8 โครงการพระราชดำริ เสริมคุณภาพชีวิตโรงเรียน ตชด.

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงให้ความสำคัญกับการพัฒนาเด็กและเยาวชนในพื้นที่ห่างไกล เพื่อให้มีโอกาสด้านการศึกษาและความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น อีกทั้งยังทรงริเริ่ม “แผนพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร” ที่ครอบคลุมทั้งด้านการเกษตร, สุขภาพอนามัยการศึกษา, สหกรณ์, การงานอาชีพ, การอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ตลอดจนวัฒนธรรมท้องถิ่นในโรงเรียนมากกว่า 800 แห่งทั่วประเทศ

โดยเฉพาะเรื่องการลดปัญหาทุพโภชนาการของเด็กและเยาวชนที่เกิดในครอบครัวที่ไม่สามารถผลิตอาหารอย่างเพียงพอต่อความต้องการ อันส่งผลต่อสุขภาพอนามัย จนทำให้เด็กไม่สามารถมีพัฒนาการด้านอื่น ๆ ผลเช่นนี้จึงทำให้สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ ทรงมีพระราชดำริให้ทดลองทำโครงการอาหารกลางวันผักสวนครัวเมื่อ ปี 2523 ภายใต้ชื่อ “โครงการอาหารเพื่อเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร” ด้วยการทำเป็นโครงการทดลองในโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน (ตชด.) 3 แห่ง อาทิ โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านหนองแจง อ.ไทรโยค จ.กาญจนบุรี, โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านทุ่งศาลา อ.สวนผึ้ง จ.ราชบุรี และโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านคอกอ้ายเผือก อ.บางสะพานน้อย จ.ประจวบคีรีขันธ์ และหลังจากที่ทดลองเป็นระยะเวลา 1 ปี ปรากฏว่าประสบความสำเร็จ จึงทรงโปรดเกล้าฯให้ขยายไปสู่โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนทั่วประเทศเมื่อปี 2524 ต่อมามีการเรียกชื่อใหม่ว่า”โครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวัน” เนื่องจากมีการเลี้ยงสัตว์และปลูกผักสวนครัวด้วย

ปัจจุบันการดำเนินงานโครงการตามพระราชดำริในโรงเรียน ตชด.ในสังกัดกองบัญชาการ ตชด. มีจำนวน 216 แห่ง หนึ่งในนั้นคือโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านแพรกตะคร้อ ต.บึงนคร อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ซึ่งอยู่ห่างไกลจากตัว อ.หัวหินกว่า 90 กม. ทั้งยังเป็นโรงเรียนพึ่งพาตนเองจากการนำโครงการตามพระราชดำริ 8 โครงการเข้าไปสนับสนุนการเรียนการสอนที่เอื้อทั้งกับโรงเรียนและชุมชนควบคู่กันไป โดยเฉพาะโครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวัน ที่ช่วยเสริมสร้างโภชนาการของเด็กและผลผลิตโครงการ ยังสร้างรายได้หมุนเวียนภายในโรงเรียนอีกด้วย

มูลนิธิปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ จึงจัดกิจกรรมสื่อมวลชนสัญจรเพื่อศึกษาดูงานโครงการพระราชดำริในโรงเรียน ตชด. บ้านแพรกตะคร้อ ต.บึงนคร อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ พร้อมทั้งสนทนากับครูใหญ่และชุมชนถึงการก่อตั้งโรงเรียน และการดำเนินงานช่วยเหลือเด็กภายในชุมชน

“ร.ต.ท.ประดิษฐ์ อะละมาลา”

