ปั้นผู้ประกอบการรุ่นใหม่ สู่นักสร้างสรรค์นวัตกรรมมืออาชีพ

ประเทศไทยจำเป็นต้องเร่งพัฒนาผู้ประกอบการเพื่อยกระดับความสามารถในการแข่งขัน และสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพ มีความแตกต่าง โดนใจลูกค้า สร้างคุณค่าและเพิ่มมูลค่าด้วยการออกแบบและนำนวัตกรรมมาใช้ เพื่อก้าวให้ทันการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นอย่างรวดเร็ว

 

ด้วยเหตุผลดังกล่าว กองพัฒนาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) จึงจัดทำโครงการพัฒนาผู้นำธุรกิจเชิงสร้างสรรค์ ภายใต้การขับเคลื่อนของศูนย์ออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ (Thai-IDC) ร่วมกับมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ, สถาบันพลาสติก และ บริษัท กันตนากรุ๊ป จำกัด (มหาชน)

“วันเพ็ญ รัตนกังวาล” ผู้อำนวยการกองพัฒนาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ กอส. กล่าวว่า ปัจจุบันรัฐบาลได้กำหนดยุทธศาสตร์ Thailand 4.0 โดยเน้นคนเป็นศูนย์กลางในการพัฒนา เพื่อให้มีศักยภาพ มีทักษะที่รอบด้าน รวมถึงส่งเสริมให้ผู้ประกอบการนำเทคโนโลยี นวัตกรรม และความคิดสร้างสรรค์ มาใช้เป็นเครื่องมือหลักในการขับเคลื่อนธุรกิจ หากทำสำเร็จจะมีส่วนสำคัญทำให้ประเทศไทยหลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลาง

เพราะอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ของไทยสามารถสร้างมูลค่าให้กับประเทศสูงถึง 1.61 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นร้อยละ 13.18 ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) เราจึงจัดทำโครงการพัฒนาผู้นำธุรกิจเชิงสร้างสรรค์ ปีงบประมาณ 2561 ขึ้น ภายใต้โครงการสร้างมูลค่าเศรษฐกิจเชิงสร้างสรรค์ของประเทศไทย มีเป้าหมายในการพัฒนาผู้ประกอบการให้ใส่ใจกับการออกแบบ และความคิดสร้างสรรค์ แทนที่จะทำธุรกิจตามแบบคนอื่นไปเรื่อย ๆ

เพราะความคิดสร้างสรรค์และการออกแบบ เป็นหนึ่งในเครื่องมือสำคัญที่จะเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน สร้างสินค้าและบริการที่แตกต่าง นำไปสู่การทำธุรกิจที่เจริญเติบโตแบบยั่งยืน

โครงการดังกล่าวเป็นโครงการใหม่ หลังจากที่เราปรับเปลี่ยนโครงสร้างองค์กรในปี 2560 จากที่รับผิดชอบดูแลเรื่องสิ่งทอ อัญมณี การท่องเที่ยว การออกแบบ อาหารไทย สถาปัตยกรรม สื่อมีเดีย ก็เพิ่มเรื่องการพัฒนาผู้นำธุรกิจเชิงสร้างสรรค์ใน 4 สาขา คือ

1.สาขาถ่ายภาพเพื่อการพาณิชย์และผลิตรูปแบบรายการโทรทัศน์ เป็นการเตรียมความพร้อมผู้ประกอบการสู่การเป็นผู้นำธุรกิจเชิงสร้างสรรค์สาขาถ่ายภาพ เพื่อการพาณิชย์และสาขาผลิตรูปแบบรายการโทรทัศน์ มีพันธมิตรสำคัญ คือ บริษัท กันตนากรุ๊ป จำกัด (มหาชน) ผู้นำธุรกิจคอนเทนต์ของไทย

2.สาขาออกแบบผลิตภัณฑ์พลาสติกและคอมโพสิต เพื่อเตรียมความพร้อมผู้ประกอบการ สู่การเป็นผู้นำธุรกิจเชิงสร้างสรรค์สาขาออกแบบผลิตภัณฑ์พลาสติก และผลิตภัณฑ์คอมโพสิต พันธมิตรสำคัญ คือ สถาบันพลาสติก

3.สาขาออกแบบตกแต่งร้าน (visual merchandising) มุ่งเน้นการพัฒนาองค์ความรู้ ทั้งศาสตร์และศิลป์ในการนำเสนอการจัดแสดงสินค้าผ่านรูปแบบการดีไซน์ สีสัน เสียงเพลง ไปจนถึงการเลือกวัสดุตกแต่ง ให้ดึงดูดใจลูกค้า และแสดงเอกลักษณ์ ดึงความเป็นตัวตนของธุรกิจตนเอง เป็นการพัฒนาผู้ประกอบการไปสู่การเป็นนักออกแบบตกแต่งร้านอย่างมืออาชีพ มีมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เป็นพันธมิตร 4.สาขาธุรกิจบริการไลฟ์สไตล์

ทั้ง 4 สาขามุ่งเน้นการพัฒนาองค์ความรู้ทั้งศาสตร์และศิลป์ เพื่อดึงความเป็นตัวตนของผู้ประกอบการ สร้างงานที่มีเอกลักษณ์ ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมโครงการจะได้ความรู้ด้าน design thinking และนำดิจิทัลเข้าไปช่วยในธุรกิจ ช่วยสร้างความมั่นใจ ยอดขาย ทำให้ธุรกิจอยู่รอดได้ สามารถแตกไลน์ธุรกิจสร้างรายได้เพิ่ม โดยจะได้พบปะผู้เชี่ยวชาญเฉพาะทางให้คำแนะนำที่เป็นรูปธรรม

