JUMP THAILAND ภารกิจสร้าง “คนไทย” อยู่รอดยั่งยืน

บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ “AIS” เป็นภาคเอกชนที่ทำธุรกิจในประเทศไทยครบรอบ 30 ปีในปีนี้

โดยในปี 2561 บริษัทเพิ่มบทบาทของตัวเองให้เป็นมากกว่าภาคธุรกิจ ด้วยการเป็นแกนกลางรวบรวมองค์ความรู้จากองค์กรต่าง ๆ ภายใต้ AIS Academy และดำเนินโครงการ AIS Academy for Thais ภารกิจ “คิดเผื่อ” เพื่อผลักดันองค์ความรู้ทางเทคโนโลยีแห่งอนาคต ในการสร้างความเข้าใจ และตื่นตัวให้กับคนไทย เพื่อเตรียมพร้อมกับความท้าทายที่จะมาเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของคนและสังคมอยู่ตลอดเวลา

การแพร่ระบาดของโควิด-19 เป็นความท้าทายล่าสุดที่เกิดขึ้นในปีนี้ ทั้งยังส่งผลกระทบต่อทุกวงการ เช่น ภาคธุรกิจประสบปัญหากระแสเงินสดทำให้ต้องปิดตัวลง คนตกงาน การศึกษาต้องเปลี่ยนรูปแบบ

ดังนั้น สำหรับภารกิจคิดเผื่อโดย AIS Academy ครั้งที่ 5 จึงจัดขึ้นในคอนเซ็ปต์ของ JUMP THAILAND ที่ไม่เพียงชวนคนไทยให้ลุกขึ้นเดินหน้า แต่ต้องก้าวกระโดดให้เร็วกว่าที่เคย เพื่อฝ่าวิกฤตไปให้ได้ด้วยการทลายกรอบความคิดเก่า ๆ ออกไปให้หมด และพัฒนาศักยภาพมนุษย์ให้เหนือขีดจำกัดความสามารถเดิม ๆ ที่จะช่วยทำให้ทุกคนอยู่รอดได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน

ภารกิจคิดเผื่อครั้งนี้มีผู้เชี่ยวชาญจากหลากหลายอุตสาหกรรมมาให้แง่คิดและแนะนำวิธีฝ่าอุปสรรค ทั้งภาครัฐ ภาคการศึกษา และภาคธุรกิจ โดยมี “ชาคริตย์ เดชา” รองอธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน “ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์” อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล) “อนุพงษ์ อัศวโภคิน” ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท เอพี (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน) และ “ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์” ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA

ชาคริตย์ เดชา รองอธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน
ชาคริตย์ เดชา รองอธิบดีกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน

“ชาคริตย์” กล่าวในเบื้องต้นว่า การจะพัฒนาภาคแรงงานทั้งด้านการช่วยคนตกงาน และการพัฒนาทักษะคนจะทำได้ดีขึ้นหากเรามี big data เพราะจะทำให้เห็นว่ามีจำนวนตำแหน่งงานว่างจริงเท่าไหร่ และเป็นงานด้านไหน ซึ่งจะทำให้เห็นช่องว่าง เติมเต็มงาน และพัฒนาคนได้ถูกจุด

“แต่ภาครัฐยังทำเรื่องนี้ไม่สำเร็จ เพราะมีอุปสรรคในการเชื่อมโยงข้อมูลจากทุกหน่วยงาน โดยหลายองค์กรยังปิดบังข้อมูลหรือให้ข้อมูลไม่หมด ซึ่งถ้าเราสามารถทำ big data เรื่องคนได้จะพัฒนาได้ทั้งหมด ที่ผ่านมาทางกรมมีการปรับกระบวนการพัฒนาฝีมือแรงงาน โดยพยายามพัฒนาแรงงานในภาคเกษตรและด้านดิจิทัล ซึ่งด้านเกษตรเราฝึกให้เกษตรกรใช้ IOT (internet of things) ควบคุมการปล่อยน้ำ การใช้โดรนสำรวจแปลงเกษตร เป็นต้น”

“ส่วนด้านดิจิทัลเรามีสถาบัน MARA (Manufacturing Automation and Robotics Academy) ที่เปรียบเสมือนหน่วยรบพิเศษ มีภารกิจฝึกอบรม ทดสอบมาตรฐาน ส่งเสริม และสนับสนุนการพัฒนาบุคลากรในพื้นที่ยุทธศาสตร์ คือพื้นที่ในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC เป็นอันดับแรก ที่มุ่งเน้นพัฒนาบุคลากรสาขาเทคโนโลยีการผลิตอัตโนมัติและหุ่นยนต์ โดยตั้งเป้าหมายว่าในอีก 5 ปีพื้นที่นี้จะมีคนเข้าทำงาน 475,000 คน ใน 10 กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมาย”

ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล)
ศ.ดร.สุชัชวีร์ สุวรรณสวัสดิ์ อธิการบดีสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง (สจล)

ขณะที่ในส่วนของภาคการศึกษา อันเป็นพื้นฐานสำคัญของประเทศในการเตรียมพร้อมบุคลากร สำหรับเรื่องนี้ “ศ.ดร.สุชัชวีร์” กล่าวว่า ประเทศไทยไม่ใช่ประเทศที่สามารถสร้างผลิตผลเชิงปริมาณได้ เพราะไม่มีจุดแข็งเรื่องจำนวนคนเหมือนกับประเทศจีน, รัสเซีย และบราซิล

โดยเฉพาะทุกวันนี้เด็กไทยเข้ามหาวิทยาลัยน้อยลงเรื่อย ๆ จึงไม่สามารถสู้หลายประเทศในด้านจำนวนทักษะได้อีกต่อไป ดังนั้น เมื่อความพร้อมด้านปริมาณไม่มี จำนวนคนมีทักษะน้อยเราจึงต้องใช้ความรวดเร็วมาสู้ให้อยู่รอดต้องปรับตัวให้เร็ว และต้องสู้ด้วยคุณภาพให้ได้เหมือนกับประเทศสิงคโปร์ที่เน้นเรื่องคุณภาพแบบสุดโต่ง ไทยถึงจะแข็งแกร่งได้

“ที่สำคัญ ต้องทำให้คนเก่งอยู่เมืองไทยสร้างคนเก่งในมหาวิทยาลัยให้ได้ ใช้ภาษีที่ประชาชนจ่ายมาสร้างคนเก่งเพื่อมาพัฒนาประเทศเพิ่มขึ้นด้วย ช่วงนี้ทั่วโลกเจอวิกฤตเหมือนกัน มีคนตกงาน และมีคนที่หางานทำไม่ได้ จึงอยากแนะนำให้น้อง ๆ ใช้ช่วงเวลานี้เข้ามหาวิทยาลัยเพื่อเรียนต่อในระดับที่สูงขึ้น ซึ่งมหาวิทยาลัยไทยยังมีศักยภาพ และมีคนเก่ง ๆ คอยให้ความรู้”

“ไม่อยากให้ละทิ้งเรื่องการเรียน เพราะดูได้จากคนที่ประสบความสำเร็จระดับโลก เช่น มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ผู้ก่อตั้ง Facebook, บิล เกตส์ ผู้ก่อตั้ง Microsoft และเป็นมหาเศรษฐีที่รวยติดอันดับท็อป 5 ของโลก และอีลอน มัสก์ นักธุรกิจ ผู้สร้างนวัตกรรมระดับโลก เบื้องหลังความสำเร็จ PayPal, Tesla และ SpaceX ซึ่งแต่ละคนเรียนเก่ง และมีการศึกษาในระดับที่สูงทุกคน”

“ขณะเดียวกัน อยากให้ภาคการศึกษาไทยยกเลิกการแยกสายทักษะ เช่น สายวิทย์, สายศิลป์ เพราะทั้ง 2 สายสามารถสร้างให้เกิดในคนเดียวได้ การแยกสายเป็นการส่งเสริมความคิดให้กับเด็กว่าถ้าเก่งทางวิทยาศาสตร์จะไม่ได้ภาษาอังกฤษ ซึ่งเราต้องสร้างคนที่มีความสามารถครบจบในคนเดียว และปัจจุบันความท้าทายของการศึกษาไม่ได้อยู่ที่ภาครัฐแล้ว ภาคเอกชนจะต้องมีส่วนสำคัญในการเข้ามาพัฒนาหลักสูตรต่าง ๆ ด้วย”

อนุพงษ์ อัศวโภคิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท เอพี (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน)
อนุพงษ์ อัศวโภคิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท เอพี (ไทยแลนด์) จำกัด (มหาชน)

ขณะที่ตัวแทนภาคเอกชน “อนุพงษ์” กล่าวว่า ปัญหาเรื่องคนเป็นปัญหาใหญ่ จำเป็นต้องมีนวัตกรรมเข้ามาช่วยเพื่อทำให้คน upskill และ reskill ทัน ตอนนี้มีคนตกงานเยอะ แต่ขณะเดียวกัน บริษัทต่าง ๆ ไม่สามารถรับคนเข้าทำงานได้ เพราะคนไม่มีทักษะที่ต้องการ และเด็กจบใหม่เมื่อเข้าทำงานก็ไม่สามารถนำวิชาการที่เรียนในมหาวิทยาลัยมาประยุกต์ใช้ได้

