
อาสาสมัครเป็นการรวมกลุ่มของคนที่มีความมุ่งมั่น ค่านิยม และเป้าหมายเดียวกันที่จะบรรลุผลลัพธ์ในการทำให้ชุมชนเป็นสถานที่ที่ดีขึ้น การมีส่วนร่วมของอาสาสมัครจึงเป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพในการสนับสนุนองค์กรต่าง ๆ สร้างความตระหนักรู้เกี่ยวกับกิจกรรมขององค์กร และสร้างชุมชนที่เชื่อมโยงถึงกันทั่วประเทศ
TCP Spirit เป็นกิจกรรมอาสาของกลุ่มธุรกิจ TCP ที่ไม่เพียงเป็นการรวมกลุ่มคนรุ่นใหม่เพื่อลงมือทำเพื่อสังคม แต่พวกเขายังเรียนรู้ และมีส่วนสำคัญในการส่งต่อแรงบันดาลใจไปสู่ผู้อื่น ล่าสุด TCP สานต่อการรวมพลังคนรุ่นใหม่ “ทีมคณะเศษสร้าง ปี 2” ขับเคลื่อนแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน พร้อมเรียนรู้ความเชื่อมโยงในระบบนิเวศ เพื่อเข้าใจต้นตอของปัญหาอย่างแท้จริง
- MOTOR EXPO 2023 ยอดขายรถ 4 วันแรกทะลุ 8,300 คัน
- สพฐ.ประกาศหยุดเรียน 4-8 ธ.ค.ให้นักเรียน ม.ปลายเตรียมสอบ TGAT/TPAT
- เช็กเงินช่วยเหลือชาวนาไร่ละ 1,000 บาท เงินเข้าบัญชีวันนี้ 38 จังหวัด

กิจกรรมอาสา ภารกิจของ TCP
“อาจรีย์ สุวรรณกูล” ผู้อำนวยการฝ่ายองค์กรสัมพันธ์และการสื่อสาร กลุ่มธุรกิจ TCP กล่าวว่า กิจกรรมอาสาอยู่ในภารกิจของ TCP มาตั้งแต่เริ่มดำเนินธุรกิจ จากการส่งเสริมของ “คุณเฉลียว อยู่วิทยา” ผู้ก่อตั้ง และอดีตผู้บริหารระดับสูงของ TCP โดยผ่านแนวคิดการทำธุรกิจควบคู่ไปกับการตอบแทนสู่สังคม ซึ่งกิจกรรมอาสาของ TCP มีวิวัฒนาการตามช่วงเวลา และตามบริบทสังคมและสิ่งแวดล้อม ดังนี้
ปี 2551-2556 ทำโครงการ Red Bull Spirit เพื่อช่วยชุมชนในหลายรูปแบบ ตามที่แต่ละชุมชนต้องการหรือมีความขาดแคลน จากนั้น ปี 2557 พัฒนาสู่ “กระทิงแดงสปิริต” มีกรอบทำงานเพื่อความมั่นคงทางด้านอาหาร ทั้งเรื่องการดูแลแหล่งกำเนิดอาหาร และดูแลป่า ต่อมาปี 2561 TCP ออกเฟรมเวิร์กการพัฒนาที่ยั่งยืน ต่อมาจึงเปลี่ยนชื่อกิจกรรมอาสาเป็น TCP Spirit จากนั้นก็จัดกิจกรรมเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน ยกเว้นปี 2564 เกิดการแพร่ระบาดของโควิด-19
ปี 2561 TCP Spirit ทำภารกิจหมอต้นไม้ ผ่านพลังคนรุ่นใหม่หัวใจอาสา และภาคี สามารถช่วยกันทำให้ต้นไม้ใหญ่ในเมือง และต่างจังหวัดได้รับการดูแลอย่างถูกวิธี ปี 2562 จัดกิจกรรมพยาบาลลุ่มน้ำ ให้อาสาสมัครทุกคนมาเรียนรู้การพยาบาลรักษาลุ่มน้ำอย่างถูกวิธีตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำที่จังหวัดน่าน ปี 2563 ทำกิจกรรมพยาบาลลุ่มน้ำปี 2 ที่ลุ่มน้ำลำตะคอง อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่
พอมาปี 2565 ยกระดับโครงการด้วยการเปิดรับสมัครคนรุ่นใหม่จากทั่วประเทศเข้าร่วม “คณะเศษสร้าง” โดยคณะเศษสร้างที่ผ่านการคัดเลือกกว่า 50 คน มาร่วมเรียนรู้การจัดการขยะอย่างยั่งยืน ในกิจกรรม “แลเมืองแร่นอง ชวนมาลองจัดการขยะ” ตั้งแต่ต้นทางไปจนถึงปลายทาง ที่จังหวัดระนอง เพื่อผลักดันให้เกิดเศรษฐกิจหมุนเวียน (circular economy)
