ถอดบทเรียน “ทีมหมูป่า” ปรากฏการณ์รวมใจเป็นหนึ่งเดียว

AFP PHOTO / Lillian SUWANRUMPHA

นับตั้งแต่วันที่ 23 มิถุนายน 2561 ที่น้อง ๆ เยาวชนและโค้ชทีมหมูป่าอะคาเดมีจำนวน 13 คน หายเข้าไปในถ้ำที่วนอุทยานถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอน ต.โป่งผา อ.แม่สาย จ.เชียงราย จนทำให้เกิดปฏิบัติการค้นหาน้อง ๆ และโค้ชที่ติดอยู่ภายในถ้ำ ซึ่งมีหน่วยงานหลายภาคส่วนมาร่วมกันปฏิบัติงานในครั้งนี้ โดยมี “ณรงค์ศักดิ์ โอสถธนากร” ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย(ในขณะนั้น) เป็นผู้บัญชาการทีมกู้ภัยเฉพาะกิจ (ล่าสุดเป็นผู้ว่าราชการจังหวัดพะเยา)

จนเมื่อเวลา 21.45 น.ของวันที่ 2 กรกฎาคม 2561 มีรายงานว่าพบเด็กและโค้ชทั้ง 13 คน กระทั่งในเวลาต่อมาผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงรายจึงแถลงข่าวยืนยันว่าพบทุกคนแล้วจริง ๆ และทุกคนยังปลอดภัย โดยพร้อมเร่งวางแผนเพื่อเข้าช่วยเหลือให้พวกเขาออกมาโดยเร็วที่สุด

สำหรับการปฏิบัติการจนสำเร็จผลในครั้งนี้ ถือว่ามาจากการทำงานร่วมกันอย่างบูรณาการ ไม่ว่าจะเป็นเจ้าหน้าที่หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง อาทิ ทหาร, ตำรวจ, ทีมกู้ภัย, อาสาสมัครกู้ภัย, อาสาสมัครจิตอาสา รวมทั้งทีมกู้ภัย, ทีมนักดำน้ำ และอาสาสมัครอื่น ๆ ที่มาจากต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นทีมกู้ภัยจากอังกฤษ, สหรัฐอเมริกา, ญี่ปุ่น, ออสเตรเลีย, จีน, ลาว และเมียนมา เป็นต้น


นอกจากนี้ ยังมีทีมจิตอาสาภาคประชาชน ตลอดจนภาคเอกชนและหน่วยงานต่าง ๆ จากทั่วทุกสารทิศมาเป็นกองหนุนช่วยสนับสนุนการปฏิบัติงานครั้งสำคัญนี้ด้วยเช่นกัน ยกตัวอย่าง ปตท.สผ. ที่นำเทคโนโลยีหุ่นยนต์ใต้น้ำอัตโนมัติ (Au-tonomous Underwater Vehicles : AUV) ซึ่งมีโซนาร์สแกนเนอร์สามารถตรวจจับสิ่งของต่าง ๆ ได้ในสภาพน้ำขุ่น และโดรน (drone) ที่ช่วยสนับสนุนการทำแผนที่ 3 มิติ รวมถึงหุ่นยนต์ตรวจสอบภายในท่อ (In-Pipe In-spection Robot : IPIR) และยานยนต์ใต้น้ำเพื่อควบคุมระยะไกลขนาดเล็ก (Mini Remotely Operated Underwater Vehicle : Mini-ROV)

ขณะที่ บมจ.ช.การช่าง นำเจ้าหน้าที่ 19 คน พร้อมกับบรรทุกเครื่องกำเนิดไฟฟ้าขนาด 500 KBA จำนวน 1 เครื่อง และขนาด 30 KBA จำนวน 3 เครื่อง พร้อมเจ้าหน้าที่จิตอาสากู้ภัยน่านเข้าไปสมทบทีมค้นหา นอกจากนี้ บริษัทเชฟรอนประเทศไทย สำรวจและผลิตปิโตรเลียม ยังจัดส่งวัสดุอุปกรณ์ต่าง ๆ ไปช่วยสนับสนุนภารกิจของหน่วยซีล และหน่วยกู้ภัย ทั้งท่อน้ำแบบดัดงอได้ 2,000 เมตร, ถังอัดอากาศประมาณ 200 ถัง และสายปรับกำลังดัน (regulator)

