มิจฉาชีพหลอกทำงานเว็บพนันที่ดูไบ ยึดพาสปอร์ต โดนค่าปรับหากปฏิเสธ

ใช้มือถือ
Photo: Marjan Grabowski/unsplash

กระทรวงแรงงาน เตือนคนไทย อย่าหลงเชื่อมิจฉาชีพชวนทำงานที่ดูไบผ่านโซเชียลมีเดีย เพราะจะโดนยึดพาสปอร์ต หลอกให้ทำงานชวนคนลงทุน หากปฏิเสธทำงานจะคิดค่าเสียหายจำนวนมาก

วันที่ 15 สิงหาคม 2566 ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ได้รับรายงานจากฝ่ายแรงงานประจำสถานเอกอัครราชทูต ณ กรุงอาบูดาบี สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ว่ามีแรงงานไทยถูกนายหน้าชักชวนให้มาทำงานออนไลน์ผิดกฎหมาย ที่เมืองดูไบ ประเทศสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ผ่านเฟซบุ๊ก เพจ “คนไทยในดูไบ” โดยประกาศรับสมัครพนักงานการตลาด แอดมิน และระบุอย่างชัดเจนว่าให้ทำงานเว็บพนันออนไลน์

เมื่อไปถึงนายจ้างจะยึดหนังสือเดินทางไว้ และให้หลอกคนไทยผ่านช่องทางออนไลน์เพื่อมาลงทุน หรือหลอกลวงเอาทรัพย์สิน เมื่อปฏิเสธการทำงาน นายจ้างจะคิดค่าเสียหายเป็นเงินจำนวนมาก ซึ่งที่ผ่านมามีเหยื่อหลงเชื่อและเดินทางไปทำงานหลายราย แต่เมื่อเกิดปัญหามักเอาผิดกับนายจ้างไม่ได้เนื่องจากไม่มีหลักฐาน เพราะไม่ได้รับอนุญาตให้เอามือถือเข้าสถานที่ทำงาน

นายสุชาติกล่าวเพิ่มเติมว่า ที่ผ่านมาได้กำชับกรมการจัดหางานให้ทำงานอย่างหนักเพื่อกวาดล้างมิจฉาชีพที่หลอกลวงคนไทยไปทำงานต่างประเทศ โดยเฉพาะธุรกิจลักลอบทำงานผิดกฎหมาย พร้อมประกาศเตือนและได้ประชาสัมพันธ์อย่างต่อเนื่อง

“แต่ยังพบกรณีแรงงานไทยถูกหลอกไปทำงานผิดกฎหมายอยู่บ้าง ซึ่งส่วนหนึ่งเดินทางไปด้วยความสมัครใจ จึงขอย้ำเตือนผู้ที่คิดจะลักลอบเดินทางไปทำงานต่างประเทศโดยวิธีผิดกฎหมายว่าไม่คุ้มค่า เพราะอาจไม่ได้ทำงานตามที่ตกลง ถูกบังคับใช้แรงงาน และเสี่ยงถูกทำร้ายร่างกาย”

Advertisment

ด้านนายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า กรมการจัดหางาน ต้องทำงานอย่างเข้มงวดและเพิ่มความระมัดระวังมากขึ้นเพื่อป้องกันมิให้คนไทยตกเป็นเหยื่อโดยการประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้วิธีเดินทางไปทำงานต่างประเทศถูกต้องตามกฎหมาย 5 วิธี ได้แก่

  1. บริษัทจัดหางานจัดส่ง
  2. กรมการจัดหางานจัดส่ง
  3. เดินทางไปทำงานด้วยตนเอง
  4. นายจ้างในประเทศไทยพาลูกจ้างไปทำงาน
  5. นายจ้างในประเทศไทยส่งลูกจ้างของตนไปฝึกงาน

ขอเตือนภัยคนหางานให้เท่าทันเล่ห์เหลี่ยมกลโกงของมิจฉาชีพผ่านสื่อต่าง ๆ รวมทั้งปราบปรามผู้กระทำความผิด ตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2528 และที่แก้ไขเพิ่มเติม

โดยในปีงบประมาณ พ.ศ. 2566 (ช่วงเดือนตุลาคม 2565-กรกฎาคม 2566) ที่ผ่านมาดำเนินคดี ตามมาตรา 66 กับผู้ที่กระทำการโฆษณาชักชวนคนหางานไปทำงานต่างประเทศผ่านทางสื่อสังคมออนไลน์ ข้อหา “โฆษณาการจัดหางานไม่เป็นไปตามระเบียบที่รัฐมนตรีกำหนด” จำนวน 36 คดี ตรวจพบการกระทำความผิดของสาย/นายหน้า ทั้งสิ้น 142 ราย ผู้เสียหายถึง 471 คน ค่าเสียหาย 32,750,330 บาท

ทั้งนี้ ผู้ที่สนใจไปทำงานต่างประเทศสามารถศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับประเทศที่ตนจะเดินทางไปทำงาน เพื่อป้องกันการหลอกลวงผ่านระบบ e-Service กรมการจัดหางาน ที่เว็บไซต์ doe.go.th หรือเว็บไซต์กองบริหารแรงงานไทยไปต่างประเทศ doe.go.th/overseas หรือที่ Facebook : กองทะเบียนจัดหางานกลางและคุ้มครองคนหางาน หรือสอบถามข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่สายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร.1506 กด 2 กรมการจัดหางาน

Advertisment