พลังคนสร้างสรรค์โลก เอามื้อสามัคคี-สร้างเกษตรทางหลัก

ต้องยอมรับความจริงอย่างหนึ่งว่า “โครงการพลังคนสร้างสรรค์โลก รวมพลังตามรอยพ่อของแผ่นดิน” เดินทางมาถึงปีที่ 6 แล้ว ซึ่งนับเป็น 6 ปีที่ตลอดระยะเวลาผ่านมา นับจากบริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด ร่วมมือกับสถาบันเศรษฐกิจพอเพียง มูลนิธิกสิกรรมธรรมชาติ, สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) และภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ภาคประชาชน และภาคศาสนา ร่วมกันจัดกิจกรรมเอามื้อสามัคคีตามจังหวัดต่าง ๆ

ตามแนวคิด “แตกตัวทั่วไทย เอามื้อสามัคคี” เพื่อสืบสานศาสตร์พระราชาของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร ที่ทรงห่วงใยต่อปัญหาน้ำท่วมและภัยแล้งบริเวณลุ่มน้ำป่าสัก

วิวัฒน์ ศัลยกำธร

จนทำให้เกิดผลของการร่วมมือกันจัดกิจกรรม “แตกตัวทั่วไทย เอามื้อสามัคคี” ขยายผลไปยังพื้นที่ลุ่มน้ำต่าง ๆ ทั้งยังขยายพื้นที่ครอบคลุมมากกว่า 4 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ, จันทบุรี, สระบุรี และน่าน อันเป็นพื้นที่ปัจจุบันที่บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด รวมทั้งภาคีเครือข่ายร่วมกันขับเคลื่อนในการสร้างคน-สร้างเครือข่าย-สู่การสร้างศูนย์เรียนรู้บริเวณบ้านห้วยเลา ต.เชียงของ อ.นาน้อย จ.น่าน

เบื้องต้น “วิวัฒน์ ศัลยกำธร” รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ บอกว่า การเพาะปลูกพืชเชิงเดี่ยวเป็นจำนวนมหาศาลในจังหวัดน่าน ทำให้สูญเสียพื้นที่ทรัพยากรป่าไม้ถึง 1.5 ล้านไร่ ในบริเวณพื้นที่ราบสูง ซึ่งเป็นต้นกำเนิดของน้ำร้อยละ 40 ของแม่น้ำเจ้าพระยา

“ผลตรงนี้ไม่เพียงทำให้เกิดการสูญเสียความหลากหลายทางชีวภาพ เศรษฐกิจ และสังคม ยังทำให้เกิดสภาวะน้ำแล้ง น้ำท่วมในพื้นที่จังหวัดน่าน และในเขตพื้นที่ภาคกลางของประเทศไทย เราจึงต้องมาช่วยกันสร้างหลุมขนมครกบนพื้นที่สูง เพื่อเปลี่ยนเขาหัวโล้นให้กลายเป็นเขาหัวจุก ด้วยการนำศาสตร์พระราชาทั้งในเรื่องทฤษฎีใหม่ ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และภูมิปัญญาท้องถิ่นมาประยุกต์ใช้ให้เหมาะสมกับสภาพสังคม”

“ด้วยการให้ทางคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) มาช่วยออกแบบพื้นที่เพื่อกักเก็บน้ำ เพราะพื้นที่ของหมู่บ้านห้วยเลาเป็นพื้นที่แห้งแล้ง เพราะชาวบ้านบุกรุกทำลายป่าเพื่อถางทางในการปลูกข้าวโพดกัน ซึ่งเป็นอย่างนี้มาหลายสิบปี จนทำให้เจ้าหน้าที่ป่าไม้ของอุทยานแห่งชาติศรีน่าน กับชาวบ้านมีปัญหากันตลอด”

