“เชื่อมั่นในคุณค่าของคน” คีย์ซักเซส “มิตรผล” คว้าชัย

นับเป็นปีที่ 3 ติดต่อกันที่ “กลุ่มมิตรผล” คว้ารางวัล “สุดยอดนายจ้างดีเด่นแห่งประเทศไทย” (AON Best Employers Thailand) ซึ่งจัดโดยเอออน ฮิววิท ที่ปรึกษาด้านพัฒนาองค์กรและทรัพยากรบุคคลผู้เชี่ยวชาญระดับโลก ร่วมกับสถาบันบัณฑิตบริหารธุรกิจ ศศินทร์ แห่งจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

สำหรับปีนี้มิตรผลส่งบริษัทในกลุ่มเข้าร่วมโครงการทั้งสิ้น 6 บริษัท ประกอบด้วย โรงงานน้ำตาลมิตรผล ด่านช้าง, โรงงานน้ำตาลสิงห์บุรี, โรงงานน้ำตาลมิตรกาฬสินธุ์, บริษัท มิตรผล ไบโอฟูเอล จำกัด (กาฬสินธุ์), บริษัท มิตรผล ไบโอฟูเอล จำกัด (ภูเขียว) และ บริษัท พาเนล พลัส จำกัด (หาดใหญ่) ซึ่งทั้ง 6 บริษัทสามารถคว้ารางวัลสุดยอดนายจ้างดีเด่นแห่งประเทศไทย ประจำปี 2561 ได้ทั้งหมด จึงนับเป็นองค์กรที่ทำสถิติคว้ารางวัลมากที่สุดจากเวทีในปีนี้

การได้รับรางวัลดังกล่าวถึง 3 ปีซ้อน นับเป็นเครื่องยืนยันได้ดีถึงเจตนารมณ์ และประสิทธิภาพของกลุ่มมิตรผลในเรื่องการบริหารงานด้านทรัพยากรบุคคล โดยเรื่องนี้“บวรนันท์ ทองกัลยา” รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ กลุ่มงานทรัพยากรบุคคลและบริหาร กลุ่มมิตรผล บอกว่า การเข้าร่วมโครงการสุดยอดนายจ้างดีเด่นแห่งประเทศไทยเป็นเหมือนการมีเครื่องมือประเมินขีดความสามารถในการบริหารทรัพยากรมนุษย์ขององค์กร เพราะเราเชื่อว่าการทำอะไรก็ตามที่ชี้วัดได้ จะช่วยให้เราจัดการได้ และโครงการนี้มีความเที่ยงตรงและน่าเชื่อถือ

“ปัจจุบันเป็นยุคที่คนเจเนอเรชั่น Y ทำงานในองค์กรเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งคนกลุ่มนี้ไม่ต้องการทำงานจำเจ หรือทำงานที่เดิมเป็นเวลานาน จึงเป็นความท้าทายในการบริหารความผูกพันของพนักงานในหลาย ๆ องค์กร สำหรับกลุ่มมิตรผลเรามีพนักงานในประเทศไทยประมาณ7 พันคน และกว่า 70% เป็นคนเจเนอเรชั่น Y ส่วนใหญ่เราเปิดรับคนเรียนจบใหม่ที่ไม่มีประสบการณ์มาทำงาน”

“เพราะเราเชื่อมั่นในระบบการพัฒนาคนของเราว่าสามารถสร้างพนักงานใหม่ให้มีความสามารถในการทำงานได้ดี โดยเราใช้แนวคิด 70:20:10 แบ่งเป็นการเรียนรู้จากประสบการณ์ตรง 70% การเรียนรู้จากผู้อื่น 20% และการเรียนรู้ในห้อง 10% ถึงแม้คนเจน Y จะสร้างความท้าทายเรื่องความผูกพันกับองค์กร แต่สำหรับกลุ่มมิตรผล เราสามารถบริหารความท้าทายดังกล่าวได้ดี โดยปัจจัยที่ทำให้เราประสบความสำเร็จในเรื่องนี้ คือ เจตนารมณ์ และแนวทางในการบริหารงานทรัพยากรบุคคล ในแนวคิดเชื่อมั่นในคุณค่าของคน”

