
กระทรวงแรงงานลงพื้นที่ จ.ชลบุรี ระดมความเห็นผู้ปฏิบัติงานป้องกันแก้ปัญหาการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน มุ่งสู่ Tier 1
วันที่ 22 พฤศจิกายน 2565 นายบุญชอบ สุทธมนัสวงษ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน มอบหมายให้นายวรรณรัตน์ ศรีสุขใส รองปลัดกระทรวงแรงงานและโฆษกกระทรวงแรงงาน เป็นประธานการประชุมเชิงปฏิบัติการ เพื่อซักซ้อมการคัดกรองแรงงานบังคับและค้ามนุษย์ด้านแรงงาน ตามมาตรฐานปฏิบัติงานการตรวจคัดกรองเบื้องต้นและแสวงหาข้อบ่งชี้สำหรับบุคคลที่มีเหตุอันควรสงสัยได้ว่าอาจเป็นผู้เสียหายจากการแสวงหาประโยชน์ด้านแรงงาน แรงงานบังคับ หรือการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน (SOP) และกลไกการส่งต่อระดับชาติ (NRM) ณ ห้องประชุมแคสเปี้ยน เดอะไทด์ รีสอร์ท บางแสน จังหวัดชลบุรี
- จับตาธุรกิจเลิกจ้าง ปิดกิจการ ส่งออกสะดุด-บริษัทยักษ์ย้ายฐาน
- โปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง พล.อ.ประยุทธ์ เป็นองคมนตรีคนใหม่ มีผลทันที
- ผู้ซื้อญี่ปุ่นเซ็นแล้ว 5,000 ตัน นำเข้ากล้วยอีสาน ได้เม็ดเงินทันที 100 ล้านบาท
นายวรรณรัตน์กล่าวว่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ท่านสุชาติ ชมกลิ่น ได้ให้ความสำคัญกับการป้องกันและแก้ไขปัญหาการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน เพื่อให้เกิดผลลัพธ์เป็นรูปธรรมที่ชัดเจน จึงได้มอบหมายให้ดูแลงานด้านการป้องกันการค้ามนุษย์ด้านแรงงานของกระทรวงแรงงาน โดยให้เน้นย้ำกับเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานด้านการป้องกันและแก้ปัญหาการค้ามนุษย์ด้านแรงงานอย่างเป็นรูปธรรม เนื่องด้วยเป็นนโยบายสำคัญ เพื่อมุ่งสู่ระดับ Tier 1
“การประชุมในวันนี้มีเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่จังหวัดชลบุรีจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และเจ้าหน้าที่สำนักงานเลขานุการศูนย์บัญชาการป้องกันการค้ามนุษย์เข้าร่วม เป็นการดำเนินการจัดประชุมร่วมระหว่างภาคีเครือข่าย ประกอบด้วย มูลนิธิ IJM สำนักงานปลัดกระทรวงแรงงาน (สล.ศปคร.) และ Government of the United States เพื่อรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากผู้ปฏิบัติงานระดับพื้นที่ในการคัดกรองผู้เสียหายจากการแสวงหาประโยชน์ด้านแรงงาน การบังคับใช้แรงงานหรือบริการ และการค้ามนุษย์ด้านแรงงานตามแบบคัดกรองเบื้องต้น รบ.1
รวมถึงการดำเนินการที่เกี่ยวข้องให้เป็นไปตามแผนปฏิบัติการว่าด้วยกลไกการส่งต่อระดับชาติ การบริหารจัดการคดี และการช่วยเหลือคุ้มครองผู้เสียหายจากการค้ามนุษย์ และการบังคับใช้แรงงานหรือบริการ พ.ศ. 2565 (NRM) สอดคล้องกับ NRM และในฐานะประธานอนุกรรมการขับเคลื่อนกลไกการส่งต่อระดับชาติ
โดยมีนางสาวสิริลักษณ์ วิริยะดี รองอัยการจังหวัดคุ้มครองสิทธิและช่วยเหลือทางกฎหมายและการบังคับคดีจังหวัดชลบุรี ร่วมบรรยายในประเด็นข้อบ่งชี้ หลักเกณฑ์การจำแนก แยกแยะ และคัดกรองเกี่ยวกับการละเมิดสิทธิแรงงานการบังคับใช้แรงงาน และการค้ามนุษย์ด้านแรงงาน ตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องและ พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการค้ามนุษย์ พ.ศ. 2551 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ตามข้อสั่งการของคณะกรรมการป้องกันและปรามปรามการค้ามนุษย์ ที่มีรองนายกรัฐมนตรี พลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นประธาน สั่งการให้กระทรวงแรงงานนำ SOP ไปทดลองและปรับปรุงต่อไป