ขณะเดียวกัน โอเปอเรเตอร์ทั้งหมด 5 ราย ได้แก่ เอไอเอส, ดีแทค, ทรู,ทีโอที และแคท เทเลคอม ได้เข้าไปในพื้นที่เพื่อหันเสาสัญญาณไปทางปากถ้ำ พร้อมกับขยายช่องสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่ให้สามารถรับโทรศัพท์ได้เร็วและกว้างขึ้น

ไม่เพียงเท่านี้ ในส่วนของงานบริการด้านอาหารก็มี บมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร (ซีพีเอฟ) ที่นำข้าวสาร, ไข่ไก่ และน้ำดื่มมาให้กับเจ้าหน้าที่ ส่วน บริษัท บุญรอดบริวเวอรี่ จำกัด ได้ส่งนักศึกษาเครือข่ายสิงห์อาสาจาก มหาวิทยาลัยแม่ฟ้าหลวง จ.เชียงราย และตัวแทนจำหน่ายสิงห์พายัพมามอบน้ำดื่ม 5,000 ขวด พร้อมกับทำข้าวกล่องแจกจ่ายให้กับจิตอาสาสาธารณะที่เข้ามาปฏิบัติการด้วย

สำหรับภาคการศึกษามี คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมส่งทีมผู้เชี่ยวชาญด้านระบบสารสนเทศ และวิศวกรรมโยธา โดยมีทั้งการค้นหาพิกัดทางภูมิศาสตร์ของถ้ำหลวงจากดาวเทียม ณ พื้นที่กรุงเทพฯ และมีการเดินเท้าค้นหาตามพิกัดจีพีเอส พร้อมคำนวณกำลังการสูบน้ำเพื่อให้ได้ระดับน้ำที่เหมาะสม

สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ส่งไม้ตรวจวัดกระแสไฟฟ้ารั่วจำนวน50 ด้าม สำหรับเป็นเครื่องป้องกันไม่ให้เกิดเหตุการณ์ไฟฟ้าชอร์ตระหว่างการช่วยเหลือ รวมถึงศูนย์วิจัยเฉพาะทางวิศวกรรมอวกาศและทะเล สำนักวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ ได้ส่งทีมงานและนักศึกษาทีมวิจัยจำนวน 14 คน พร้อมอุปกรณ์ช่วยยานขับเคลื่อนใต้น้ำชนิดใช้สายควบคุม และโดรนสำรวจทางอากาศจำนวน 3 เครื่อง ไปเป็นทีมสนับสนุนช่วยเหลือทีมเจ้าหน้าที่ดำน้ำอีกด้วย

โดยปรากฏการณ์ของการบูรณาการความร่วมมือครั้งนี้เป็นภาพที่แสดงให้เห็นถึง “น้ำใจ” ของคนไทยและคนทั่วโลกที่ต่างหยิบยื่นมือเข้ามาช่วยเหลือทีมหมูป่าอะคาเดมีอย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ซึ่ง “ดร.พิพัฒน์ ยอดพฤติการ” ประธานสถาบันไทยพัฒน์ วิเคราะห์ถึงปรากฏการณ์ครั้งนี้ว่า ปรากฏการณ์ความร่วมมือของหน่วยงานต่าง ๆ ที่ร่วมกันทำงานอย่างบูรณาการ จนทำให้สามารถค้นพบน้อง ๆ เยาวชนและโค้ชทั้ง 13 ชีวิตเป็นเรื่องที่น่ายินดีอย่างมาก