“การบริหารคนด้วยแนวคิดดังกล่าว ยังทำให้เราได้รับรางวัลสุดยอดนายจ้างดีเด่นแห่งประเทศไทย และกลายเป็นองค์กรที่มีอัตราการลาออกของพนักงานต่ำกว่าตลาด โดยของเราอยู่ที่ 6% ต่อปี ขณะที่ค่าเฉลี่ยของตลาดอยู่ที่ 12% ต่อปี”

“บวรนันท์” อธิบายต่อว่า แนวคิดเชื่อมั่นในคุณค่าของคน เน้นการบริหารจัดการที่ 4 โฟกัส ได้แก่ หนึ่ง inspirational leader เป็นการพัฒนาผู้นำในองค์กรให้เป็นผู้นำที่ช่วยสร้างแรงบันดาลใจให้พนักงาน เพราะเรากำหนดทิศทางว่าในปี 2563 เราจะเป็น world class organization เป็นองค์กรที่มีขีดความสามารถระดับโลก

“ดังนั้น การที่บริบทขององค์กรจะมีการเปลี่ยนแปลง ผู้นำในองค์กรต้องสามารถสร้างแรงบันดาลใจได้ เพื่อสร้างทีมที่แข็งแกร่ง และพัฒนาความสามารถของพนักงานไปสู่ระดับที่สูงขึ้น และมีศักยภาพมากขึ้นให้ได้ ภายใต้ inspirational leader เราจึงจัดให้มีโครงการ CEO See You เพื่อเปิดโอกาสให้พนักงาน Gen Y พบและพูดคุยกับ CEO ด้วยบรรยากาศเป็นกันเอง เพื่อถ่ายทอดประสบการณ์ และสร้างแรงบันดาลใจ”

“ทั้งยังรับฟังมุมมองของคนรุ่นใหม่ ซึ่งเป็นกำลังสำคัญสำหรับการขับเคลื่อนองค์กรในอนาคต นอกจากนั้นยังมีโครงการพัฒนาทักษะการโค้ชระดับหัวหน้างาน ด้วยแนวทางการโค้ชในแบบของมิตรผลที่พัฒนามาจากแนวทางการโค้ชระดับนานาชาติ (International Coaching Federation-ICF) และโครงการ Town Hal ที่ผู้บริหารระดับสูงพบปะพูดคุยกับพนักงานทุกระดับทุกพื้นที่ เพื่อสื่อสารทิศทางขององค์กร และการเปลี่ยนแปลง”

“สอง open minded, open door คือการสร้างสภาพแวดล้อมแบบเปิด ทั้งการเปิดใจ โดยใช้แนวทาง mindfulness organization เช่น การจัดวงสัมมนาเล็ก ๆ ที่เปิดโอกาสให้หัวหน้างาน และพนักงานพูดคุยถึงปัญหา และร่วมกันหาวิธีแก้ปัญหา ด้วยรูปแบบที่เน้นการพูด และฟังบนพื้นฐานของสัมพันธภาพที่ดี ทั้งยังสนับสนุนการทำงานแบบข้ามสายมากขึ้น รวมไปถึงการเปิดห้อง โดยห้องทำงานของผู้บริหารจะเปิดเสมอ เพื่อให้พนักงานทุกคนสามารถเข้าไปพูดคุยปรึกษาได้ทั้งเรื่องงาน และเรื่องส่วนตัว”

ส่วนโฟกัสที่สาม empowering people “บวรนันท์” บอกว่า เราเชื่อคนรุ่นใหม่มีศักยภาพ และต้องการมีตัวตน เพื่อให้ทุกคนมองเห็นคุณค่าในตัวเขา จึงจำเป็นที่เราต้องรับฟัง และมีเวทีให้พวกเขาแสดงศักยภาพ เช่นInnovation Award เป็นเวทีการนำเสนอแนวคิด มุมมอง การทดลองปรับปรุง และพัฒนาการทำงานในด้านต่าง ๆ โดยไม่กลัวความผิดพลาด