“ร.ต.ท.ประดิษฐ์ อะละมาลา” ครูใหญ่โรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดนบ้านแพรกตะคร้อ บอกว่า นักเรียนส่วนใหญ่มาจากครอบครัวชาวกะหร่าง มีสัญชาติไทยเป็นส่วนน้อย เดิมพื้นที่แห่งนี้เป็นพื้นที่สีชมพู ไม่มีแม้แต่โรงเรียนจะให้เด็กศึกษาเล่าเรียน จนเมื่อปี 2541 สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี (พระอิสริยยศในขณะนั้น) เสด็จพระราชดำเนินเยี่ยมฯโรงเรียน ตชด.นเรศวร บ้านห้วยผึ้ง ต.ห้วยสัตว์ใหญ่ อ.หัวหิน จ.ประจวบคีรีขันธ์ โดยราษฎรบ้านแพรกตะคร้อได้ยื่นถวายฎีกาขอรับพระราชทานความช่วยเหลือด้านการเรียนการสอน และด้านสุขภาพอนามัยแก่เด็กและราษฎร

“พระองค์ทรงมีพระราชกระแสให้ครูใหญ่โรงเรียน ตชด.นเรศวร บ้านห้วยผึ้ง ดูแลและให้การช่วยเหลือ โดยมีกองกำกับการ ตชด.ที่ 14 รับสนองพระราชกระแส และได้อนุมัติการจัดตั้งโรงเรียนเมื่อวันที่ 16 ก.ค. 2542 ตอนนั้นมีการจัดการเรียนการสอนระดับอนุบาล 2-ประถมศึกษาปีที่ 6 แต่ปัจจุบันมีนักเรียนทั้งหมด 265 คน ครู ตชด. 9 นาย ผู้ดูแลเด็ก 2 คน ครูคู่พัฒนา 1 คน เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงานโครงการสุขศาลาพระราชทาน 1 คน”

“โรงเรียนแห่งนี้ก่อตั้งขึ้นมาเพื่อให้เด็กอ่านออกเขียนได้ มีวิชาความรู้ ต่อมาจึงมีการฝึกให้นักเรียนมีทักษะในการดำรงชีวิตเพิ่มขึ้นในด้านอาชีพ, เกษตรกรรม และอนุรักษ์ภูมิปัญญาท้องถิ่นของตนเอง โดยดำเนินการผ่านโครงการพระราชดำริ ซึ่งครูจะต้องเป็นแกนกลางในการถ่ายทอดคามรู้ ที่สำคัญครู ตชด.จะต้องเป็นมากกว่าครูผู้สอนเพียงอย่างเดียว เพราะจะต้องมีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาการศึกษา และผ่านการอบรมความรู้ด้านเศรษฐกิจพอเพียง”

สำหรับโครงการตามพระราชดำริ 8 โครงการ ประกอบด้วย

หนึ่ง โครงการเกษตรเพื่ออาหารกลางวัน ที่ดูแลโดยนักเรียนซึ่งเป็นโครงการหลัก มีการทำกิจกรรมปลูกพืชผัก เลี้ยงสัตว์ เนื่องจากโรงเรียนมีพื้นที่ปลูกผักสวนครัว 2 ไร่ จำนวน40 แปลง มีการปลูกเห็ดนางฟ้า, ปลูกพืชตระกูลถั่ว, ถั่วครก, ถั่วแดง ฯลฯ และไม้ผลอื่น ๆ

นอกจากนี้ ยังมีการเลี้ยงไก่ไข่พันธุ์อีซี่บราวน์จำนวน 200 ตัว เนื่องจากไก่สายพันธุ์นี้จะให้ผลผลิตครั้งละ 900-1,100 ฟอง หรือประมาณ 30 กว่าแผง เพื่อนำมาขายให้กับโครงการ และใช้สำหรับทำอาหารกลางวัน สนนราคาแผงละ 100 บาท ซึ่งจะทำการขายผ่านระบบสหกรณ์โรงเรียน จนมีรายได้ประมาณสัปดาห์ละ 2,000-3,000 บาท ด้วยการนำเข้ากองทุนไก่ไข่เพื่อเป็นเงินหมุนเวียนดูแลเรื่องอาหาร, ค่ารักษาไก่ อีกทั้งยังมีกิจกรรมการเลี้ยงหมูป่า และตอนนี้มีทั้งหมด 13 ตัว ขยายสู่ชุมชนไปแล้ว 10 ตัว โดยมีข้อตกลงร่วมกันเพื่อเป็นรายได้เสริมแก่ครอบครัวของนักเรียน นอกจากนั้น ยังมีกิจกรรมเลี้ยงปลาดุกพันธุ์บิ๊กอุย ในบ่อปูนซีเมนต์ และบ่อดิน รวม 1,500 ตัว

