Sansiri Tree Day ปลูก “หนึ่ง” ให้ถึง “แสน”

ต้องยอมรับว่าแคมเปญรักษ์โลก Sansiri Tree Day ปลูก “หนึ่ง” ให้ถึง “แสน” ของ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) ที่ดำเนินภารกิจสานต่อจากโครงการ Sansiri Green Mission ที่ให้ความสำคัญต่อการดำเนินธุรกิจภายใต้ความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างจริงจัง

โดยมีการคิกออฟแคมเปญรักษ์โลกดังกล่าว เมื่อวันที่ 26 มกราคม 2563 ผ่านมา

ปรากฏว่าผลตอบรับดีเกินคาด เพราะไม่เพียงลูกบ้านกว่า 5,000 ครอบครัว จากโครงการนำร่องกว่า 70 โครงการ ที่แสนสิริ พลัส พร็อพเพอร์ตี้ บริหารจัดการ จะเกิดความตื่นตัวในการปลูกพืชพันธุ์ไม้ หากยังทำให้พวกเขาตระหนักถึงสภาพปัญหาของฝุ่นจิ๋ว (PM 2.5) ที่กำลังทำร้ายพวกเราในขณะนี้้ด้วย

ทั้งนั้นเพราะทุกคนทราบดีว่าปัญหาสภาพอากาศในปัจจุบันเลวร้ายลงเรื่อย ๆ และไม่เฉพาะแต่ในมหานครกรุงเทพเท่านั้น หากเมืองใหญ่ ๆ ในหลายประเทศก็ต่างผจญอยู่กับสภาพปัญหาดุจเดียวกัน ยิ่งเมื่อไวรัสโคโรน่าปรากฏผลอย่างรวดเร็วเช่นนี้ ยิ่งทำให้พวกเขาประจักษ์ชัดกับตัวเองมากขึ้น


“อุทัย อุทัยแสงสุข” ประธานผู้บริหารสายงานปฏิบัติการ บริษัท แสนสิริ จำกัด (มหาชน) บอกว่า Sansiri Tree Day เป็นแคมเปญรักษ์โลกใหม่ล่าสุดของแสนสิริ โดยเราเพิ่งคิกออฟโครงการไปเมื่อวันที่ 26 มกราคม 2563 ผ่านมา สำหรับปีนี้เป็นปีแรกของโครงการ และคิดว่าจะทำอย่างต่อเนื่องทุก ๆ ปี เพราะเห็นแล้วว่าปัญหาสิ่งแวดล้อม และมลพิษทางอากาศของประเทศไทยตอนนี้กำลังเข้าสู่ช่วงวิกฤต

“องค์กรด้านสิ่งแวดล้อมระบุว่า กรุงเทพมหานครติดอันดับ 9 ของการจัดอันดับ 10 เมืองหลวงที่มีสภาพอากาศเลวร้ายมากที่สุดในโลก จึงทำให้เราตระหนักถึงเรื่องนี้เป็นอย่างดี เพราะปัญหาดังกล่าวไม่ใช่ปัญหาของใครคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นปัญหาเร่งด่วนที่ทุกคนคงต้องช่วยกัน ผลเช่นนี้จึงทำให้เราคิดแคมเปญโครงการ Sansiri Tree Day ปลูกหนึ่งให้ถึงแสน เพราะต้นไม้ 1 ต้น สามารถดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เฉลี่ยมากถึง 1 พันตัน/ปี พูดง่าย ๆ คือเทียบเท่ากับป่า 250 ไร่ และถ้าหากปลูก 1 ล้านต้น จะเทียบเท่ากับการสร้างผืนป่ากว่า 2,500 ไร่”

“เราจึงเริ่มโครงการด้วยการเชิญชวนลูกบ้านของเราก่อนประมาณ 5,000 ครอบครัว ปลูกต้นไม้บริเวณพื้นที่ส่วนกลางใน 70 โครงการ ซึ่งจริง ๆ แล้วปัจจุบันเรามีลูกบ้านกว่า 6 หมื่นครอบครัว จากทั้งหมด 100 กว่าโครงการ แต่เราขอเริ่มเฟสแรกเท่านี้ก่อน เพื่อรณรงค์ให้ลูกบ้านที่อาศัยอยู่บ้านเดี่ยว และคอนโดมิเนียมต่าง ๆ หาพันธุ์ไม้พุ่ม ไม้กระถาง หรือพันธุ์กล้าไม้ต่าง ๆ มาช่วยกันปลูกต้นไม้ และเมื่อลูกบ้านปลูกเสร็จแล้ว เราจะให้พวกเขาติด #ทีมบ้าน และ #ทีมคอนโด ลงในเฟซบุ๊กของเราที่มียอดฟอลโลว์กว่า 2 ล้านคน จากนั้นจะมีรางวัลให้พวกเขาด้วย”

“อุทัย” บอกว่า จริง ๆ วิสัยทัศน์เรื่อง Sansiri Green Mission เริ่มเมื่อปี 2018 โดยมีเป้าหมายเพื่อลดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ ทั้งนั้นเพราะธุรกิจของเราค่อนข้างให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมสีเขียวเป็นอย่างมาก และทุก ๆ โครงการของเราจะออกแบบเพื่อรองรับกับความเป็นธรรมชาติอย่างลงตัว

ที่สำคัญ Sansiri Green Mission เกี่ยวข้องกับคำมั่นสัญญา 4 เรื่องหลัก ๆ ด้วยกัน คือ

