ADFEST ปลดล็อกครีเอทีฟ ชูทักษะคนเหนือเทคโนโลยี

กลับมาอีกครั้งหนึ่งในปีนี้กับมหกรรมแอดเฟส (ADFEST) เวทีที่รวมบุคลากรสายงานสร้างสรรค์โฆษณา หรือที่เรียกว่ากันว่า “คนครีเอทีฟ” จากทั่วโลกมาเจอกัน สำหรับปีนี้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 22 ภายใต้ธีม TMRRW.TDAY (ทูมอโรว์ทูเดย์) เพื่อสะท้อนถึงการเชื่อมโยงความสร้างสรรค์ของโลกในอนาคตกับปัจจุบัน ในยุคปัจจุบันที่ถูกเรียกว่า ยุค disruptive เทคโนโลยีถูกพัฒนาขึ้นอย่างรวดเร็ว ทำให้ผู้ชมผลงานด้านโฆษณาต่างคาดหวังที่จะได้เห็นเทคนิคและการนำเสนอที่แปลกใหม่ ส่งผลให้คนทำงานสายนี้ต้องพัฒนาตนเองเสมอ ดังนั้น เวที ADFEST เป็นเสมือนแหล่งเรียนรู้ไม่มีจบสิ้นของคนครีเอทีฟ

“วินิจ สุรพงษ์ชัย” ประธานคณะกรรมการจัดงานมหกรรมโฆษณาแอดเฟส อธิบายเกี่ยวกับ ADFEST ว่า เป็นงานมหกรรมสร้างสรรค์ประจำปีในระดับภูมิภาคภาคพื้นเอเชีย-แปซิฟิกและตะวันออกกลาง ที่จัดขึ้นโดยคนไทย และได้การสนับสนุนจากภาครัฐและภาคเอกชนมาโดยตลอด โดยภายในงานจะมีกิจกรรมหลัก 3 ส่วน ส่วนแรก คือ การประกวดผลงานสร้างสรรค์ ส่วนที่สอง คือ การบรรยายของนักคิดสร้างสรรค์ และส่วนที่สาม การแสดงนิทรรศการผลงานที่ส่งเข้าประกวดมหกรรมแอดเฟสเป็นศูนย์กลางแห่งการแลกเปลี่ยนความรู้ เป็นจุดพบปะสังสรรค์ของคนในแวดวงครีเอทีฟ ที่ในทุกปีจะกลับมาพบกัน เพื่อนำเสนอผลงานที่ดีขึ้น ๆ ในทุกปี อาจเรียกได้ว่า ADFEST เป็นเวทีปล่อยของจากเหล่าครีเอทีฟ และยังช่วยยกระดับคุณภาพความคิดสร้างสรรค์ผลงานทางด้านโฆษณาในระดับภูมิภาคด้วย

“การเปลี่ยนแปลงจะเกิดขึ้นต่อเนื่อง ทำให้นักสร้างสรรค์จะต้องปรับตัวให้ทันกับแพลตฟอร์มการสื่อสารที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลาด้วยเช่นกัน แต่สำหรับ ADFEST มุ่งเน้นเรื่องอัตลักษณ์ท้องถิ่นของแต่ละประเทศไว้ ซึ่งเป็นเจตนารมณ์ของแอดเฟสมาตั้งแต่ปีแรก บนความเชื่อมั่นที่ว่า อัตลักษณ์ท้องถิ่นทำให้งานสร้างสรรค์นั้น “โดดเด่น” และแตกต่าง เมื่อเทียบกับเวทีอื่นในตลาดโฆษณา”

“วินิจ” กล่าวเสริมถึงการแข่งขันในอุตสาหกรรมงานโฆษณาที่สูงขึ้นว่า จะได้เห็นภาพของการลดขนาดองค์กร บริหารต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพเพื่อการอยู่รอดในอุตสาหกรรมนี้ และเรายังได้เห็นภาพการบริหารต้นทุนด้วยการเทรนนิ่งเกิดขึ้น บวกกับวัฒนธรรมคนทำงานยุคใหม่ที่เปลี่ยนงานบ่อยกว่าในอดีต องค์กรต่าง ๆ ก็ลดการพัฒนาคนเพื่อลดต้นทุน ในเมื่อต้นทุนอย่างคนไม่คุ้มค่าที่จะลงทุนแล้ว คนเก่งในแวดวงนี้จึงลดลงไปเรื่อย ๆ