สอง โครงการส่งเสริมคุณภาพการศึกษา มีกิจกรรมห้องสมุด ส่งเสริมการอ่านในโรงเรียน มีการจัดหนังสือที่น่าสนใจอยู่เสมอ กิจกรรมสอนเสริมเพื่อทบทวนบทเรียน และเพิ่มเติมความรู้เสริมจากบทเรียน ที่ส่งผลให้ผลการทดสอบทางการศึกษาขั้นพื้นฐานมีผลคะแนนดีขึ้น

สาม โครงการนักเรียนในพระราชานุเคราะห์ฯ เป็นโครงการที่ให้โอกาสทางด้านการศึกษาแก่นักเรียนที่มีผลการเรียนดี และฐานะยากจนให้มีโอกาสรับการศึกษาระดับสูง แนะแนวทางการศึกษา ปัจจุบันมีนักเรียนในพระราชานุเคราะห์แล้ว 7 คน

สี่ โครงการส่งเสริมสหกรณ์ กิจกรรมสหกรณ์ร้านค้า ให้นักเรียนได้เรียนรู้หลักการสหกรณ์ และเข้าใจขั้นตอน ตลอดจนวิธีการเกี่ยวกับสหกรณ์ร้านค้า

ห้า โครงการฝึกอาชีพ โดยจัดการเรียนรู้ในชั่วโมงการเรียนรู้ฝึกอาชีพ นำภูมิปัญญาชาวบ้านมาช่วยสอนอย่างการทอผ้าพื้นเมืองกี่เอวเป็นชุด, กระเป๋า, ย่าม เพื่อนำไปจำหน่าย ทั้งยังมีการฝึกตัดผมชาย, หญิง มีกิจกรรมการแสดงรำกระทบไม้, ระบำสายรุ้ง และระบำดาว ซึ่งเป็นวัฒนธรรมพื้นบ้านเพื่อสืบสานไม่ให้สูญหาย ที่สำคัญหากมีงานเข้ามาพวกเขาก็จะได้ทำการแสดงอีกทางหนึ่งด้วย

หก โครงการควบคุมโรคขาดสารไอโอดีน โดยมีการให้บริการน้ำดื่มที่มีการหยดสารละลายไอโอดีนอยู่ในจุดบริการน้ำดื่มของโรงเรียน ตรวจสภาวะคอพอกนักเรียน ป.1-6 โดยใช้เกลือไอโอดีนปรุงอาหารทุกวัน นอกจากนี้ ใน 1 ปีการศึกษาจะมีการวัดและช่างน้ำหนัก 4 ครั้ง ผ่านแบบฟอร์มของการทำแผนพัฒนาเด็กและเยาวชนในถิ่นทุรกันดาร ตามพระราชดำริ (แผน กพด.) ที่มี 16 ตัวชี้วัด

ทั้งนี้ นับแต่ก่อตั้งโรงเรียนจนปัจจุบันพบว่าจำนวนเด็กขาดสารอาหารมีปริมาณลดลงอย่างเห็นได้ชัด ยกตัวอย่างปีการศึกษา 2562/2 ในระดับชั้นประถมศึกษา จำนวนนักเรียนทั้งหมด 211 คน มีนักเรียนผอมเพียงแค่ 5 คน และอ้วนเพียง 9 คน การแก้ไข คือ ถ้าอ้วนมากก็ให้ออกกำลังกาย หากผอมมากก็จะเสริมอาหารจำพวกโปรตีน

เจ็ด โครงการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อาทิ ปลูกหญ้าแฝกเพื่ออนุรักษ์ดิน ป้องกันการพังทลายของหน้าดิน ติดป้ายพันธุ์ไม้ในโรงเรียน ปลูกต้นไม้เพิ่มในโอกาสต่าง ๆ

