กุญแจความสำเร็จ WHA “บริหารคนด้วยความเชื่อใจ”

ในแวดวงอุตสาหกรรมคงไม่มีใครไม่รู้จัก “จรีพร จารุกรสกุล” อาจเป็นเพราะเธอเป็นผู้ปลุกปั้น และกุมบังเหียน WHA กับตำแหน่งอย่างเป็นทางการคือประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน)

ถ้ายังจำกันได้ เมื่อ 2 ปีผ่านมา เธอนำ WHA เข้าซื้อกิจการ บมจ.เหมราชพัฒนาที่ดิน ซึ่งเป็นสปริงบอร์ดที่เสริมการเติบโตอย่างก้าวกระโดดให้กับบริษัท พร้อมกับขยายพอร์ตธุรกิจให้แข็งแกร่งขึ้น ซึ่งปัจจุบัน WHA เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านโลจิสติกส์ การพัฒนานิคมอุตสาหกรรม และให้บริการโซลูชั่นแบบครบวงจรสำหรับลูกค้าทุกกลุ่มทั้งใน และนอกนิคมอุตสาหกรรม

เรื่องดังกล่าวนับเป็นอีกพาร์ตหนึ่งชีวิตของ “จรีพร” อาจเป็นเพราะผู้บริหารหญิงคนนี้แบ่งชีวิตของตัวเองออกเป็น 6 ช่วง โดยช่วงแรกคือตอนอายุ 10 ขวบที่เธอค้นหาตัวเอง และรู้ว่าต้องการเป็นนักธุรกิจ ถัดจากนั้นคือเวลาของการเรียนรู้ หรือการศึกษาเล่าเรียน หลังจากเรียนจบ เป็นช่วงเวลาของการสร้างฝัน ซึ่งเธอได้ก่อตั้งบริษัทเกี่ยวกับธุรกิจพลาสติกเมื่ออายุ 26 ปี

เรื่อยมาจนถึงอายุ 36 ปี อันเป็นช่วงของการสร้างอาณาจักรกับการถือกำเนิด WHA และเมื่อสร้างความมั่นคงให้กับธุรกิจแล้ว เธอจึงผันตัวเองเข้าสู่ช่วงแห่งการล่าอาณานิคม ด้วยการเทกโอเวอร์เหมราช แต่กระนั้น ช่วงเวลาต่อจากนี้ไปที่ “จรีพร” วางโพสิชั่นคือการใช้ศักยภาพองค์กรตอบแทนสังคมผ่านโครงการต่าง ๆ

อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ “จรีพร” จะสัมผัสกับการทำธุรกิจตั้งแต่อายุยังน้อย และรับมือกับสถานการณ์เกี่ยวกับคนมามาก แต่เธอมองว่าความท้าทายตอนนี้คือจะปรับองค์กรให้ไปสู่ยุคใหม่ได้อย่างไร เพราะเทคโนโลยีพัฒนาเร็วมาก จึงไม่มีใครตอบได้ว่า…แล้วอนาคตจะเป็นอย่างไร

“จรีพร” บอกว่าสิ่งที่ต้องทำคือประเมินให้ได้ว่าเทคโนโลยีจะไปในทิศทางไหน เพื่อเตรียมคนให้พร้อมที่สุด ดิฉันจึงนำเรื่องนี้มาเป็นหนึ่งในประเด็นของการวางกลยุทธ์องค์กร ภายหลังจากเข้าซื้อกิจการของเหมราช โดยนอกจากจะจัดทัพธุรกิจใหม่ออกเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ พัฒนาโลจิสติกส์, นิคมอุตสาหกรรม, สาธารณูปโภคและไฟฟ้า รวมถึงดิจิทัลแล้ว WHA ยังจัดเทรนนิ่งให้กับผู้บริหาร และพนักงานอย่างเข้มข้นด้วย

“กลุ่มแรกเป็นระดับผู้จัดการขึ้นไปจนถึง C-level ทั้ง CEO, CFO มีทั้งหมด 40 คน เพื่อนำมารีเฟรชความคิดใหม่ โดยทำเป็น Mini MBA Program ด้วยการนำเรื่องธุรกิจขององค์กรเสริมเข้าไป ไม่ว่าจะเป็นบัญชี, การเงิน, วิศวกรรม เพราะเราต้องการพัฒนาเขาให้เป็นผู้บริหาร ที่จะรู้เฉพาะสายงานของตัวเองไม่ได้ เพราะมุมมองจะแคบ”

“หลังจากนั้น จึงคัดให้เหลือ 20 คน ด้วยการนำกรณีศึกษาของฮาร์วาร์ดมาให้แต่ละกลุ่มทำการวิเคราะห์ ซึ่งตอนเรียนจบ เราจะให้พวกเขาออกแบบว่าแต่ละกลุ่มธุรกิจของ WHA ควรจะเดินหน้าต่อไปอย่างไร โดยไม่สนใจกลยุทธ์ที่บริษัทวางเอาไว้ เพราะเราต้องการให้เขาคิด และเป็นการจุดประกายสำหรับนำมาใช้ในการทำงานจริงได้”

“จรีพร” บอกว่าหลักสูตรหลัก ๆ ตอนนี้มี 2 คอร์สคือ หลักสูตร Leadership สำหรับ Director Level ถึง C-level อีกหลักสูตรเป็น Advanced Business Development Program ของ Management Group ซึ่งมีแผนพัฒนาคนเป็นรุ่น ๆ เมื่อเรียนจบแล้วจะให้ไปเรียนหลักสูตรที่สูงขึ้น

