดถึง 4.0 ถ้าย้อนกลับไปดูตอนนี้เราบรรลุ 4.0 แล้วหรือยัง ฉะนั้น จึงต้องลุกขึ้นมาเปลี่ยนแปลง ด้วยการนำเทคโนโลยี แพลตฟอร์มต่าง ๆ มาใช้ให้มากที่สุด

อย่างไรก็ตาม อนาคตจะมีแอปพลิเคชั่น “มีดีแม่เหียะ” ให้บริการข้อมูลทุกอย่างของเมือง เน้นส่งเสริมการท่องเที่ยว ร้านกาแฟอยู่ตรงไหน มีโปรโมชั่นอะไร หรือดูเรื่องการใช้ประโยชน์ที่ดินจะดูได้ทันที ซึ่งข้อมูลพวกนี้จะเป็นฐานในการตัดสินใจลงทุนของนักธุรกิจต่าง ๆ ตอนนี้อยู่ในแผนงานขั้นต่อไป

เพราะอนาคตผมอยากเห็นแม่เหียะเป็นเมืองที่สมาร์ทมากกว่าเดิม แต่หัวใจสำคัญอยู่ที่คนของเราต้องเอาด้วย เพราะต่อให้เรามีเทคโนโลยีดีแค่ไหน แต่ถ้าคนไม่ใช้ ทุกอย่างก็จะไม่สำเร็จ

“ปัจจุบันการพัฒนาของแม่เหียะนำไปสู่การเป็นศูนย์บริการเป็นเลิศ (Excellent Service) ทั้งยังได้รับรางวัลต้นแบบท้องถิ่นดิจิทัล จากสำนักนายกรัฐมนตรี ซึ่งความสำเร็จนี้เกิดขึ้นจากผลการวิจัยที่ร่วมกับหน่วยบริหารจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ซึ่งบพท.ได้เลือกแม่เหียะเป็นพื้นที่ศึกษา (Research Area) ในการพัฒนายกระดับท้องถิ่น”

ดร.กิตติ สัจจาวัฒนา
ดร.กิตติ สัจจาวัฒนา

“ดร.กิตติ สัจจาวัฒนา” ผู้อำนวยการหน่วยบริหารจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) กล่าวว่า บพท.มุ่งเน้นให้เกิดการวิจัยเชิงพื้นที่ เพราะมีงานวิจัยในเรื่องของการพัฒนาประเทศ หากมีการพัฒนาเมือง เมืองจะเป็นผู้กระจายความเจริญไปสู่พื้นที่อื่น ๆ ซึ่ง บพท.สนับสนุนให้เกิด “วิสาหกิจพัฒนาเมือง”

โดยมีโครงการนำร่องอยู่ที่ เชียงใหม่, ขอนแก่น, ภูเก็ต, ระยอง และนครราชสีมา จากพื้นที่เป้าหมายที่เราตั้งไว้ 30 เมือง หลักการคือเราอยากให้แต่ละเมืองมีการสร้างเศรษฐกิจใหม่บนฐานดิจิทัล อาศัยการวิเคราะห์ข้อมูล โดยใช้ท้องถิ่นเป็นตัวหลักแล้วก็มีภาคเอกชนในพื้นที่มาร่วม เข้ามาช่วยลงทุน มาช่วยวิจัย ฯลฯ

สำหรับแม่เหียะเป็นพื้นที่รองรับการขยายตัวจากเมืองเก่าเชียงใหม่ เป็นเมืองที่เต็มไปด้วยศักยภาพด้านการท่องเที่ยว รวมไปถึงความสมบูรณ์ด้านธรรมชาติ โดยเป็นที่ตั้งสถานที่สำคัญด้านธรรมชาติมากมาย รวมถึงมีความพร้อมในด้านข้อมูลต่าง ๆ ที่สามารถนำมาใช้ร่วมขับเคลื่อนเมืองสู่การเป็นเมืองอัจฉริยะ

มุ่งการนำเทคโนโลยีเข้าสู่กระบวนการบริหารจัดการพื้นที่ เกิดการเพิ่มประสิทธิภาพและคุณภาพของบริการชุมชน ช่วยลดต้นทุน และขั้นตอนบริการให้ประชาชนได้รับความสะดวก

“บพท.ทำการวิจัยเชิงพื้นที่หลายโครงการในแม่เหียะ ตั้งแต่การท่องเที่ยว การเกษตร ที่สำคัญคือแพลตฟอร์มระบบข้อมูลเมือง ใช้เป็นพื้นฐานในการต่อยอดการบริหารจัดการเชิงนโยบาย และการบริหารจัดการแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นในพื้นที่ รวมถึงแพลตฟอร์มระบบบริหารจัดการ หรือ Market Place สำหรับซื้อขายสินค้าในชุมชน ช่วยเพิ่มรายได้ผู้ประกอบการ”

ทั้งนี้ บพท.ช่วยส่งเสริมโดยให้มหาวิทยาลัยเชียงใหม่เข้ามาเป็นเครือข่ายส่งเสริมโครงการพัฒนาระบบดิจิทัล นอกจากนั้น ยังช่วยยกระดับการมีส่วนร่วมของคนในท้องถิ่นเพื่อให้การใช้เทคโนโลยีมายกระดับการวิเคราะห์ข้อมูลในขั้นสูงมากขึ้น

โดยทั้งหมดมาประกอบกันจนเป็นการพัฒนาเศรษฐกิจในพื้นที่ภายใต้การมีส่วนร่วมของประชาชน เทศบาล และภาคเอกชน กระทั่งนำไปสู่การเกิดแผนการลงทุนใหม่ และยังจะมีการวิจัยช่วยพัฒนาแพลตฟอร์มอื่น ๆ บนพื้นที่แม่เหียะอีกต่อเนื่อง

“อนาคตเมื่อแม่เหียะเป็นโมเดลพัฒนาเมืองโดยสมบูรณ์แล้ว สิ่งที่ต้องทำต่อไปคือ open data แชร์ข้อมูลให้เมืองอื่น ๆ และทำ urban solution เพื่อวิเคราะห์มิติในการพัฒนาเมือง ทั้งมิติการศึกษา มิติเศรษฐกิจ วัฒนธรรม เป็นต้น เพื่อนำไปสู่แผนการลงทุนในเมือง โดยมีธุรกิจในเมืองเข้ามาร่วมด้วย โดยการหาโอกาสการลงทุนในมิติต่าง ๆ”