บัณฑิต ฉิมชาติ

“แต่เมื่อ บัณฑิต ฉิมชาติ หัวหน้าอุทยานแห่งชาติศรีน่าน เข้ามาทำความเข้าใจกับชาวบ้านจนเกิดการเปิดใจคุยกันเพื่อแก้ปัญหาต่าง ๆ โดยเฉพาะปัญหาที่ดินทำกิน ปัญหาหนี้สินครัวเรือน พร้อมกับหาทางช่วยเหลือชาวบ้านในพื้นที่ จนนำมาสู่การพึ่งพาตัวเอง ด้วยการปลูกพืชเพื่อสร้างป่า 3 อย่าง ประโยชน์4 อย่าง เพื่อให้พวกเขาพอกิน พอใช้ พออยู่ พอร่มเย็น เพื่อเปลี่ยนผู้บุกรุกมาเป็นผู้พิทักษ์อย่างยั่งยืน”

นอกจากนั้น “วิวัฒน์” ยังกล่าวต่อว่า การแก้ปัญหาลุ่มน้ำน่าน เราจะดูอยู่ 2 เรื่องหลัก ๆ คือ วิกฤตหนักจริงหรือเปล่า และในวิกฤตหนักนั้นมีโอกาสหรือเปล่า ถ้าวิกฤตหนักแต่ไม่มีโอกาส เราก็ไม่ทำ แต่สำหรับบ้านห้วยเลายังมีโอกาสที่จะแก้ปัญหาได้ เพราะเรามีศูนย์เรียนรู้ชุมชนต้นน้ำน่าน (ชตน.) มาช่วยจนค่อย ๆ ประสบความสำเร็จ

“ที่สำคัญ หัวหน้าศูนย์ ชตน.เขาไม่ทิ้ง กัดติด ติดตาม จนทำให้ประชาชนที่อยู่ในชุมชนต่าง ๆ ของจังหวัดน่านเข้ามาเรียนรู้ ศึกษา และนำศาสตร์พระราชาไปประยุกต์ใช้ เพราะที่นี่อยู่ไม่ไกลจากพวกเขา สามารถเข้ามาเรียนรู้ได้ แต่กระนั้น เราต้องต่อสู้กับกระบวนการทางความคิด เพราะชาวบ้านที่นี่เคยชินต่อการปลูกพืชเชิงเดี่ยว โดยเฉพาะการปลูกข้าวโพด เราจึงต้องเปลี่ยนทัศนคติเขาให้ได้ พูดภาษาชาวบ้าน คือ เราใช้ ชตน.เป็นค่ายดัดสันดาน”

“นอกจากนั้น เราเชื่อว่าหัวหน้าอุทยานแห่งชาติศรีน่านน่าจะเอาอยู่ เพราะเขาเคยทำที่อื่นประสบความสำเร็จมาก่อน แต่พื้นที่ที่นี่ใหญ่กว่า มีมากกว่า 6 แสนไร่ ที่สำคัญ ชาวบ้านที่นี่เป็นหนี้ต่อครัวเรือนสูงมาก ประมาณ 3-5 แสนบาทต่อครอบครัว และถ้าเขายังปลูกข้าวโพดต่อไป หนี้จะพอกพูนขึ้นเรื่อย ๆ หัวหน้าอุทยานจึงเข้ามาคุยกับชาวบ้าน แต่ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เขาโดนด่า โดนไล่หลายครั้งกว่าชาวบ้านจะเปิดใจ โดยเฉพาะอดีตผู้ใหญ่บ้าน (วริศรา จันธี) ที่ปัจจุบันกลายเป็นหัวแรงหลักในการขับเคลื่อนโครงการแตกตัวทั่วไทย เอามื้อสามัคคี ครั้งนี้”

