กลยุทธ์ ไทยเบฟ ชู Passion 2025 ตอบโจทย์ธุรกิจ

ต้องใจ ธนะชานันท์
ต้องใจ ธนะชานันท์

บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) ได้รับคะแนนสูงสุดอันดับหนึ่ง DJSI (The Dow Jones Sustainability Indices) ในกลุ่มอุตสาหกรรมเครื่องดื่มโลกต่อเนื่องเป็นปีที่ 5 จากการประเมินของ S&P Global ผลตรงนี้สะท้อนถึงศักยภาพอันแข็งแกร่งในการเป็นองค์กรต้นแบบที่ดำเนินธุรกิจควบคู่ไปกับการใส่ใจด้านการพัฒนาที่ยั่งยืน จนนำความภาคภูมิใจของคนไทยไปสู่ระดับโลก

“ต้องใจ ธนะชานันท์” รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ ผู้บริหารสูงสุดกลุ่มงานความยั่งยืน บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า การที่ไทยเบฟได้รับคะแนนสูงสุดต่อเนื่องเป็นปีที่ 5 อาจเป็นเพราะเราใช้เกณฑ์ของ DJSI เป็นตัวขับเคลื่อนธุรกิจทุก ๆ ด้าน

เพราะทุกปีเราเข้าไปตอบคำถามจากคณะกรรมการ และได้คะแนนมา เราจะกลับมามองหาจุดอ่อนว่าต้องแก้ไขอย่างไรบ้าง ต้องทำสิ่งไหนเพิ่มเติม อย่างเช่นปีที่ผ่านมา เขาให้ความสนใจเรื่องความหลากหลายทางชีวภาพ

ถ้าย้อนกลับไป 3-4 ปีก่อน ไทยเบฟยังไม่ได้โฟกัสมากนัก แต่พอเห็นแนวโน้มว่าเขาสนใจ เราจึงไปหาความรู้เพิ่มเติมประเมินความเสี่ยงด้านต่าง ๆ ว่าธุรกิจได้ทำลายระบบนิเวศมากน้อยเพียงใด ส่งผลกระทบต่อความหลากหลายทางชีวภาพอย่างไรบ้าง ตรงนี้นับเป็นความโชคดีที่ธุรกิจของเราทำลายระบบนิเวศน้อย

ดังนั้น หากโฟกัสไปที่การดำเนินเรื่องความยั่งยืน จนส่งผลให้ไทยเบฟเป็นที่ยอมรับ และได้คะแนนสูงจาก DJSI มาจากเราทำหลายเรื่องด้วยกัน

“แต่ที่ทำอย่างจริงจัง และประสบความสำเร็จมากว่า 40 ปี คือการนำบรรจุภัณฑ์ขวดแก้ว ทั้งจากเบียร์ น้ำดื่ม มารีไซเคิล รวมถึงแจกผ้าห่มต้านภัยหนาวสำหรับประชาชนภาคเหนือ และอีสานมากว่า 23 ปี โดยเฉพาะช่วง 3 ปีหลัง ผ้าห่มที่แจกให้กับประชาชนล้วนผลิตจากเม็ดพลาสติกรีไซเคิล จากขวดพลาสติกบรรจุเครื่องดื่ม ซึ่งเป็นการดูแลทั้งสังคม และสิ่งแวดล้อม”

ตอบโจทย์ธุรกิจยั่งยืนในอาเซียน

“ต้องใจ” กล่าวต่อว่า อีกหนึ่งโครงการที่เราจริงจังมาก คือ การจัดงาน Sustainability Expo หรือ SX ซึ่งเป็นงานมหกรรมด้านความยั่งยืนยิ่งใหญ่ที่สุดในอาเซียน โดยไทยเบฟผนึกความร่วมมือกับพันธมิตร พีทีที โกลบอล เคมิคอล (GC), เอสซีจี, ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป เป้าหมายหลักเพื่อผลักดันแนวคิดเรื่องความยั่งยืนสู่สาธารณชนมากขึ้น เช่น จะปฏิบัติอย่างไรเพื่อช่วยลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม

“ทั้งนี้ งาน SX ปี 2565 จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 3 มีผู้เข้าร่วมงานถึง 2.7 แสนราย สิ่งที่ดึงดูดผู้คนร่วมงานมากที่สุด คือ food festival เพราะเกี่ยวข้องกับชีวิตของคน เราใช้โอกาสนี้เป็นที่สอนผู้คนเรื่องการแยกขยะ และการกำจัดขยะอาหาร ตลอดการจัดงาน 7 วัน (26 ก.ย.-2 ต.ค. 2565) สามารถกำจัดกระป๋องเครื่องดื่มมากกว่า 20,000 กระป๋อง ทั้งยังนำเศษอาหารไปทำปุ๋ยกว่า 1,770 กก. ฉะนั้น ต่อไปเราคงทำอย่างต่อเนื่องเพื่อสื่อสารถึงผู้บริโภค”

ชูกลยุทธ์ Passion 2025

สำหรับเป้าหมายต่อไปภายใต้กลยุทธ์ Passion 2025 “ต้องใจ” ฉายภาพให้ฟังว่า เริ่มจากปี 2566 จะทำงานผ่านการร่วมมือใน 3 ระดับ คือ ความร่วมมือภายในองค์กร, ความร่วมมือกับองค์กรพันธมิตรและคู่ค้า และความร่วมมือกับผู้บริโภคและสาธารณชน

ภายใต้พันธกิจ “สร้างสรรค์และแบ่งปันคุณค่าจากการเติบโต” เพื่อสร้างการเติบโตอย่างยั่งยืนให้ครอบคลุมทุกมิติ ทั้งในด้านการรักษาสิ่งแวดล้อม การเกื้อหนุนสังคม และการบริหารงานตามหลักธรรมาภิบาล ควบคู่ไปกับการขยายธุรกิจในไทยและในภูมิภาคอาเซียน

“พูดง่าย ๆ เราตั้งเป้าหมายทางธุรกิจคือ ต้องสร้างยอดขายจากสินค้า nonalcohol หรือสินค้าที่ดีต่อสุขภาพ ให้ได้ 80% จากที่มีอยู่ในพอร์ตโฟลิโอ 60% ด้วยการลงทุนแบรนด์ คิดค้นช่องทางในการจัดจำหน่ายใหม่ ๆ นอกจากนี้บริษัทวางแผนจะมุ่งเน้นไปที่การดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมมากขึ้น โดยเฉพาะการตรวจสอบด้านการทำลายความหลากหลายทางชีวภาพ เพื่อดูว่าธุรกิจของเราสร้างความเสียหายต่อระบบนิเวศมากน้อยเพียงใด”

รวมทั้งมีการลงทุนนำเทคโนโลยีเข้ามาช่วยแก้ปัญหาการเก็บบรรจุภัณฑ์กลับคืนมารีไซเคิล เช่น บางพื้นที่ขายเบียร์ น้ำดื่มได้ปริมาณมาก แต่เก็บบรรจุภัณฑ์กลับคืนได้น้อย เราต้องหาทางเก็บกลับมาให้มากขึ้น อีกทั้งยังมองเห็นโอกาสใหม่ ๆ จากการนำวัตถุดิบเหลือใช้จากการหมักเบียร์ เหล้า ซึ่งมีกากและของเสียจากมอลต์ น้ำตาล ก็จะนำไปผลิตเป็นพลังงานชีวภาพ หรือไบโอแก๊ส แปรรูปเป็นอาหารสัตว์ ทำปุ๋ย เป็นต้น

วางแผนใช้ EV ลดต้นทุนธุรกิจ

สำหรับอีกหนึ่งนโยบายสำคัญที่ “ฐาปน สิริวัฒนภักดี” กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) เคยประกาศเอาไว้ คือ การพัฒนาระบบที่เกี่ยวข้องกับรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ในทุกรูปแบบ เพื่อรองรับการเติบโตในอนาคต โดยเฉพาะการนำมาพัฒนาระบบโลจิสติกส์ของบริษัท เพื่อช่วยลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์

