บนเส้นทางการพัฒนา กุญแจความสำเร็จ…ในการขับเคลื่อน

คอลัมน์ CSR Talk

ณัฐณรินทร์ อิสริยเมธา

สวัสดีค่ะ ปี 2020 ที่ผ่านมาถือว่าเป็นปีแห่งความท้าทายสำหรับบริษัทต่าง ๆ ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 บางบริษัทที่ประสบปัญหาผลประกอบการลดลง เริ่มมีคำถามว่าจะยังสามารถดำเนินธุรกิจโดยการรักษาสมดุลของเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อมได้อย่างไร แล้วจากนี้เส้นทางของการพัฒนาสู่ความยั่งยืนของบริษัทจะดำเนินไปในทิศทางใด และปัจจัยสำคัญสำหรับการขับเคลื่อนงานด้านการพัฒนาสู่ความยั่งยืนในองค์กรให้สำเร็จมีอะไรบ้าง

ในอดีตนั้นหลาย ๆ องค์กรเคยเข้าใจว่า ธุรกิจจำเป็นต้องมีรายได้ มีผลกำไรก่อน แล้วจึงค่อยมาคิดเรื่องความยั่งยืน แต่ตอนนี้สถานการณ์เปลี่ยนไป เมื่อเกิดเหตุการณ์โรคระบาดขึ้น หลาย ๆ ธุรกิจเริ่มตระหนักว่าอันที่จริงแล้ว การดำเนินธุรกิจบนแนวทางแห่งความยั่งยืนต่างหากที่ทำให้ธุรกิจมีเงิน นั่นคือในสถานการณ์ปกติธุรกิจจะสามารถเติบโตไปได้อย่างมั่นคง และเมื่อต้องเผชิญกับสถานการณ์ฉุกเฉิน เช่น เหตุการณ์ระบาดของโรคโควิด-19 แนวคิดความยั่งยืนช่วยให้ธุรกิจยังสามารถบริหารจัดการและประคองตัวให้ผ่านพ้นวิกฤตมาได้

ทั้งนี้ สาเหตุหลักประการหนึ่งที่สร้างให้เกิดความเข้าใจผิดว่า ต้องมีเงินก่อนจึงค่อยทำเรื่องความยั่งยืนนั้น เพราะในอดีตเมื่อเราพูดถึงเรื่องการพัฒนาสู่ความยั่งยืน หรือความรับผิดชอบต่อสังคมนั้น จะมุ่งเน้นไปที่กิจกรรม หรือ initiative based เป็นหลัก โดยที่กิจกรรมนั้นไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับตัวธุรกิจ และการทำกิจกรรมคือการใช้เงิน

จากยุค initiative based มาสู่ยุคที่เริ่มนำมาตรฐาน หรือ standard ต่าง ๆ เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการทำงาน หรืออาจเรียกได้ว่าเป็นยุค strategic based โดยมาตรฐานที่สำคัญในยุคนี้คือ ISO 26000 ที่ระบุว่า ความรับผิดชอบต่อสังคมไม่ใช่เพียงการทำกิจกรรมกับชุมชนเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการดูแลด้านสิทธิมนุษยชน การดูแลพนักงาน การใส่ใจคู่ค้า ลูกค้า การใส่ใจสิ่งแวดล้อม การมีธรรมาภิบาลที่ดี เป็นต้น ซึ่งในยุค strategic based นี้ จะเน้นให้การทำงานมีการเชื่อมโยงกับกระบวนการในการทำธุรกิจมากยิ่งขึ้น

ถัดจากนั้นจึงมาสู่ยุคที่ธุรกิจต้องเริ่มตั้งคำถามกับตนเองว่า ธุรกิจของเราคงอยู่เพื่ออะไร เพื่อสร้างกำไรสูงสุด หรือเพื่อส่งมอบคุณภาพชีวิตที่ดีสู่สังคมและประเทศชาติ หรือในสภาวการณ์ปัจจุบันที่โลกกำลังประสบปัญหานานาประการทั้งเรื่องโรคระบาด การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างรุนแรง ธุรกิจของเราจะคงอยู่เพื่อช่วยลดปัญหาเหล่านี้ที่กำลังเกิดขึ้น

เราเรียกยุคนี้ว่าเป็น purpose driven หรืออีกชื่อที่เราเริ่มจะได้ยินบ่อยขึ้นในช่วงหลัง ๆ นี้ คือ high purpose หรือการเอาวัตถุประสงค์ หรือความมุ่งมั่น (commitment) ที่องค์กรของเราจะดำรงอยู่ในสังคม เป็นตัวนำในการดำเนินธุรกิจให้ก้าวไปสู่ความยั่งยืน