อาทิตย์ กริชพิพรรธ

ถึงตรงนี้ “อาทิตย์ กริชพิพรรธ” ผู้จัดการใหญ่ฝ่ายสนับสนุนธุรกิจ บริษัท เชฟรอนประเทศไทยสำรวจและผลิต จำกัด กล่าวเสริมว่าเป้าหมายของโครงการยังคงเน้นการขยายพื้นที่การพัฒนาจากลุ่มน้ำป่าสักไปยังลุ่มน้ำอื่น ๆ ตามแนวคิดแตกตัวทั่วไทย เอามื้อสามัคคี เพื่อสืบสานศาสตร์พระราชาของในหลวง รัชกาลที่ 9

 

“ที่สำคัญ โครงการพลังคนสร้างสรรค์โลก รวมพลังตามรอยพ่อของแผ่นดิน ตอบโจทย์เรื่องซีเอสอาร์ของบริษัทบน 4 แนวทางหลัก เช่น การศึกษา, สิ่งแวดล้อม, พนักงานมีส่วนร่วม และการพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน เพราะทั้ง 4 แนวทางเกี่ยวโยงและสัมพันธ์กับเป้าหมายหลักในการตอบโจทย์ของประเทศด้วย แต่ปัญหาคือโครงการนี้เป็นโครงการใหญ่ เราต้องทำอย่างต่อเนื่อง เพราะการเปลี่ยนความคิดคนสองคนไม่ยากเท่าไหร่ แต่การเปลี่ยนความคิดคนเป็นแสนเป็นล้านนั้นยากมาก”

“ผมจึงมีความหวังว่า หลังจากที่เราทำโครงการต่อเนื่องมาจนถึงปีที่ 6 เราคงต้องทำต่อไปในระยะยาว โดยมีเป้าหมายระยะสั้น ๆ ว่า จะทำโครงการนี้ต่อไปจนถึงปีที่ 9 จากนั้นจึงค่อยมาประเมินอีกทีว่าจะทำอย่างไรต่อไป เพราะทางเชฟรอนฯมีความหวังว่า เราต้องการให้เกษตรกรของไทยมองเรื่องของการนำศาสตร์พระราชามาใช้เป็นทางหลัก ไม่ใช่ทางเลือก เหมือนอย่างที่เรียก ๆ กันอยู่ ทั้งนั้น เพราะจากการทำอย่างต่อเนื่องมาถึง 6 ปี เราเห็นแล้วว่านี่คือทางรอดของเกษตรกรไทย”

“ถึงตอนนี้เริ่มมีหลายภาคส่วนมองเห็นในสิ่งที่เราทำ และเริ่มเข้ามาเป็นพันธมิตรมากขึ้น เพราะแนวทางในการทำงาน นอกจากเราจะขับเคลื่อนโครงการอย่างต่อเนื่อง เรายังร่วมมือกับทาง สจล. ในการทำงานวิจัยเพื่อเก็บข้อมูลต่าง ๆ ไปพร้อมกัน เพื่อขอพื้นที่จากชาวบ้านมาออกแบบพื้นที่ในการทำโคก หนอง นาโมเดล ปรากฏว่าชาวบ้านในชุมชนเหล่านั้นต่างให้ความร่วมมืออย่างดี”

อันไปสอดคล้องกับความคิดของ ผศ.พิเชฐ โสวิทยสกุล” หัวหน้าศูนย์บูรณาการเทคโนโลยีเพื่อแก้ปัญหาประเทศ สถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล.) ที่บอกว่า ตอนนี้เราออกแบบเชิงภูมิสังคมไทย พร้อมกับติดตาม ประเมินผลการบริหารจัดการน้ำอย่างมีส่วนร่วม เพื่อจัดเก็บข้อมูลเรื่องการออกแบบ และปรับปรุงพัฒนาพื้นที่ตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และเกษตรทฤษฎีใหม่ ให้เป็นระบบและได้มาตรฐานทางวิชาการ