โดยนับตั้งแต่ปี 2566 เป็นต้นไป ไทยเบฟจะพยายามเพิ่มสัดส่วนการใช้รถยนต์ไฟฟ้ามากขึ้น ตั้งแต่รถของผู้บริหาร ไปจนถึงรถพนักงานฝ่ายขาย รวม ๆ แล้วน่าจะมากถึงหลักพันคัน อีกทั้งยังวางแผนใช้รถบรรทุกพลังงานไฟฟ้าในการขนส่งสินค้ามากขึ้น ตอนนี้ทดลองใช้ไปแล้ว 1 คัน และมีการสร้างสถานีชาร์จภายในโรงงาน และคลังสินค้า เพื่อรองรับการขนส่งสินค้าจากโรงงานไปยังคลังสินค้าเรียบร้อยแล้ว

สำหรับโครงการนำร่องรถบรรทุกไฟฟ้าเริ่มตั้งแต่กลางปี 2565 ตรงนี้ช่วยลดต้นทุนโอเปอเรชั่นได้ 1 ใน 3 แต่ทั้งนี้ยังมีความท้าทายคือรถบรรทุกพลังงานไฟฟ้าค่อนข้างมีราคาแพงมากกว่ารถบรรทุกที่ใช้น้ำมันถึง 30-50% ดังนั้นการจะเปลี่ยนไปใช้รถบรรทุกไฟฟ้าทันทีอาจจะยาก บริษัทจึงทำงานร่วมกับเอสซีจีพัฒนารถบรรทุกไฟฟ้า

ขณะเดียวกัน ต้องมีความพร้อมของสถานีชาร์จด้วย ตอนนี้ยังติดตั้งแค่ 2 สถานี ก็ต้องค่อย ๆ ศึกษาการขยายการติดตั้งต่อไป และนอกจากเรื่องอีวี ภายในโรงงานและคลังสินค้าของไทยเบฟเอง ก็จะทยอยติดตั้งโซลาร์รูฟท็อปบนหลังคาด้วย

สร้างซัพพลายเออร์สู่ความยั่งยืน

“ต้องใจ” กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ยังต้องเร่งเดินหน้า 3 เรื่องหลัก คือ เรื่องแรก พยายามยกมาตรฐานซัพพลายเออร์ด้านความยั่งยืน ตอนนี้ไทยเบฟทำงานร่วมกับ TSCN Founder (Thailand Supply Chain Network) ปัจจุบันมีกว่า 2,000 บริษัท เช่น เอสซีจี, ซีพีเอฟ, ธนาคารกรุงเทพ, GC, ไทยยูเนี่ยน, ไทยเบฟเวอเรจแคน, บีเจซี เป็นต้น

โดยจะมีการจัดตั้ง Thailand Sustainability Academy ขึ้นมา เพื่อให้ความรู้ผู้ประกอบการที่อยู่ในซัพพลายเชนของไทยเบฟและคู่ค้า ไม่ว่าจะเป็นรายเล็กหรือรายใหญ่ โดยจะเริ่มทำคอร์สแรกภายในไตรมาสแรกของปี 2566 ซึ่งเป็นเรื่อง carbon emission โดยจะมีนักวิชาการตามมหาวิทยาลัยต่าง ๆ รวมทั้งผู้ปฏิบัติงานจริงมาให้ความรู้

ถัดจากนั้น คงเป็นเรื่องของการเปลี่ยนสภาพภูมิอากาศเพื่อดูว่ามีผลต่อภาคธุรกิจ และการดำเนินงานของไทยเบฟมากน้อยแค่ไหน ตรงนี้ต้องมีคำตอบชัดเจนว่า ไทยเบฟมีมาตรการป้องกัน หรือมาตรการเยียวยาอย่างไร เช่น นํ้าท่วม ภัยแล้ง ภาษีคาร์บอน ภาษีการใช้นํ้า ไทยเบฟต้องกลับมาดู และสร้างแนวทางการบริหารความเสี่ยงจากเรื่องเหล่านี้