ตลท.ปลื้มบจ.ไทยทั้งตลาด สร้างสมดุลระหว่างกำไรเพื่อความอยู่รอดและยั่งยืน ดึงทรู-ซีพี ร่วมแชร์ความรู้ให้บ.ขนาดกลาง

ตลท.เผย บจ.ไทยกว่า 98% เล็งเห็นความยั่งยืนมุ่งเน้นเรื่อง ESG สอดรับมาตรฐานขั้นต่ำที่ ก.ล.ต.กำหนด ปลื้ม บจ.ไทยบริหารความเสี่ยงได้ดีกว่าในหลายประเทศ สร้างความสมดุลระหว่างกำไร-ความยั่งยืน โชว์โมเดล “เศรษฐกิจพอเพียง” เป็น Showcase ให้ทั่วโลกเห็น พร้อมเชิญชวนบริษัทใหญ่ เช่นทรู-ซีพี แชร์แนวทางสร้างความยั่งยืนแก่บริษัทขนาดกลาง

นายกฤษฎา เสกตระกูล รองผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวในงานสัมมนา “SDGs ก้าวใหม่ธุรกิจไทย จากทุนหมู่บ้าน ถึงกระดานหุ้นโลก” ว่าบริษัทที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯทั้งหมด 688 บริษัทจะต้องรายงานเรื่องการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืนหรือ ESG ในการรายงานผลประกอบการประจำปี ซึ่งถือเป็นมาตรฐานขั้นต่ำที่สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กำหนด โดยตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ส่งเสริมให้บริษัทจดทะเบียนทำเรื่อง ESG ซึ่งสามารถครอบคลุมเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ทั้งนี้มีบริษัทถึง 98% ได้รายงานเรื่อง ESG อย่างครบถ้วน โดยรายงานนี้จะถูกเปิดเผยให้แก่นักลงทุนทั้งรายย่อยและสถาบันทั้งในและต่างประเทศเพื่อให้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจในการเลือกบริษัทที่ดี ซึ่งบริษัทที่ดำเนินการเรื่อง ESG นี้จะทำให้ความเสี่ยงในระยะยาวลดลง ซึ่งปัจจุบันบริษัทไทยถือว่าสามารถบริหารความเสี่ยงได้ดีกว่าประเทศอื่นๆ

โดยหากมองย้อนกลับไปในยุคทองของตลาดหลักทรัพย์ฯ ในปี พ.ศ.2528 รัฐบาลได้หาวิธีเติบโตให้แก่ประเทศ ผ่าน Eastern seaboard เช่น แหลมฉบัง, มาบตะพุด แต่สิ่งที่แลกกลับมาคือสิ่งแวดล้อมที่เสื่อมโทรมไปค่อนข้างมาก ดังนั้น บริษัทต่างๆ ที่ทำกำไรได้ควรต้องหันมาคืนให้สังคม ซึ่งบริษัทต่างๆก็เข้าใจเรื่องนี้และหันมาทำก็ทำได้ดีมากๆ และในปัจจุบันบริษัทต่างๆ ได้ให้ความสำคัญมากขึ้นกับการสร้างความสมดุลระหว่างความอยู่รอดของบริษัทและความยั่งยืน

“เนื่องจากตลท.เป็นกลไกของตลาดทุนไทย คือ การเปิดให้ระดมเงินจากคนที่มีเงินเหลือ ให้แก่อีกฝั่งคือภาคธุรกิจที่ต้องการระดมเงินทุนไปขยายกิจการ กลไกตลาดทุนนี้ทำให้ 2ฝั่งได้มาเจอกัน และขับเคลื่อนธุรกิจและเศรษฐกิจประเทศ เมื่อฝั่งหนึ่ง(คนมีเงินเหลือ)ก็ต้องการมีwealth (ความมั่นคั่งจากการลงทุน) อีกฝั่งต้องการเอาเงินไปทำธุรกิจ ซึ่งก็ต้องมีกำไรออกมา “นายกฤษฎากล่าว

โดยนายกฤษฎา มองว่า การอยู่รอดเป็นความยั่งยืนชนิดหนึ่ง และเป็นไปไม่ได้เลยที่บริษัททำความดีแล้วจะอยู่ไม่รอด การพัฒนาอย่างยั่งยืนไส้ในไม่ใช่การที่จะทำธุรกิจให้ได้กำไรเพียงแค่นั้น แต่ยังต้องคำนึงถึงเรื่อง ESG ด้วย และนอกจากที่ไทยได้มีโมเดลระดับสากลอย่าง ESG แล้ว ยังมีโมเดลปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงอีกด้วย ซึ่งมองว่าโมเดลที่ทำอยู่ตอนนี้เป็นโมเดลเฉพาะของไทยและจะเป็นโมเดลที่แสดงให้ทั่วโลกเห็น (Showcase) ได้

“ถ้าเราให้ผลการดำเนินงานทางด้านการเงินสูงไปเรื่อยๆ แต่ขณะที่สิ่งแวดล้อมเสื่อมโทรมยังลำบากอยู่ ก็ถือว่ามีมูลค่าธุรกิจที่มีความเสี่ยงและไม่ได้ยั่งยืน และผมคิดว่าในระยะสั้นและยาวบริษัทก็ต้องมีกำไรอยู่แล้ว แต่บริษัทที่ทำเรื่อง ESG จะมีกำไรระยะยาว และผลตอบแทนไม่ได้อยู่ที่กำไรอย่างเดียว แต่อยู่ที่ราคาหุ้น เพราะฉะนั้นการทำให้สมดุล ไม่ใช่ตั้งใจทำให้ได้กำไร แต่บริษัทต้องมีธรรมมาภิบาลในการบริหารจัดการด้วย” นายกฤษฎากล่าว

ทั้งนี้บริษัทที่ดำเนินงานเรื่อง ESG ได้ดี สามารถสะท้อนผ่านมาตรฐานการวัดในดัชนีบางประเภท เช่น THSI ที่แสดงให้เห็นตัวอย่างของบริษัทที่จะเป็นต้นแบบที่ให้คนอื่นเห็นวิธีในการทำ ESG ที่ดี ซึ่งควรจะถ่ายทอดความรู้ไปยังบริษัทกลางและบริษัทเล็กให้ได้รับแนวทางด้วย นอกจากนี้ถ้าประเทศจะถูกปฏิรูปไปในทางที่ดีขึ้น การให้ความรู้เรื่องการดูและและแบ่งปัน (Care and Share) ควรจะถูกเผยแพร่อย่างกว้างขวางด้วย
“เราเอาคนที่เป็นผุ้นำตรงนี้ มาให้ความรู้บริษัทกลางที่มีอยู่มาก ที่ต้องการให้เห็นว่าทำอย่างไรบ้าง เช่น ทรู ซีพี คิดว่าก็ช่วยเราแชร์ได้เหมือนกัน”นายกฤษฎากล่าว