“โดยโครงการวิจัยมีระยะเวลาทำงาน 2 ปี โดยเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่เดือนตุลาคม 2559 และจะสิ้นสุดในปี 2561 ด้วยการทำวิจัยใน 3 พื้นที่ คือ ลำปาง, อุดรธานี และตาก ครอบคลุมกลุ่มตัวอย่างจำนวน 40 ราย รวมพื้นที่ 400 ไร่ นอกจากนี้ ยังทำเรื่องเอามื้อสามัคคี เพื่อขยายผลในจังหวัดของโครงการวิจัย และนอกพื้นที่วิจัย เช่น กาญจนบุรี, เชียงใหม่ และน่าน”

“ซึ่งศูนย์บูรณาการเทคโนโลยีเพื่อแก้ปัญหาประเทศ มีแผนจะนำเสนอผลงานวิจัย โดยนำมาถอดบทเรียนเพื่อจัดทำเป็นชุดความรู้ และคู่มือในการขยายผลให้พื้นที่ชุมชนอื่น ๆ สามารถนำไปปรับใช้ในอนาคต เพราะฉะนั้น หน้าที่ของผมคือการเชื่อมโยง หรือการจับแพะ

มาชนแกะเพื่อบูรณาการร่วมกัน เพราะเราไม่สามารถทำงานคนเดียวได้ เพราะส่วนตัวผมรับผิดชอบ 3 ลุ่มน้ำ คือ ปิง, ยม และน่าน เพราะฉะนั้น งานออกแบบตอนนี้จึงไม่ใช่การออกแบบแปลงรายย่อยแล้ว แต่จะออกแบบสเกลใหญ่อย่างบางระกำโมเดลที่ครอบคลุมพื้นที่ 3.5 แสนไร่”

ขณะที่ “บัณฑิต ฉิมชาติ” หัวหน้าอุทยานแห่งชาติศรีน่าน อ.นาน้อย จ.น่าน บอกว่า “อุทยานมีพื้นที่กว่า 6 แสนไร่ ในจำนวนนี้เป็นพื้นที่ที่ชาวบ้านเข้ามาใช้ประโยชน์กว่า 12,000 ไร่ ผมจึงใช้แนวทางปลูกป่าในใจคน ตามพระราชดำริของในหลวงรัชกาลที่ 9 เพื่อเปลี่ยนความคิดชาวบ้านจากผู้บุกรุกมาเป็นผู้พิทักษ์ เพราะครั้งหนึ่งผมเคยใช้แนวทางพระราชดำริประสบความสำเร็จมาแล้วที่บ้านน้ำมีด ต.เปือ อ.เชียงกลาง จ.น่าน จนเกิดโครงการน้ำมีดโมเดลขึ้น”

“โดยตอนนั้นทำให้เราได้พื้นที่ป่ากลับคืนมากระทั่งฟื้นฟูเป็นป่าต้นน้ำได้ถึง 4,000 ไร่ จากพื้นที่ทั้งหมด 41,100 ไร่ แต่สำหรับที่บ้านห้วยเลา ผมใช้เวลาลงพื้นที่สร้างความเข้าใจกับชาวบ้านถึง 10 เดือน ตอนแรก ๆ เขาก็ต่อต้าน เพราะตลอดเวลาผ่านมา

เจ้าหน้าที่อุทยานมีปัญหากับชาวบ้านมาตลอด ซึ่งแรก ๆ ผมพบอุปสรรคบ้าง แต่ตอนนี้เริ่มค่อย ๆ ดีขึ้น มีชาวบ้านยอมเปิดใจเพื่อสมัครไปเรียนรู้กับศูนย์ ชตน.ทั้งหมด 9 คน ซึ่งหนึ่งในนั้นมี

วริศรา จันธี ซึ่งเป็นอดีตผู้ใหญ่บ้าน ที่มาเข้าร่วมกับโครงการด้วย เพราะเธอเห็นแล้วว่า โครงการโคก หนอง นาโมเดล ช่วยเหลือเธอได้จริง ๆ”

จนทำให้ชาวบ้านในชุมชนตื่นตัวต่อการเรียนรู้เพื่อที่จะเป็นเกษตรทางหลักต่อไปอย่างยั่งยืนในอนาคต