แปด โครงการส่งเสริมโภชนาการและสุขภาพอนามัยแม่และเด็กในถิ่นทุรกันดาร โดยมีการก่อตั้ง “สุขศาลาพระราชทาน” ให้ศาลาแห่งนี้เป็นที่พึ่งพาการเจ็บป่วยเบื้องต้นของนักเรียนและชุมชนทั้งในยามปกติและยามฉุกเฉิน

ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้าฯ เสด็จเยี่ยมฯโรงเรียน 4 ครั้ง และครั้งล่าสุดเมื่อเดือนมกราคม 2561 เนื่องจากพระองค์ทรงห่วงใยมากสุดคือการให้เด็กอ่านออกเขียนได้ และเพื่อให้เด็กสามารถถ่ายทอดความรู้ไปสู่ผู้ปกครอง ส่วนอีกเรื่องคือเด็กไร้สัญชาติ พระองค์อยากช่วยเด็กให้มีสิทธิได้สัญชาติครบเพื่ออนาคตของพวกเขา และจากปี 2561 พบว่ามีเด็กนักเรียนที่ยังไม่ได้รับสัญชาติจำนวน 43 คน แต่ปัจจุบันมีการช่วยเหลือเด็ก ๆ ให้ได้รับสัญชาติบางส่วนแล้ว คงเหลืออีกเพียง 22 คนที่ยังไม่ได้รับสัญชาติ ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในปี 2564

มนตรี วชิระ

“มนตรี วชิระ” ผู้ใหญ่บ้านแพรกตะคร้อ หมู่ 11 กล่าวเสริมว่า เด็กบางคนไม่สามารถได้สัญชาติในทันที เพราะเขาอยู่นอกพื้นที่ต้องทำเรื่องหลายขั้นตอน ถ้าเด็กไม่มีสัญชาติจะขาดโอกาสหลายเรื่อง เช่น โอกาสในการศึกษาต่อระดับสูง และการเข้าไม่ถึงการบริการของรัฐ เมื่อเด็กเจ็บป่วยโรงเรียนจะต้องทำหนังสือขอความอนุเคราะห์ไปยังโรงพยาบาลเพื่อขอรักษาฟรี แต่ถ้าไม่มีหนังสือรับรองจากโรงเรียนจะไม่สามารถเข้าถึงการรักษาได้ ต้องเสียค่าใช้จ่ายเอง เรียกได้ว่าโรงเรียนคือศูนย์กลางช่วยเหลือเด็กและชุมชนด้วย

“แต่ตอนนี้คุณภาพชีวิตของชุมชนเริ่มดีขึ้น เนื่องจากบ้านแพรกตะคร้อมี 355 ครัวเรือน มีประชากร 1,240 คน ส่วนใหญ่มีอาชีพรับจ้างหาเช้ากินค่ำ ทำไร่และหาของป่า มีรายได้เพียงวันละ 100-200 บาท หรือบางวันก็ไม่มีเลย ตอนนี้มีพืชผลทางการเกษตรเลี้ยงชีพ โรงเรียนจึงนำปลาดุกมามอบให้ชาวบ้านเลี้ยง 17 ครัวเรือน ทั้งยังส่งเสริมให้เลี้ยงกบ 3 ครัวเรือน ปลูกผัก 18 ครัวเรือน และเพาะเห็ดนางฟ้า 8 ครัวเรือน ล่าสุดได้ให้พันธุ์หมูป่าแก่ 3 ครัวเรือนให้ช่วยเลี้ยงเพื่อเพิ่มรายได้ หากน้ำหนักหมูป่าถึง 40 กก.ก็จะขายได้ตัวละ 3,000 บาท หรือสามารถชำแหละแบ่งขายในชุมชนได้ ทำให้ชาวบ้านไม่อดอยาก ขณะเดียวกัน ยามเจ็บป่วยก็เข้าถึงการรักษาได้เร็วที่สุขศาลาพระราชทาน”

จนทำให้ชาวบ้านในชุมชนมีคุณภาพชีวิตดีขึ้น

อันเนื่องมาจากน้ำพระทัยของพระองค์ที่ทรงช่วยเหลือเด็ก ๆ นักเรียนบ้านแพรกตะคร้อตลอดมา