“การเทรนนิ่งเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องเกิดขึ้นเสมอ เพราะการเรียนรู้ทำให้เกิด curiosity (ความสงสัย) ที่ทำให้เกิดไอเดียใหม่ ๆ โดยเราไม่รู้ตัว โดยเฉพาะคนโฆษณาที่ต้องเจอกับโจทย์ปัญหาที่ต้องแก้ไขและมีความหลากหลาย ฉะนั้น
คนครีเอทีฟจึงต้องรอบรู้ เพราะคุณสมบัติเหล่านี้เป็นสิ่งที่ลูกค้าคาดหวังอย่างมาก แต่คนไทยมักมีข้อจำกัด เพราะสังคมตีกรอบพวกเรามาตั้งแต่เด็ก ผู้ใหญ่ทำให้เด็ก ๆ กลัวที่จะคิดต่าง กลัวที่จะแสดงความรู้สึกที่แท้จริง สิ่งแรกที่เราควรจะให้ความสำคัญที่สุด คือ ระบบการศึกษา”

สำหรับ ADFEST ในปีนี้ จึงได้เพิ่มเวิร์กช็อป TMRRW Biz School ที่จะถูกจัดตลอด 4 วันในมหกรรม ADFEST 2019 เพื่อปลดล็อกกรอบความคิดของผู้เข้าร่วม ให้สามารถนำความคิดสร้างสรรค์ไปประยุกต์กับการทำธุรกิจได้ โดยที่ไม่จำเป็นว่าจะต้องเป็นธุรกิจในแวดวงโฆษณาและการตลาดเท่านั้น โดยมีวิทยากรผู้เชี่ยวชาญจากหลายสาขาอาชีพ ทั้งด้าน VR and Ambisonics : Creating The Future Of History เป็นเวิร์กช็อปที่ให้ความรู้เกี่ยวกับการผลิตงานที่ใช้เทคโนโลยีเสมือนจริง จัดโดย I Am Cardboard PH และ

Hit Productions Inc. จาก Manila และ Stimulation Not Replication เป็นเวิร์กช็อปที่จะกระตุ้นให้ผู้เข้าร่วมมีความคิดสร้างสรรค์ ซึ่งจัดโดย D&AD จาก London นอกจากนั้น ยังมี Think Like a Murder Mystery Writer จัดโดย J Walter Thompson, Delhi เหมาะสำหรับผู้ที่สนใจอยากศึกษาเรื่องการเขียนสคริปต์ และมีการออกบูทของ production house ต่าง ๆ ทั้งในและต่างประเทศ และที่สำคัญ ส่วนนี้จะเป็นเหมือนเวทีการเจรจาธุรกิจที่ได้รับความสนใจมากขึ้นในทุก ๆ ปีอีกด้วย

“มาร์ค ทัซเซล” ประธานคณะกรรมการตัดสิน ADFEST 2019 กล่าวว่า ทุกคนอยู่ในยุคที่เทคโนโลยีก้าวหน้า ที่มีข้อมูลมากมาย ในการช่วยให้ครีเอทีฟทำงานโฆษณาง่ายขึ้น ได้ผลงานที่ทันสมัย แต่ในขณะเดียวกัน สิ่งที่ข้อมูลและเทคโนโลยีไม่สามารถทำให้ได้ คือ “ความเข้าใจคนได้อย่างแท้จริง” และถือเป็นสิ่งสำคัญที่นักโฆษณาต้องเข้าใจด้วย คือ ค่านิยมของมนุษย์ หรือ human value ที่จะต้องมีองค์ความรู้ที่มีประสิทธิภาพ และใฝ่เรียนรู้ ยิ่งเราเข้าใจคนมากเท่าไหร่ ก็ทำให้มีความรู้เพิ่มขึ้นเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่เทคโนโลยีทำแทนคนไม่ได้ คือ “ความคิดสร้างสรรค์” ที่นับว่าเป็นทรัพยากรที่สำคัญที่สุดในธุรกิจที่จะสร้างอิมแพ็กต์เชิงการตลาดได้ เวที ADFEST 2019 บอกไว้อย่างนั้น…