“กลุ่มเซ็นทรัล” หนุนบ้านพิงพัก ดูแลกาย-ใจผู้ป่วยมะเร็งเต้านม

ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุข พบว่า โรคมะเร็งเต้านมเป็นโรคที่ถูกตรวจพบมากที่สุดในกลุ่มสตรี โดยทุก 10 คนจะมี 1 คนที่มีโอกาสเป็นโรคมะเร็งเต้านม และจะมีผู้หญิงไทยเสียชีวิตด้วยโรคดังกล่าวเฉลี่ยวันละ 12 คน ทั้งนี้ กำลังใจและความห่วงใยจากคนข้างกายและครอบครัวจะทำให้ผู้ป่วยมะเร็งในสตรีเผชิญช่วงเวลาเลวร้ายด้วยความเข้มแข็ง

โดย กลุ่มเซ็นทรัล เชื่อว่าหัวใจสำคัญของการต่อสู้กับโรคมะเร็งเต้านม คือ การมีสุขภาพจิตใจที่ดี จึงได้สานต่อโครงการ Women Cancer เพื่อสร้างกำลังใจให้กับกลุ่มผู้ป่วยมะเร็งในสตรี ตั้งแต่ปี 2548 โดยยึดถือแนวทางปฏิบัติของ UN Women (องค์การเพื่อการส่งเสริมความเสมอภาคระหว่างเพศ และเพิ่มพลังของผู้หญิงแห่งสหประชาชาติ) โดยหนึ่งในภารกิจใหญ่ของโครงการ คือ การร่วมสมทบทุนก่อสร้างโครงการบ้านพิงพัก (Pink Park Village) ซึ่งเป็นศูนย์ดูแลผู้ป่วยมะเร็งเต้านมระยะสุดท้ายของมูลนิธิศูนย์มะเร็งเต้านมเฉลิมพระเกียรติ ที่สร้างเสร็จและพร้อมเปิดรองรับผู้ป่วยในเร็ว ๆ นี้

“บุษบา จิราธิวัฒน์” รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ฝ่ายสื่อสารองค์กร บริษัทกลุ่มเซ็นทรัล กล่าวว่า เราให้ความสำคัญกับผู้หญิงมาโดยตลอดผ่านโครงการ Women Cancer โดยริเริ่มเป็นสื่อกลางระหว่างชุมชนในการให้ความรู้เกี่ยวกับมะเร็งในสตรี และระดมทุนทรัพย์ผ่านกล่องรับบริจาคจากลูกค้า การระดมทุนจากคู่ค้า และการจัดกิจกรรมทางการตลาด ภายใต้กลุ่มธุรกิจในเครือเซ็นทรัล รีเทล ได้แก่ ห้างสรรพสินค้าเซ็นทรัล, โรบินสัน, เซ็นทรัล ฟู้ด ฮอลล์, ท็อปส์, ซูเปอร์สปอร์ต และซีเอ็มจี รวมถึงเซ็นทรัล เรสตอรองส์ กรุ๊ป เพื่อสนับสนุนเครื่องมือทางการแพทย์ เช่น เครื่องมือสำหรับตรวจหามะเร็งเต้านมที่มีประสิทธิภาพที่สุด (digital mammogram) การปรับปรุงหอพักฟื้นผู้ป่วยมะเร็งในสตรีของสถาบันมะเร็งแห่งชาติ การจัดตั้งกองทุนเพื่อผู้ป่วยมะเร็งสตรีที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ จากการจำหน่ายเสื้อยืดการกุศลออกแบบโดยปอม ชาน เป็นต้น