โดยตัว high purpose นี้ จะเข้าไปเปลี่ยนแนวคิดและวิธีการดำเนินธุรกิจในการทำงานของตนเอง (transformation and change management) พร้อมกับสร้างวัฒนธรรมองค์กร (culture) ที่ต้องคำนึงถึงวิสัยทัศน์ ความมุ่งมั่น หรือพันธสัญญาที่บริษัทให้ไว้ในทุก ๆ ขั้นตอนการดำเนินงาน ไม่ว่าจะเป็นการกำหนดกลยุทธ์ เพื่อให้ตอบ high purpose ที่ตั้งไว้ การบริหารจัดการต่าง ๆ ตลอดจนการสร้างสรรค์กิจกรรมของธุรกิจ เป็นต้น

ทั้งนี้ เมื่อองค์กรตั้งใจที่จะนำเรื่อง high purpose หรือ purpose driven มาใช้แล้ว เพื่อให้การขับเคลื่อนงานด้านการพัฒนาสู่ความยั่งยืนประสบความสำเร็จ สามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงให้เกิดขึ้นได้นั้น ประการแรกคือการสร้างความเข้าใจให้เกิดขึ้นภายในองค์กร

ต่อมาคือการกำหนด high purpose แห่งความยั่งยืนขององค์กรเราให้ชัดเจนว่าคืออะไร แล้วจึงมาพัฒนากระบวนการในการดำเนินธุรกิจ (business model) และห่วงโซ่คุณค่า (value chain) ขององค์กร เพื่อให้ตอบสนองต่อ high purpose ที่ได้กำหนดไว้ พิจารณากลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียว่ามีใครบ้าง และเราจะพัฒนาเพื่อยกระดับการดำเนินธุรกิจ หรือห่วงโซ่คุณค่าขององค์กรให้ดีขึ้นได้อย่างไร ต้องใช้แนวทางในการบริหารจัดการ ซึ่งจะนำไปสู่การพัฒนากลยุทธ์ในการดำเนินธุรกิจต่อไป

จะเห็นได้ว่าเมื่อองค์กรนำ high purpose มานำในการดำเนินธุรกิจ จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนในแทบทุกส่วนของกระบวนการทำงานโดยภาพรวม ตั้งแต่องค์กรจำเป็นต้องมีบุคลากรที่มีความรู้ความเข้าใจ เพื่อสามารถทำงานไปในแนวทางเดียวกัน มีการทำงานที่ไม่เพียงแต่ตอบโจทย์ high purpose ขององค์กร

แต่ยังสามารถแข่งขันได้ หรือสร้างความได้เปรียบในการแข่งขันได้ ผลิตภัณฑ์หรือบริการที่ออกมาต้องได้รับการยกระดับให้ดีขึ้น ตลอดจนการกำกับดูแลต่าง ๆ ที่จะสามารถตรวจสอบการดำเนินงานและมีความโปร่งใส ทั้งการวัดผล การวิเคราะห์ผล หรือการประเมินผลต่าง ๆ ซึ่งขั้นตอนการทำงานต่าง ๆ เหล่านี้คือ การบูรณาการ (integrated) แนวคิดด้านความยั่งยืน เข้าไปในการดำเนินธุรกิจขององค์กรนั่นเอง

อย่างไรก็ดี อาจมีคำถามเกิดขึ้นว่าแม้องค์กรจะมีการดำเนินงานในลักษณะนี้แล้ว แต่ยังไม่เห็นความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้น ซึ่งสำหรับการพัฒนาสู่ความยั่งยืนนั้น เมื่อมีการรวมแนวคิดด้านความยั่งยืนเข้าไปในการทำงานแล้ว ปัจจัยที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือ การเปลี่ยน หรือ transformation ผ่านภาวะผู้นำ เพื่อให้คนในองค์กรตระหนักถึงความจริงจังที่องค์กรต้องการจะสร้างการเปลี่ยนแปลง เชื่อและยินดีที่จะร่วมปฏิบัติเพื่อสร้างความยั่งยืนให้เกิดขึ้นจริง ไม่ใช่เพียงแนวทางที่อยู่ในกระดาษ จนเกิดเป็นวัฒนธรรมองค์กร (culture) ขึ้น

สรุปกันอีกครั้งว่า ปัจจัยที่จะทำให้การขับเคลื่อนด้านความยั่งยืนในองค์กรสำเร็จ ได้แก่

(1) การบูรณาการ (integrated) แนวคิดด้านความยั่งยืนผ่านเนื้อหา (content) เพื่อสร้างความเข้าใจ และการกำกับดูแลต่าง ๆ (structure)

(2) การเปลี่ยนแปลง (transformation) ผ่านภาวะผู้นำ (leadership) และวัฒนธรรมองค์กร (culture)

ทั้งนี้ ผู้อ่านสามารถเข้าไปฟังเนื้อหาในตอนนี้ได้ทาง YouTube channel ของสถาบันพัฒนาธุรกิจอย่างยั่งยืน (SBDi) ผ่าน QR code และขอขอบคุณ อาจารย์อนันตชัย ยูรประถม ผู้อำนวยการสถาบัน SBDi สำหรับเนื้อหานี้ค่ะ