“ทุก ๆ ปีมีพนักงานร่วมเวทีกว่า 200 ทีม หรือเวทีส่งเสริมให้พนักงานได้แสดงศักยภาพผ่านการทำโปรเจ็กต์ต่าง ๆ (project management) โดยพนักงานจะนำเสนอโปรเจ็กต์ กับผู้บริหาร ซึ่งเป็นทั้งกรรมการ และโค้ชที่ให้คำแนะนำ สนับสนุนการดำเนินงานโปรเจ็กต์ให้ประสบความสำเร็จ รวมไปถึงเวที Must Win Battle ที่เป็นโครงการของกลุ่มธุรกิจ กลุ่มงานการผลิต และกลุ่มงานการตลาด ที่มุ่งเน้นพัฒนาทักษะผู้นำที่ใช่ให้กับทีมผู้บริหารกลุ่มโรงงาน นำไปสู่ความร่วมมือที่ดี และการทำงานแบบ cross function ของแต่ละโรงงานอย่างเป็นรูปธรรม”

สี่ employee experience การสร้างประสบการณ์ที่ดีให้พนักงาน โดยทำให้พวกเขารู้สึกเป็นคนสำคัญต่อองค์กร เช่น พนักงานใหม่ที่มาเริ่มงานในวันแรก เราจะให้กล่องของขวัญ ประกอบด้วย เสื้อ อุปกรณ์เครื่องเขียนต่าง ๆ เพื่อเป็นการสร้างความประทับใจ และรู้สึกถึงการต้อนรับขององค์กร และเราจัดพี่เลี้ยงคอยดูแลให้คำแนะนำทั้งเรื่องงาน และเรื่องส่วนตัว นอกจากนั้น การสร้างบรรยากาศการทำงานที่สนุกสนานจะช่วยการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีด้วย เราเปิดโอกาสให้พนักงานหรือหน่วยงานต่าง ๆ กำหนดรูปแบบกิจกรรมที่เหมาะสมกับตัวเอง โดยใช้หลักการ design thinking รวมถึงการใส่ใจให้พนักงานมีสุขภาพที่ดี กับโครงการ fit & furious เพื่อส่งเสริมการออกกำลังกาย”

“บวรนันท์” กล่าวด้วยว่า การก้าวสู่ world class organization ของกลุ่มมิตรผล จะชี้วัดด้วย world class benchmarking ตามหลักการประเมินองค์กรชั้นนำระดับโลกอื่น ๆ โดยมองใน 6 มิติ คือ การเป็นองค์กรสมรรถนะสูง, เติบโตอย่างยั่งยืน, สร้างความผูกพันกับ stakeholder ตลอดจน supply chain, ให้ความสำคัญกับการสนับสนุน และเปิดโอกาสให้พนักงานแสดงศักยภาพการทำงานได้เต็มที่ เพื่อเพิ่มแนวทางพัฒนาคนในองค์กร, สร้างนวัตกรรมใหม่ให้แก่องค์กรทั้ง business model innovation, product innovation และ process innovation รวมทั้งสามารถยืดหยุ่นและปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงพร้อมการขับเคลื่อนไปข้างหน้าได้

“โดยในการชี้วัดศักยภาพของคน ซึ่งเป็นองค์ประกอบสำคัญในการผลักดันองค์กรไปสู่ world class organization เราจะใช้ best model ประกอบด้วย ความสามารถในการสร้างเครือข่ายหรือขับเคลื่อนกลยุทธ์ในการทำงาน (building) โดยให้ความสำคัญกับการสร้างคน และพัฒนาคน (enhancing organization) การมีมุมมองทางด้านกลยุทธ์ (sharpen strategic) และมีความสามารถในการคิดนวัตกรรมใหม่ ๆ เพื่อนำมาปรับใช้ในการทำงาน (transform process innovation)”

“ถึงแม้การชี้วัดศักยภาพของคนจะเป็นปัจจัยสำคัญ แต่สิ่งสำคัญกว่านั้นคือ continue performance management การบริหารผลงานให้ดีอย่างต่อเนื่อง เราจึงเน้นการพูดคุยกับพนักงานและรับฟังฟีดแบ็กอย่างสม่ำเสมอ”

จึงนับว่าแนวคิด “เชื่อมั่นในคุณค่าของคน” ที่กลุ่มมิตรผลให้ความสำคัญมาโดยตลอด จะนำมาซึ่งความผูกพันของพนักงานที่มีต่อองค์กรอย่างยั่งยืน ทั้งยังสะท้อนถึงชื่อเสียงที่ดี กระทั่งกลายเป็นที่ยอมรับ จนเกิดเป็นวัฒนธรรมองค์กรที่แข็งแกร่งต่อไป