หนึ่ง waste management

สอง energy saving & generation

สาม smart move

สี่ sustainability

“ฉะนั้น ในคำมั่นสัญญา 4 เรื่องหลัก ๆ ด้วยกันจะเกี่ยวข้อง และสอดรับกันทั้งหมด ยกตัวอย่าง เราประกาศไม่ใช้ขวดน้ำพลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้งในองค์กรตั้งแต่ปี 2019 ตรงนี้ช่วยทำให้ลดขยะขวดน้ำพลาสติกได้ถึง 9 แสนขวด/ปี ขณะที่ Sansiri Tree Story ที่เราเก็บ-เลือก-ปลูก ก็เกี่ยวข้องกับทุก ๆ โครงการที่เราดำเนินธุรกิจ โดยเฉพาะถ้าโครงการไหนมีต้นไม้ใหญ่อยู่ภายในโครงการ เราจะรักษาต้นไม้เหล่านั้นเอาไว้เพื่อส่งมอบคุณค่าให้อยู่กับโครงการตลอดไป โดยไม่มีการตัดต้นไม้แต่อย่างใด”

“ที่สำคัญ เมื่อไม่นานผ่านมา เราทำแสนสิริ แบคยาร์ด ที่กรุงเทพฯ และหัวหิน โดยเฉพาะที่กรุงเทพฯ เรามีแลนด์แบงก์อยู่ประมาณ 14 ไร่ ซึ่งเราเก็บไว้ประมาณ 3-4 ปีแล้ว จึงมานั่งคิดว่าจะทำอย่างไรเพื่อให้ออฟฟิศใหม่แห่งนี้แตกต่างไปจากที่เดิม ๆ อีกอย่างเราต้องการพัฒนาพื้นที่แห่งนี้ให้กับลูกค้าที่ชอบธรรมชาติด้วย ที่สุดจึงไปคุยกับฟาร์มเมอร์ตัวจริง คือ กำนันจุล คุ้นวงศ์ เจ้าของไร่กำนันจุล เขาค้อ จ.เพชรบูรณ์ เพื่อต้องการพัฒนาพื้นที่ส่วนที่เหลือ ที่อยู่หลังออฟฟิศใหม่ของเราบริเวณสุขุมวิท 77 หรือที่เรียกว่า T77 ให้เป็นสวนเกษตร และแหล่งเรียนรู้”

“ปรากฏว่าทุกอย่างเป็นไปตามแผน เพราะนอกจากเราจะมีพืช ผักปลอดสารพิษเป็นของตัวเอง เรายังช่วยรณรงค์ให้พนักงานของเราเริ่มปลูกต้นไม้บนโต๊ะทำงานก่อน ขณะที่ลูกบ้านเราก็ชักชวนพวกเขาผ่านโครงการก่อน ๆ และโครงการนี้ เพื่อชักชวนเขาปลูกผัก และปลูกต้นไม้ จนเมื่อมีเหลือใช้ เราจึงแบ่งขาย และแบ่งปันพืชผักต่าง ๆ ที่เราปลูกให้กับคนรอบข้างชุมชนเราอีกด้วย ซึ่งผ่านมาเราแบ่งปันพืชผักปลอดสารพิษเหล่านี้ไปยังโครงการต่าง ๆ มากมาย”

“นอกจากนั้น เรายังให้ผู้จัดการสำนักงานของทุก ๆ โครงการเข้ามาเรียนรู้ในการบริหารจัดการเพื่อนำวิชาความรู้เหล่านี้ไปปลูกในโครงการของตัวเอง ทางหนึ่งเพื่อให้ลูกบ้านเห็น และเมื่อลูกบ้านเห็นแล้ว เขาอยากเข้ามามีส่วนร่วม อยากเรียนรู้การปลูกพืชผัก หรือต้นไม้ต่าง ๆ บ้าง ซึ่งผู้จัดการสำนักงานก็จะถ่ายทอดองค์ความรู้เหล่านี้ให้กับพวกเขา เสมือนเป็นการถ่ายทอดความรู้ไปในตัว”

ที่ไม่เพียงจะทำให้ทุกคนรู้สึกมีส่วนร่วม

หากยังเสมือนเป็นการแบ่งปันความรู้สู่ชุมชนต่าง ๆ อีกด้วย

เพราะเป้าหมายของ “อุทัย” ไม่เพียงต้องการให้แสนสิริ แบคยาร์ด กรุงเทพฯ และหัวหิน กลายเป็นแหล่งเรียนรู้สำหรับชุมชนที่อยู่รอบ ๆ โครงการ หากถ้าพัฒนาไปเป็นศูนย์การเรียนรู้ เพื่อให้ทุกคนไปต่อยอดต่อ ก็จะยิ่งทำให้เกิดความรู้สึกภูมิใจอย่างยิ่ง

ซึ่งเหมือนกับแคมเปญรักษ์โลก Sansiri Tree Day ปลูก “หนึ่ง” ให้ถึง “แสน” ก็เช่นกัน แม้กิจกรรมของลูกบ้านส่วนใหญ่จะอยู่ที่มหานครกรุงเทพ ประมาณ 80% และต่างจังหวัด 20% แต่กระนั้น ถ้าแคมเปญนี้สัมฤทธิผล จนสามารถทำให้องค์กรอื่น ๆ นำไปปรับใช้ได้ด้วย ก็จะยิ่งทำให้เกิดความภูมิใจยิ่งกว่า

เพราะอย่างที่ทราบ โลกใบนี้ไม่ใช่ของใครคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นของพวกเราทุกคน ดังนั้น พวกเราจงมาช่วยกันดูแลโลกใบนี้ให้กลับมาสะอาดดุจดังเดิมอีกครั้ง

ด้วยการปลูกต้นไม้จากมือของพวกเราเอง