ปี 2566 ธุรกิจ TCP เพิ่มดีกรีความเข้มข้น ขับเคลื่อนแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน สู่การลงมือปฏิบัติจริง นำทีมคณะเศษสร้าง ปี 2 “แอ่วเหนือขึ้นดอย ตามรอยวิถีไร้ขยะ” พาอาสาสมัคร 60 คน เรียนรู้ เจาะลึกแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียน ผ่านประสบการณ์จริงในหลักสูตรพิเศษฉบับ “ดอยตุงโมเดล” ต้นแบบการพัฒนาครบวงจรเพื่อความยั่งยืน จากโครงการพัฒนาดอยตุง จังหวัดเชียงราย
จนครบลูปตั้งแต่กิจกรรมคัดแยกขยะ ซึ่งศูนย์จัดการขยะที่ดอยตุงสามารถแยกถึง 44 ประเภท ทั้งยังนำวัสดุกลับมาใช้ใหม่ เพื่อสร้างมูลค่าให้กับวัสดุ และสร้างรายได้ให้กับชุมชน
“อาจรีย์” อธิบายว่า คณะเศษสร้างในอนาคตมีเป้าหมายเชื่อมโยงความยั่งยืน และคงแคแร็กเตอร์ที่ตอบโจทย์ปัญหาเร่งด่วนของสังคม เน้นการลงมือทำจริง และการสร้างเครือข่าย ซึ่งคณะเศษสร้างเป็นเสมือนการเรียนรู้ในมหาวิทยาลัยในชีวิตจริง โดยมีรายวิชารักษ์โลก ดังนี้
หนึ่ง วิชากายวิภาคของ “เศษ” : เข้าใจบริบทของสำนักงานและโรงงานผลิตผ่านของเหลือหรือขยะ และจะลงมือจริง ไม่ใช่แค่แยกขยะที่เราบริโภค แต่ลงลึกถึงขยะปลายทางที่สามารถแยกได้ถึง 44 ประเภท และทุกประเภทสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้
สอง วิชาสร้างโอกาสปลุกปัญญา : ลงมือเปลี่ยนขยะให้กลายเป็นวัสดุ เช่น เปลี่ยนขยะพลาสติกให้กลายเป็นกระถางใส่ต้นไม้ จากเปลือกหัวหอมให้กลายเป็นสีย้อมผ้า หรือจากห่อขนมกลายเป็นเฟอร์นิเจอร์ และปุ๋ยไส้เดือนที่มีกระบวนการ circular อย่างน่าอัศจรรย์ ซึ่งอาสาจะใช้ความคิดสร้างสรรค์สร้างเศษให้กลายเป็นของใช้หลากหลาย
สาม วิชาการเดินทางของขยะ : ร่วมแบ่งปันเรื่องราวของขยะผ่านผลงานชิ้นเอกที่เหล่าอาสาสร้างขึ้นว่าเส้นทางของขยะ และกระบวนการชุบชีวิตขยะต้องทำอย่างไร สามารถนำกลับไปทำเองที่บ้านหรือต่อยอดไอเดียเพิ่มมูลค่า สร้างวิถีไร้ขยะได้อีกหลากหลาย
สี่ วิชาสร้างคุณค่าให้กับขยะ กลายเป็นเศษวัสดุ : อาสาจะได้ร่วมกันออกแรงซ่อมแซมถนนที่ชำรุด โดยใช้เศษโมลด์ที่เหลือจากกระบวนการผลิตเซรามิกร่วมกับปูน และเปลือกแมคาเดเมีย ถมถนนที่เป็นหลุมเป็นร่องให้เรียบ เพื่อส่งเสริมความปลอดภัยในการสัญจรของผู้คนในชุมชน
ห้า วิชาปลูกคนปลูกป่า วิถีวงกลม : พาอาสาทุกคนไปเดินป่า ฟังเสียงนก ใช้เวลาสัมผัสกับธรรมชาติ บนเส้นทางที่ตัดผ่านพื้นที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นป่าใช้สอย ป่าเศรษฐกิจ และป่าอนุรักษ์ สะท้อนให้เห็นถึงการอยู่ร่วมกันระหว่างคนกับธรรมชาติอย่างยั่งยืน
หก วิชาดวงดาวในจักรวาล : ชวนกันมาถอดบทเรียนเศรษฐกิจหมุนเวียนผ่าน Butterfly Diagram เรียนรู้ความเชื่อมโยงระหว่างตัวเรากับธรรมชาติว่าทุกอย่างล้วนส่งผลกระทบต่อเนื่องกัน แล้วจะเข้าใจว่า “เด็ดดอกไม้สะเทือนถึงดวงดาว” เป็นคำกล่าวที่ไม่ไกลเกินจริง
