‘ดีป้า’ ร่วมกับ ‘สยามเทค’ เปิดศูนย์ทักษะดิจิทัล เตรียมคนสู่ตลาดแรงงาน

ดีป้า ร่วมกับ สยามเทค เปิดตัวศูนย์พัฒนาทักษะดิจิทัล เตรียมความพร้อมทักษะดิจิทัล 3 ด้าน ให้นักศึกษาอาชีวะและบุคคลทั่วไปสู่ตลาดแรงงาน

เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา (18 ธ.ค.) สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล ร่วมกับวิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม (สยามเทค) แถลงเปิดตัว “ศูนย์พัฒนาทักษะดิจิทัล เพื่อยกระดับการเรียนอาชีวศึกษาและผู้ประกอบการ (I AM Digital Studio and Cloud – Learning Space)” มุ่งยกระดับสถาบันอาชีวะให้มีการเรียนการสอนที่มุ่งพัฒนาทักษะดิจิทัล 3 ด้าน คือ ด้านวิทยาศาตร์ข้อมูล (data science), ด้านการประยุกต์เทคโนโลยี Co-Bot (collaborative robot) นวัตกรรมหุ่นยนต์อัจฉริยะ และด้านการพัฒนา digital media เพื่อปรับทักษะ (re-skill) และยกระดับทักษะ (up-skill) ดิจิทัลให้กับนักศึกษาระดับอาชีวะและบุคคลทั่วไป เตรียมความพร้อมเข้าสู่ตลาดแรงงาน

ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์  ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า กล่าวว่า เราจำเป็นจะต้องพัฒนาการเรียนการสอนในสถาบันอาชีวศึกษา ให้สอดคล้องกับกับความต้องการแรงงานของภาคธุรกิจ

“ที่ผ่านมาดีป้ามีโครงการสนับสนุนยกระดับการเรียนการสอนของนักเรียนอาชีวศึกษา ให้มีทักษะดิจิทัลเพิ่มขึ้น ด้วยการส่งเสริมและปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน ได้แก่ อุปกรณ์ที่ใช้ในการฝึกทักษะ และอุปกรณ์ประกอบการเรียนการสอน ซึ่งการลงทุนแต่ด้านฮาร์ดแวร์อย่างเดียวคงไม่สามารถยกระดับการเรียนการสอนของสถาบันอาชีวศึกษาได้ จึงได้สนับสนุนให้วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม นำเอาหลักสูตรจากเจ้าของเทคโนโลยี เข้ามาประยุกต์ใช้กับนักเรียนและนักศึกษาด้วย”

ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์

ศูนย์พัฒนาทักษะดิจิทัลจะเป็นต้นแบบศูนย์การเรียนรู้ ที่วิทยาลัยอาชีวศึกษาอื่นสามารถใช้เป็นตัวอย่างในการยกระดับการสอนอาชีวศึกษาให้มีความทันสมัย ทำให้นักเรียนจะไม่เพียงเรียนรู้ภาคทฤษฎีเท่านั้น แต่สามารถนำเอาความรู้ ไปใช้แก้ปัญหา หรือนำความรู้ที่ได้ไปสร้างธุรกิจด้านนวัตกรรมดิจิทัลในอนาคตได้

ด้าน รศ.ดร.จอมพงศ์ มงคลวนิช ผู้อำนวยการ วิทยาลัยเทคโนโลยีสยาม (สยามเทค) กล่าวว่า ตามที่สภาเศรษฐกิจโลก (World Economic Forum : WEF) จัดอันดับความสามารถในการแข่งขันระดับโลกและรายงานว่า อีก 5 ปีข้างหน้า 50 % ของคนทำงานทั้งโลกจะต้องมีทักษะใหม่ และต้อง reskill ให้มีทักษะการคิดเชิงสร้างสรรค์ การคิดเชิงวิพากษ์ และการแก้ปัญหาอย่างเข้มข้นเป็นระบบ จึงสามารถที่จะทำงานต่อไปได้

รศ.ดร.จอมพงศ์ มงคลวนิช

“เราจึงเน้นการเรียนรู้ในรูปแบบ System Base Learning (SBL) และนำรูปแบบ flipped classroom มาใช้สร้างบรรยากาศการเรียนรู้ โดยจะเริ่มต้นในปีการศึกษา 2564 เป็นต้นไป ซึ่งจะนำวิชาโครงการซึ่งเป็นรายวิชาที่เปิดสอนชั้นปีสุดท้ายทั้งระดับ ปวช. และ ปวส. ในทุกสาขาให้นักศึกษาได้ฝึกฝนเรียนรู้ digital skills 3 ด้านคือ Digital Automation Machine Skill, Digital AI and ML Skill, และ Digital Animation Multimedia Skill พร้อมออกแบบพื้นที่ให้นักเรียนสามารถถกเถียง แสดงความคิดเห็น ทำงานกลุ่ม ทำโจทย์ และเล่นเกม เป็นต้น”

ซึ่งทั้งหมดจะอยู่ในโครงการศูนย์พัฒนาทักษะดิจิทัล เพื่อยกระดับการเรียนอาชีวศึกษาและผู้ประกอบการ SME (I AM Digital Studio and Cloud-Learning Space) โดย digital skills ในแต่ละด้านมีผู้เชี่ยวชาญคอยดูแลด้านความรู้และเทคโนโลยีจากบริษัท RoboDK Thailand ส่วนบริษัท Robocloud สนับสนุนด้านโปรแกรม RoboDK, บริษัท มารูก้า แมชชีนเนอรี่ สนับสนุนความรู้และเทคโนโลยี Co-Bot ของ Universal Robot นอกจากนี้ มีการสนับสนุนด้านความรู้แผนการตลาดและธุรกิจ digital literacy จากบริษัท Z.com