“เพราะภารกิจการค้นหาน้อง ๆ 13 ชีวิต ทีมหมูป่าอะคาเดมีที่ติดอยู่ในถ้ำหลวง-ขุนน้ำนางนอนเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อนมาก แต่ที่สุดภารกิจแรกก็ประสบความสำเร็จและปลอดภัยทุกคน ระหว่างนี้คงเหลือภารกิจต่อไปในการนำน้อง ๆ และโค้ชออกมาจากถ้ำ ซึ่งคงต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่ง เนื่องจากเส้นทางยังเต็มไปด้วยน้ำป่าไหลหลากที่ยังท่วมอยู่ภายในถ้ำ”

จากสถานการณ์นี้ทำให้เห็นความร่วมไม้ร่วมมือจากทุกภาคส่วน ทั้งในประเทศและต่างประเทศที่ส่งความช่วยเหลือ ทั้งบุคลากรและอุปกรณ์ต่าง ๆ ที่จำเป็นหรือเป็นที่ต้องการในการดำเนินภารกิจความช่วยเหลือครั้งนี้ สำหรับคนไทยปรากฏการณ์นี้แสดงให้เห็นถึงความร่วมแรงร่วมใจขนานใหญ่ที่สะท้อนถึงอัตลักษณ์หนึ่ง คือ ความมีน้ำใจให้การช่วยเหลือโดยไม่คิดถึงค่าตอบแทนใด ๆ รวมทั้งความเสียสละ โดยคิดถึงชีวิตของน้อง ๆ ที่ประสบเหตุเป็นอันดับแรก ซึ่งจะเห็นได้จากกรณีน้ำฝนสะสมและการสูบน้ำออกจากถ้ำลงลำรางสาธารณะ ทำให้น้ำท่วมนาข้าวกว่า 1,300 ไร่ ใน 3 ตำบล ทั้งยังมีเกษตรกรได้รับผลกระทบกว่า 100 ราย

“อีกกรณีหนึ่งคือ คุณรวินท์มาศ ลือเลิศ เจ้าของโรงซักผ้าที่รับซักรีดเสื้อผ้าให้กับเจ้าหน้าที่ที่ปฏิบัติงานในภารกิจค้นหาโดยไม่คิดเงิน จากแนวคิดที่ต้องการช่วยในสิ่งที่ตัวเองถนัด ซึ่งในแง่ของความรับผิดชอบต่อสังคม (CSR) เรียกว่าเป็นการอาสาที่ใช้ทักษะในวิชาชีพ (professional skills volunteering) เป็นรูปแบบของการทำงานบริการสังคม (pro bono engagement) ที่ไม่คิดค่าวิชาชีพเหมือนที่ทำปกติในธุรกิจ”

กรณีนี้ถือเป็นการช่วยเหลือที่อยากเรียกว่าเป็นการช่วยเหลือจากมืออาชีพในสาขาวิชาชีพที่ตนเองดำเนินอยู่ โดยมีค่าตัวค่าแรงมาสู่มืออาสาที่ใช้ทักษะในวิชาชีพนั้นโดยไม่คิดค่าตอบแทน อย่างไรก็ตาม อาสาสมัครเหล่านี้ควรมีการประเมินตนเองในเบื้องต้นว่าทักษะวิชาชีพที่มีนั้นเป็นที่ต้องการในสถานการณ์หรือไม่ อย่างไร และสามารถเติมเต็มในส่วนงานที่ยังไม่ได้รับการตอบสนองอย่างเพียงพอในสถาานการณ์นั้น ๆ หรือไม่