เจ็ด วิทยานิพนธ์ : ตกตะกอนความคิด และต่อยอดความสร้างสรรค์จากกิจกรรมที่เรียนรู้ทั้งหมด กลั่นออกมาเป็น THESIS การจัดการ “เศษ” เพื่อ “สร้าง” ประโยชน์ ส่งต่อไอเดียดี ๆ และพลังสร้างการเปลี่ยนแปลง

“อาชา เชอมื่อ” เจ้าหน้าที่ฝ่ายสิทธิมนุษยชน และเจ้าหน้าที่ปฏิบัติการ มูลนิธิดูแลเด็กด้อยโอกาสและเปราะบางในพื้นที่ดอย และกลุ่มชาติพันธุ์ในจังหวัดเชียงราย หนึ่งในทีมคณะเศษสร้างของ TCP Spirit ที่รับหน้าที่พี่เลี้ยงส่งต่อพลังสู่ปี 2 กล่าวว่า
กิจกรรมคณะเศษสร้างตรงกับความสนใจของตนเอง และทำงานเพื่อสังคมอยู่แล้ว จึงสมัครเข้าร่วมทีมปี 1 เพราะต้องการเรียนรู้เรื่องการจัดการขยะมากขึ้น เนื่องจากปัญหาขยะเป็นหนึ่งในปัญหาที่จำเป็น ต้องได้รับการแก้ไขอย่างเร่งด่วนในประเทศไทย
“การจัดการขยะเริ่มจากไมนด์เซตที่ต้องการลดใช้ทรัพยากรของโลกใบนี้ และใช้อย่างคุ้มค่า จากนั้นต้องสร้างนิสัยคัดแยกขยะ และต่อยอดไปสู่จุดเริ่มต้นของเศรษฐกิจหมุนเวียน ผมนำองค์ความรู้ที่ได้เรียนรู้จาก TCP Spirit ไปต่อยอดการทำงานในมูลนิธิดูแลเด็กด้อยโอกาส และเปราะบางในพื้นที่ดอย และกลุ่มชาติพันธุ์ในจังหวัดเชียงราย สอนให้เด็ก ๆ รู้เท่าทันโลก และสามารถเติบโตเป็นผู้ใหญ่ที่ให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อม และจัดการขยะในพื้นที่ของตนเองได้อย่างยั่งยืน”
“ฐิติวรลดา เตียวตระกูล” Content Creator ที่ผันตัวมาเป็นนักวิชาการสิ่งแวดล้อมอิสระ และหนึ่งในทีมคณะเศษสร้าง TCP Spirit รุ่นพี่ ปีที่ 1 กล่าวว่า การเข้าร่วมโครงการช่วยให้ตนเองต่อยอดทำงานเพื่อสังคมได้ ทำให้เจอคนจากหลากหลายที่มา เพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ร่วมกัน
“ดิฉันสนใจนำองค์ความรู้ที่ได้จาก TCP Spirit ไปทำเรื่องการกำจัดขยะเศษอาหาร เพราะเป็นหนึ่งในเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG) ซึ่ง United Nations (UN) ได้ตั้งเป้าให้ในปี ค.ศ. 2030 ขยะอาหารที่เกิดจากการจำหน่ายและการบริโภคทั่วโลกต้องลดลง 50% ที่สำคัญ ขยะอาหารยังเป็นอุปสรรคต่อการสร้าง circular economy ด้วย เพราะสร้างความปนเปื้อนในขยะประเภทอื่น ๆ ทำให้ดูแลจัดการขยะยากขึ้น”
นอกจากนั้น ยังอยากสร้างศูนย์การเรียนรู้ด้านความยั่งยืนของตนเองที่จังหวัดสุโขทัย โดยจะใช้องค์ความรู้ที่เรียนในโครงการไปปฏิบัติจริง เช่น การสร้างมูลค่าให้กับวัสดุ สร้างรายได้ให้ชุมชน และใช้ The Butterfly Diagram : Visualizing the Circular Economy บริหารวัฏจักรหมุนเวียน เพราะเป็นเครื่องมือที่ทำให้เรามองเห็นความเชื่อมโยงระหว่างเรากับสิ่งแวดล้อมรอบ ๆ ตัวที่มีผลกระทบต่อกัน เป็นจุดเริ่มต้นในการทำความเข้าใจ และเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม ซึ่งกำลังเป็นวิกฤตของโลกในปัจจุบัน
นับว่า TCP Spirit คือการปลุกพลังจิตอาสาสู่การลงมือทำเพื่อโลกที่ยั่งยืน สร้างเครือข่ายอาสาของคนรุ่นใหม่ที่แข็งแกร่ง พร้อมทำสิ่งดี ๆ เพื่อสังคม