“กระทั่งปัจจุบันขยายมาสู่การร่วมสมทบทุนก่อสร้างโครงการบ้านพิงพัก โดยล่าสุดบริษัทสมทบทุนร่วมกับเงินบริจาครวมแล้วได้ 20 ล้านบาท เพื่อก่อสร้างอาคารพักฟื้นสำหรับผู้ป่วยโรคมะเร็งเต้านมที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ในโครงการบ้านพิงพัก แถวเขตหนองจอก กรุงเทพมหานคร เพราะเรามีแนวคิดในการให้ช่วงเวลาที่มีความสุขที่สุดในช่วงหนึ่งของชีวิตผู้ป่วยที่ขาดโอกาสได้รับการดูแลเอาใจใส่ตั้งแต่กายภาพไปจนถึงจิตใจจากทีมผู้เชี่ยวชาญในโครงการ ท่ามกลางสภาพแวดล้อมธรรมชาติบนที่ดิน 121 ไร่”

“เรามุ่งมั่นที่จะเป็นจิ๊กซอว์สำคัญในการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีแก่คนไทยในทุกระดับ ผ่านการดำเนินกิจกรรมเพื่อสังคมภายใต้โครงการเซ็นทรัล ทำ โดยเราเชื่อมั่นว่ากำลังใจบำบัดเปรียบเสมือนยาแห่งความสุขให้ผู้ป่วยที่กำลังเผชิญโรคร้ายอยู่สามารถมีโอกาสหายได้เร็วขึ้นมากกว่า 50% ทั้งยังช่วยทำให้ผู้ป่วยรู้สึกว่าตนเองไม่ได้ต่อสู้เพียงลำพัง แต่ยังมีกำลังใจจากครอบครัวและคนรอบข้างที่รักและพร้อมสนับสนุนเสมอ”

“นพ.กฤษณ์ จาฏามระ” ประธานมูลนิธิศูนย์มะเร็งเต้านมเฉลิมพระเกียรติ กล่าวว่า โครงการบ้านพิงพักภายใต้การบริหารงานของมูลนิธิศูนย์มะเร็งเต้านมเฉลิมพระเกียรติ เริ่มต้นจากพระราชดำรัสของสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ พระบรมราชชนนีพันปีหลวง ที่มีพระราชประสงค์ให้มีที่พึ่งของผู้หญิงที่ต้องเผชิญกับโรคมะเร็งเต้านม ก่อตั้งขึ้นเพื่อเป็นศูนย์ดูแลผู้ป่วยโรคมะเร็งเต้านมระยะสุดท้ายโดยไม่แสวงผลกำไรแก่คนไข้ที่ขาดแคลนทุนทรัพย์ ซึ่งสมควรได้รับการดูแลเอาใจใส่อย่างดี ทั้งในระหว่างรับการรักษา หรือจนกระทั่งจากไป โดยเริ่มก่อสร้างโครงการตั้งแต่เดือนมีนาคมปี 2559

โดยเฟสแรกประกอบด้วย บ้านพักและสถานที่ดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย บ้านพักฟื้นสำหรับผู้ป่วยที่กำลังทำการรักษา ศูนย์กิจกรรมระหว่างวัน รวมถึงอาคารสนับสนุนต่าง ๆ แบ่งเป็น 5 ส่วน คือ

หนึ่ง บ้านพักและสถานที่ดูแลผู้ป่วยระยะสุดท้าย (Hospice Center) มีพยาบาลที่พร้อมจะให้บริการด้วยความเอาใจใส่และเข้าถึงจิตใจของผู้ป่วย ตลอดจนครอบครัวของผู้ป่วย เพื่อให้ผู้ป่วยได้ใช้ชีวิตที่เหลืออย่างมีคุณภาพจนถึงวาระสุดท้ายของชีวิต

สอง บ้านพักฟื้นสำหรับผู้ป่วยที่กำลังทำการรักษา (Convalescence Center) มีผู้ป่วยด้อยโอกาสจำนวนมากที่อาศัยอยู่ต่างจังหวัด และต้องเข้ามารับการรักษาที่กรุงเทพฯด้วยการใช้เคมีบำบัดและการใช้รังสี ซึ่งต้องใช้เวลาต่อเนื่องหลายสัปดาห์ จึงเป็นช่วงที่มีความยากลำบากสำหรับผู้ป่วย เนื่องจากร่างกายที่อ่อนแอ ผู้ป่วยเหล่านี้ขาดแคลนทุนทรัพย์ที่จะนำมาใช้เป็นค่าที่พักในระหว่างการรักษาตัว ต้องไปอาศัยอยู่ตามวัด หรือใต้สะพาน เราจึงต้องการให้บ้านพักฟื้นสำหรับผู้ป่วยเป็นที่พักพิงแก่ผู้ป่วยเหล่านั้น