“ดร.พิพัฒน์” กล่าวอีกว่า ที่ใช้คำว่า มืออาสาเนื่องจากต้องการชี้ให้เห็นว่ามีกลุ่มอาสาสมัครที่พร้อมยื่นมือมาช่วยทันที โดยใช้ทักษะวิชาชีพเป็นทุนเดิม ซึ่งจะต่างกับคำว่า จิตอาสาที่เป็นการอาสาแบบทั่วไป (volunteering) หรือเป็นกลุ่มผู้ที่มีจิตคิดจะช่วย แต่จะต้องได้รับการฝึกฝนอย่างดีเสียก่อน ก่อนจะเข้าช่วยเหลือ โดยมิได้ใช้ศักยภาพหรือความถนัดที่ตนมีอยู่เป็นทุนเดิม

“คล้ายกับการทำงานเพื่อส่วนรวมในยุคปัจจุบัน ที่ความต้องการของสังคมต่อกลุ่มอาสาสมัครที่มาร่วมกันคิดโดยให้คนอื่นทำ (think tank) ซึ่งให้ค่ากับความคิดอ่านของผู้มีประสบการณ์เหล่านั้น จะมีน้ำหนักความสำคัญลดลงไป ขณะที่ความต้องการของสังคม ต่ออาสาสมัครที่มารวมตัวกันลงมือทำ (action tank) จะมีความสำคัญเพิ่มมากขึ้น โดยเน้นที่คุณค่าของผลลัพธ์จากการกระทำในแบบ collective action ซึ่งสามารถส่งผลดีต่อสังคมในวงกว้างมากกว่าการทำงานโดยลำพัง หรือหน่วยงานเดียว”

อีกเรื่องหนึ่งที่สามารถถอดบทเรียนจากสถานการณ์ถ้ำหลวงนี้ คือ การจัดการความช่วยเหลือที่เป็นเอกภาพ แม้จะมีองค์กร หน่วยงาน หรือกลุ่มบุคคลที่เข้าร่วมทำงานเป็นจำนวนมาก แต่กลับมีการวางแผนการช่วยเหลือเป็นแผนกลางฉบับเดียว จนทำให้เกิดผู้นำในสถานการณ์ คือ คุณณรงค์ศักดิ์โอสถธนากร ผู้ว่าราชการจังหวัดเชียงราย ซึ่งเป็นผู้กำกับดูแลภาพรวมเองทั้งหมด

“โดยวิธีการที่ใช้ในการจัดการความช่วยเหลือในสถานการณ์ครั้งนี้ คือ การนำ-การประสานงาน-การติดตาม ได้แก่ การนำแผนกลางที่มีการวางงานต่าง ๆ มาปฏิบัติด้วยการประสานงานชุดปฏิบัติการต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง และผ่านการคัดกรองแล้วมาดำเนินการตามแผน ทั้งยังใช้การติดตามเป็นระยะ ๆ อย่างต่อเนื่อง เพื่อทบทวนความเป็นไปได้ในการบรรลุเป้าหมายให้ได้ตามแผน รวมถึงการปรับเปลี่ยนการดำเนินงานกรณีที่มีปัจจัยหรือเงื่อนไขของสถานการณ์เปลี่ยนแปลงไป

“เรื่องสุดท้ายที่เกี่ยวกับบุคคลวงนอกที่ติดตามสถานการณ์นี้ น่าจะเรียกได้ว่าคนไทยทุกคนที่ส่งใจให้ภารกิจช่วยเหลือนี้สำเร็จลุล่วง เป็นคนที่อยู่ในกลุ่มที่ให้ความชื่นชม ยินดีกับทั้งผู้รับความช่วยเหลือและผู้ให้ความช่วยเหลือ เมื่อทราบว่าน้อง ๆ ทุกคนปลอดภัย และกำลังใจที่ได้รับจากการพาน้อง ๆ ทั้ง 13 ชีวิตออกจากถ้ำ”

จึงนับเป็นปรากฏการณ์ความร่วมมือของทุกภาคส่วนทั้งในและต่างประเทศ ที่มีความท้าทายเป็นอย่างมาก เพราะเป็นเหตุการณ์ที่ยังไม่เคยเกิดขึ้นในประเทศไทยมาก่อน