“ระยะเวลาโครงการ 6 เดือน เน้นทำ workshop และแข่งขันกันสร้างสรรค์ผลงาน ซึ่งเราพร้อมจะผลักดันผลงานที่น่าสนใจไปในตลาดโลกด้วย กลุ่มเป้าหมายเป็นทั้งผู้ประกอบการ นักศึกษา และประชาชนทั่วไป โดยเฉพาะกลุ่มนักศึกษาเป็นเซลล์ที่เราพยายามผลักดันศักยภาพให้มาเป็นผู้ประกอบการรุ่นใหม่ในตลาดประเทศไทย ปีนี้มีผู้เข้าร่วมโครงการ 1,000 คน แบ่งเป็นใน กทม. 800 คน และ จ.เชียงใหม่ 200 คน สำหรับที่เชียงใหม่จะเป็นสาขาหัตถกรรม งบประมาณทั้งหมดราว 40 ล้านบาท ตั้งเป้าว่าปีหน้าจะเพิ่มจำนวนผู้เข้าร่วมโครงการเป็น 2,000 คน”

ผู้อำนวยการกองพัฒนาอุตสาหกรรมสร้างสรรค์กล่าวด้วย ในอดีตประเทศไทยเป็นเป้าหมายในการย้ายฐานการผลิตจากประเทศต่าง ๆ ด้วยต้นทุนค่าแรงที่ยังต่ำ และแผนการส่งเสริมการลงทุนจากภาครัฐ จนทำให้ระบบการผลิตของไทยย้ายจากภาคเกษตรมาสู่ภาคอุตสาหกรรมอย่างเต็มตัว ส่งผลให้เศรษฐกิจของไทยเติบโตอย่างต่อเนื่อง และต้นทุนค่าแรงเพิ่มสูงขึ้นเรื่อย ๆ

ขณะเดียวกัน การพึ่งพาฐานการผลิตจากต่างประเทศทำให้ภาคอุตสาหกรรม เน้นการนำเข้าเทคโนโลยีมากกว่าการพัฒนาเพื่อเป็นเจ้าของเทคโนโลยีเอง จึงทำให้ประเทศไทยอยู่ระหว่างกึ่งกลาง ไม่สามารถแข่งขันกับประเทศที่มีค่าแรงต่ำกว่า และไม่สามารถยกระดับไปสู่การแข่งขันในกลุ่มอุตสาหกรรมเทคโนโลยีขั้นสูงได้ อย่างไรก็ตาม คาดหวังว่าโครงการนี้จะเข้ามาพัฒนาศักยภาพของคนไทย โดยไม่มีเรื่องค่าแรงมาเป็นอุปสรรค เพราะสินค้าที่มีความสร้างสรรค์ เป็นสินค้าที่มีราคา สร้างกำไรได้มากกว่าสินค้าทั่วไป

ด้าน “อัศวิน โรจน์สง่า” ผู้เชี่ยวชาญสาขาออกแบบตกแต่งร้าน (visual merchandising) อาจารย์พิเศษคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ระบุว่า ผู้ประกอบการไทยมีจุดแข็งเกี่ยวกับภูมิปัญญาไทย ความละเอียด แต่ยังขาดความคิดสร้างสรรค์ในการจัดออกแบบร้าน เน้นการลอกเลียนแบบ ไม่ออกจากกรอบ จึงจัดโครงการเข้ามาช่วยผลักดันให้ก้าวข้ามขีดความสามารถของตัวเอง

“ปฏิเสธไม่ได้ว่าการจัดวางสินค้า มีผลต่อการเพิ่มคุณค่าให้สินค้า ทำให้ของดูมีราคา และดึงดูดลูกค้าได้มากกว่า เราจึงเน้นการสอนแบบเชิงปฏิบัติ ให้เขาลงมือจัดดิสเพลย์สินค้าให้มีความน่าสนใจ สิ่งเหล่านี้จะเป็นองค์ประกอบสำคัญในการพัฒนาผู้ประกอบการไปสู่การเป็นนักธุรกิจเชิงสร้างสรรค์มืออาชีพ พร้อมรับกับบริบทการแข่งขันของเศรษฐกิจรูปแบบใหม่ ที่ขับเคลื่อนด้วยอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ และสามารถนำไปประยุกต์ใช้เพื่อประโยชน์ทางธุรกิจ การค้า ตลอดจนการพัฒนาศักยภาพตนเองเพื่อนำไปสู่การพัฒนาขีดความสามารถในการแข่งขันที่แตกต่าง และสร้างสรรค์เศรษฐกิจรูปแบบใหม่ที่ยั่งยืนต่อไป”

นับเป็นโครงการที่จะช่วยพัฒนาผู้ประกอบการไปสู่การเป็นนักธุรกิจเชิงสร้างสรรค์มืออาชีพ พร้อมรับกับบริบทการแข่งขันที่ปรับเปลี่ยนไป ไม่อาจทำแบบเดิม ๆ ได้อีก หากทำสำเร็จ จะช่วยยกระดับผู้ประกอบการไทยสู่นักธุรกิจเชิงสร้างสรรค์มืออาชีพ สร้างรายได้และมูลค่าเพิ่มให้เศรษฐกิจประเทศเติบโตได้ก้าวกระโดด