สาม ศูนย์กิจกรรมระหว่างวัน (Day Care & Activity Center) บ้านพิงพักจะมีศูนย์กิจกรรมระหว่างวัน เพื่อให้ผู้ป่วยโรคมะเร็งเต้านมซึ่งสามารถเข้าร่วมกิจกรรมและสันทนาการต่าง ๆ เพื่อเป็นการสร้างกำลังใจแก่ผู้เข้าร่วมกิจกรรมทั้งหลายให้ได้รู้สึกถึงคุณค่าของการมีชีวิตอยู่

สี่ ศูนย์การเรียนรู้และฝึกอบรม (Learning & Training Center) คนจำนวนมากยังขาดความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับโรคมะเร็งเต้านม การได้รับความรู้ที่ถูกต้องจะมีส่วนช่วยให้สามารถตรวจพบความผิดปกติได้ตั้งแต่ระยะแรก และยังช่วยให้ผู้ป่วยสามารถรับมือกับโรคนี้ได้ดีขึ้น ศูนย์การเรียนรู้และฝึกอบรมจะเป็นสถานที่ที่ให้ข้อมูลที่เป็นประโยชน์ รวมทั้งให้การฝึกอบรมเกี่ยวกับโรคมะเร็งเต้านมแก่บุคลากรทางการแพทย์ ผู้ป่วย สมาชิกในครอบครัว อาสาสมัคร และผู้ที่สนใจ

ห้า ศูนย์วิจัยและวินิจฉัยโรคมะเร็งเต้านม (Diagnostic Center) กุญแจสำคัญในการต่อสู้กับโรคมะเร็งเต้านมและการช่วยชีวิตผู้ป่วยในระยะยาว คือการค้นคว้าอย่างต่อเนื่องและให้การรักษาโรคมะเร็งเต้านมอย่างมีประสิทธิภาพ มูลนิธิมีความมุ่งมั่นที่จะก่อสร้างศูนย์วิจัยและวินิจฉัยโรคมะเร็งเต้านมที่ดีที่สุดในภูมิภาค พร้อมด้วยเครื่องมือและอุปกรณ์อันทันสมัยเทียบเท่ามาตรฐานสากล ประกอบกับทีมแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ ซึ่งจะทำให้ศูนย์นี้มีศักยภาพในการตรวจวินิจฉัยเต้านมอย่างมีประสิทธิภาพ

“นพ.กฤษณ์” กล่าวด้วยว่า เรามีแผนที่จะก่อสร้างศูนย์ฟื้นฟูสภาพสำหรับผู้ป่วยโรคมะเร็ง (Cancer Rehabilitation Center) รวมถึงบ้านพักสำหรับผู้ป่วยเพิ่มในเฟสต่อไป โดยระหว่างนี้เรายังต้องระดมทุนอีกเป็นจำนวนมาก เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายในการดำเนินกิจการและการดูแลผู้ป่วย เรามีกรรมการคัดกรองในการคัดเลือกผู้ป่วยเข้ามาอยู่ที่บ้านพิงพักโดยใช้เครือข่ายของสภากาชาดไทยที่มีทั้งทีมแพทย์ พยาบาล และนักสังคมสงเคราะห์ โดยพิจารณาจากผู้ป่วยที่เป็นมะเร็งเต้านมระยะสุดท้ายและต้องเป็นผู้ป่วยที่ยากไร้

นับว่าเป็นการช่วยเหลือผู้ป่วยมะเร็งสตรีที่ขาดโอกาสให้มีความหวังและกำลังใจในการต่อสู้โรคร้ายต่อไป