ขณะเดียวกัน ยังมีโปรแกรมสำหรับพัฒนากลุ่มทาเลนต์ ซึ่งบริษัทมีการวาง Successor ในแต่ละตำแหน่ง โดยนำกลุ่มทาเลนต์มาจัดเทรนนิ่งพิเศษ พร้อมเสริมศักยภาพอื่น ๆ เพื่อติดอาวุธให้รอบด้าน โดยเฉพาะเรื่อง Management ที่ถือว่าเป็นองค์ความรู้ที่ Successor ทุกคนควรมี

“2 ปีก่อนที่พูดเรื่องการปรับคน หรือการเปลี่ยนแปลงของดิจิทัล ตอนนั้นแต่ละคนมีความสงสัย ด้วยความที่เขามีความเชื่อมั่น และเก่งอยู่แล้ว กระนั้น บางคนอยู่มานานมาก แต่ไม่เคยได้รับการเทรนนิ่งเลย เราจึงบอกเขาว่าเราเชื่อในสิ่งที่เขารู้ และมีความเชื่อมั่นในตัวพวกเขา แต่หากจะปรับบริษัทเป็นอีกแบบหนึ่ง พวกคุณจะไปกับเราหรือเปล่า”

เพราะหลักการบริหารคนที่ “จรีพร” ให้ความสำคัญคือความเชื่อซึ่งกันและกัน ผู้นำต้องเชื่อในตัวของพนักงาน และพนักงานต้องเชื่อในตัวผู้นำองค์กร แต่การทำให้พนักงานเชื่อผู้นำนั้น ผู้นำต้องเชื่อ และรักพนักงานก่อน

“ดิฉันพูดเสมอว่าตัวเองไม่ใช่คนเก่งมากมาย แต่เป็นเหมือนคอนดักเตอร์ของวงออร์เคสตร้า ซึ่งต่อไป WHA จะเป็นวงระดับโลก เพราะเราเชื่อว่าลูกน้องของเรานั้นเก่ง อาจเทียบว่าคนนั้นเก่งไวโอลิน อีกคนเก่งเชลโล่ แล้วเราก็รู้ว่าแต่ละคนเล่นอะไรได้ ตอนนี้บรรเลงเพลงนี้ แต่ต่อไปจะเป็นเพลงที่ยากขึ้นเรื่อย ๆ ดังนั้น คุณต้องพัฒนาตัวเอง เพื่อก้าวสู่ระดับโลกให้ได้”

“เพราะหน้าที่ของเราคือการเตรียมคน และมองว่าหากจะปรับเปลี่ยน หรือเพิ่มเติมอะไรให้เขา ใครที่เก่งแล้ว ต้องกระตุ้นเขาให้มากขึ้นอีก หรือเข้าไปเสริมในสิ่งที่เขาขาด ซึ่งเราจะมีความสุขมาก เมื่อเห็นคนเก่ง ๆ และสุดท้ายแล้ว WHA จะเป็นวงออร์เคสตร้าที่บรรเลงเพลงเพราะที่สุด เพราะคนที่เล่นเขาเก่ง และมีความสุขที่ได้เล่นด้วยกัน”

 

หลอม “คน” สู่ EEC

เพราะต้องการยกระดับและเพิ่มพูนทักษะให้กับแรงงานไทย ทาง บมจ.เหมราชพัฒนาที่ดิน จึงผนึกกำลังกับกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน, มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และสถาบันเทคโนโลยีไทย-เยอรมัน จัดตั้งศูนย์ความร่วมมือฝึกอบรมทักษะอุตสาหกรรม ซึ่งดำเนินการที่อาคารอีซี่ พลาซ่า 1 นิคมอุตสาหกรรมอีสเทิร์นซีบอร์ด (ระยอง)

“จรีพร” บอกว่าโครงการความร่วมมือมีระยะเวลา 5 ปี โดยมีการจัดหลักสูตรวิชาชีพ และฝึกอบรมภาคปฏิบัติ เพื่อผลิตแรงงานให้เพียงพอต่อความต้องการเฉพาะด้านที่เพิ่มขึ้นในอุตสาหกรรมต่าง ๆ มีกลุ่มเป้าหมายเป็นลูกค้าผู้ประกอบการในนิคมอุตสาหกรรมของเหมราช รวมถึงในเขต EEC ทั้งระยอง ชลบุรี และฉะเชิงเทรา

โดยตั้งเป้าว่าจะผลิตแรงงานจากโครงการให้ได้ 10,000 คนภายใน 1 ปี ซึ่งมีหลายกลุ่มหลักสูตรให้บริษัทเลือกสรรสำหรับส่งพนักงานเข้าอบรม เช่น กลุ่มเทคโนโลยีแม่พิมพ์ การพัฒนาศักยภาพด้านอุตสาหกรรมและวิชาชีพเฉพาะ ซอฟต์แวร์สำหรับสำนักงาน เป็นต้น

“เรามองว่า 5 ปีแรกเป็นการปรับคนเข้าสู่ระบบ หลักสูตรของเราจึงเริ่มด้วยการปรับพื้นฐานแรงงานทั้งหมด แต่เมื่อโครงสร้างพื้นฐานหรือทุกอย่างเตรียมพร้อมสำหรับ EEC แล้ว แน่นอนว่าภาคอุตสาหกรรมย่อมต้องการคนที่มีความสามารถมากขึ้น ถึงเวลานั้นหลักสูตรของเราจะปรับให้แอดวานซ์มากขึ้นกว่าเดิม”

เพื่อสอดรับกับสปีดของภาคอุตสาหกรรม และเป็นแรงหนุนสำคัญที่ช่วยเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้กับประเทศ