“ตรงนี้เป็นเหตุผลที่ทำให้ 10 ปีที่แล้ว AP จึงสร้างอะคาเดมีขึ้นเองเพื่อทำให้คนในองค์กรมีความรู้ใหม่ ๆ ตลอดเวลา เพราะการที่องค์กรจะอยู่รอดและทรานส์ฟอร์มตัวเองได้หรือไม่อยู่ที่คนเป็นหัวใจสำคัญ ถ้าหากจะพึ่งภาคการศึกษาในมหาวิทยาลัยให้ผลิตเด็กที่ทำงานได้ทันทีคงไม่ง่าย เพราะโลกหมุนเร็ว บางองค์ความรู้ที่สอนในรั้วมหาวิทยาลัยวันนี้ล้าสมัยแล้วในอีก 4 ปีข้างหน้า และการจะให้มหาวิทยาลัยปรับหลักสูตรบ่อย ๆ คงยากอีก เพราะมีขั้นตอนมากมาย ไม่เหมือนกับภาคเอกชนที่สอนพนักงานได้ทันที”

“เราจึงต้องมาทำเอง แรก ๆ เอพีอาจจะสอนแบบดั้งเดิม คือ สอนในห้องเรียน แต่เริ่มเห็นปัญหาว่าพนักงานเสียเวลาทำงาน จึงพัฒนามาเป็นแพลตฟอร์มออนไลน์ที่ตอนนี้มีทั้งหมด 95 หลักสูตร มีโค้ช 23 คนแล้ว และเราพยายามคิดเผื่อเสมอด้วยว่าจะต้องเปลี่ยนแปลงอย่างไรอีกต่อไป”

“เพราะอุปสรรคในการพัฒนาคนของไทยคือวิธีการสอน คนไทยส่วนใหญ่ชอบสอนให้แก้โจทย์ แต่ฝรั่งจะสอนให้ตั้งโจทย์ ซึ่งนวัตกรรมจะเกิดได้ต่อเมื่อเราตั้งโจทย์ ไม่ใช่แก้โจทย์ ดังนั้น คนต้องปรับ mindset ตัวเอง และองค์กรต้องปรับ mindset ขององค์กร เพราะถ้าองค์กรไม่เปลี่ยนวัฒนธรรมตัวเอง และคนชอบคิดแบบเดิม ๆ เราจะไม่พัฒนา”

ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA
ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์ ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ NIA

สำหรับ “ดร.พันธุ์อาจ” มองว่าองค์กรของเรามีหน้าที่ด้านหนึ่ง คือ การให้เงินสนับสนุน SMEs โดยบริษัทหนึ่งสามารถขอเงินในโครงการได้ 2 โครงการ โดยมีงบประมาณสูงสุด 10 ล้านต่อปี แต่ SMEs หลายบริษัทยังไม่โต ซึ่งเราพบว่าเรื่องเงินทุนไม่ใช่ปัญหาของพวกเขา แต่ปัญหามาจากความไม่เป็นระบบ และไม่มีความเป็นนวัตกร

“NIA จึงส่งเสริมให้เกิดนวัตกรผู้ประกอบการธุรกิจนวัตกรรม และสตาร์ตอัพให้เพิ่มมากขึ้นในประเทศ โดยกลุ่มเป้าหมายหลักที่ต้องเร่งพัฒนาและบ่มเพาะอย่างจริงจังคือกลุ่มเยาวชน เนื่องจากเป็นช่วงวัยที่เริ่มมีความคิดที่แตกต่าง เราพยายามเชื่อมโยงหลายภาคส่วน”

“โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ เพื่อส่งเสริมเด็กรุ่นใหม่ เนื่องจากเป็นวัยที่เริ่มมีความคิดที่แตกต่าง จะเห็นได้ว่าในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาเยาวชนไทยเริ่มมีความตื่นตัว และแสดงออกด้านนวัตกรรมอย่างดีเยี่ยม”

“สังเกตได้จากเวทีต่าง ๆ มีเยาวชนนำเสนอผลงาน ความคิด และความสามารถในการผันตัวเป็นสตาร์ตอัพและผู้ประกอบการตั้งแต่อายุยังน้อย หรือแม้แต่กระทั่งการเริ่มเรียนในหลักสูตรด้านนวัตกรรมทั้งในและนอกสถานศึกษา ซึ่งสิ่งเหล่านี้ถือได้ว่าเป็นสัญญาณดีที่หลายภาคส่วนควรหันมาให้ความสำคัญอย่างยิ่ง”

นับว่าการจัดงานครั้งนี้เป็นการสร้างประโยชน์ด้วยการคัดกรององค์ความรู้ที่ใช่ เพื่อให้คนไทยนำไปปรับใช้กับงาน เพื่อให้ตัวเองกระโดดข้ามผ่านความท้าทายอย่างเป็นรูปธรรม