“บรรจุภัณฑ์” กับ “สิ่งแวดล้อม”

บรรจุภัณฑ์
CSR Talk

ในอนาคตคุณค่าของบรรจุภัณฑ์หรือหีบห่อจะไม่ใช่แค่การปกป้องสินค้า หรือนำพาสินค้าไปถึงมือผู้บริโภคอีกต่อไป เพราะสังคมโลกต่างให้ความสำคัญกับการปกป้องโลกใบนี้ คิดค้นทุกวิธีในการลดภาระให้กับโลก จนเกิดเป็น “Circular Economy” เพื่อพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศไปสู่ความยั่งยืน จนกลายเป็นแกนสำคัญของการดำเนินธุรกิจในหลาย ๆ ประเทศ รวมทั้งประเทศไทยด้วยเช่นกัน

ในพิธีเปิด “กิจกรรมส่งเสริมการสร้างมูลค่าเพิ่มด้วยการจัดการระบบหีบห่อ และการใช้บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม” หรือ Circular Packaging towards BCG ภายใต้แนวคิด The Future is Circular หนึ่งในโครงการส่งเสริมสินค้านวัตกรรม และแนวคิดสร้างสรรค์ภายใต้กรอบ BCG (Bio-Circular-Green Economy) สู่สากล

ซึ่งจัดโดยสำนักส่งเสริมนวัตกรรมและสร้างมูลค่าเพิ่มเพื่อการค้า กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ โดยร่วมมือกับสมาคมการบรรจุภัณฑ์ไทย เมื่อไม่นานผ่านมา ต่างมีผู้ให้ความสนใจจำนวนมาก

“สินชัย เทียนสิริ” ผู้อำนวยการสถาบันรหัสสากล (GS 1) อดีตผู้อำนวยการสถาบันการจัดการบรรจุภัณฑ์และรีไซเคิลเพื่อสิ่งแวดล้อม (TIPMSE) บอกว่า ยุคแรกบรรจุภัณฑ์ถูกใช้สำหรับการนำสิ่งของไปในพื้นที่ต่าง ๆ สำหรับการเดินทางไกล หรือการนำไปฝากผู้คนโดยเป็นบรรจุภัณฑ์ที่ใช้แล้วทิ้ง (Linear Economy) เนื่องจากทรัพยากรยังมีเพียงพอ จนมาถึงยุคก่อให้เกิดปัญหาขยะ จึงเป็นการใช้แล้วนำไปรีไซเคิล (Recycle Economy) แต่กระบวนการนี้ย่อมมีต้นทุน หากพิจารณาแล้วว่า สิ่งนั้นไม่คุ้มค่าก็จะถูกทิ้งภาระให้โลกบำบัดต่อไป

“จนปัจจุบันเมื่อทั่วโลกต่างให้ความสำคัญกับเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ทำให้เกิดแนวคิด 3R คือ Reduce ลดการใช้วัสดุที่รีไซเคิลไม่ได้ หรือใช้วัสดุชีวภาพให้มากที่สุด สามารถนำมา Reuse หรือนำกลับมาใช้ใหม่ให้มากที่สุด คำนึงถึงการใช้ฟังก์ชั่นอย่างพอเหมาะ ผู้บริโภคเปลี่ยนแปลงรูปแบบเพื่อก่อให้เกิดประโยชน์ได้เพิ่มขึ้น และเมื่อใช้ประโยชน์จากสิ่งนั้นได้มากที่สุดแล้วจึงนำไป Recycle ต่อไป”

“การจัดการบรรจุภัณฑ์ที่ดีนั้นทุกภาคส่วนต้อง collaboration ร่วมกันคิด ร่วมทำ และรับผิดชอบร่วมกัน ไม่ใช่แค่ผู้ประกอบการ ผู้บริโภคหรือภาครัฐอย่างเดียว โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ประกอบการที่ต้องการส่งสินค้าไปต่างประเทศ ต้องคิดวงจรให้จบตั้งแต่ต้นทางถึงปลายทาง อย่ามองแค่ฟังก์ชั่นการปกป้องสินค้า”

“แต่จะทำอย่างไรให้ปกป้องสินค้าและปกป้องโลกได้ด้วย ตั้งแต่เริ่มออกแบบว่าผลิตจากวัสดุชีวภาพได้หรือไม่ ลดการใช้พลาสติกให้มากที่สุด เมื่อผู้บริโภคซื้อสินค้าไปแล้วจะสามารถใช้ประโยชน์ด้านอื่น ๆ ได้อย่างไรบ้าง หลังจากใช้เต็มประสิทธิภาพแล้วจะนำไปทำอย่างไร ไปส่งที่ใดเพื่อรีไซเคิล ผู้ผลิตควรมีรายละเอียดระบุไว้ในบรรจุภัณฑ์เลย เช่น พิมพ์บนกระดาษห่อหมากฝรั่งว่า ใช้แล้วนำกระดาษนั้นห่อหมากฝรั่งก่อนทิ้ง การระบุไปบนเนื้อแก้วเลยว่า รีไซเคิลได้ หรือเพิ่มรายละเอียดว่า สามารถนำไปส่งรีไซเคิลที่ไหนได้”

“ขณะนี้หลายประเทศให้ความสำคัญกับสิ่งแวดล้อมมาก บางประเทศกำหนดเป็นมาตรการการนำเข้าสินค้าเลยทีเดียว ในอนาคตประเด็นนี้อาจจะกลายเป็นกำแพงทางการค้าได้”

“ทินกร เหล่าเราวิโรจน์” นายกสมาคมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์ไทย (ATSI) กล่าวเสริมว่า การออกแบบบรรจุภัณฑ์ให้เป็น smart packaging ที่สร้างคุณค่าเพิ่มมากกว่าการบอกข้อมูลสินค้า เพื่อประโยชน์ทั้งในแง่ของธุรกิจและต่อผู้บริโภคว่า smart packaging นั้นมี 2 ประเภท คือ

หนึ่ง active packaging มักใช้กับสินค้าประเภทอาหาร ซึ่งจะช่วยยืดอายุบนชั้นวางสินค้าให้ยาวนานขึ้น เช่น การใช้วัสดุที่ช่วยยับยั้งเชื้อแบคทีเรีย วัสดุนั้นสามารถดูดซับออกซิเจนได้ ช่วยรักษาคุณภาพอาหาร หรือฟิล์มบรรจุภัณฑ์ที่ทำจากเลือดหมู ก็จะช่วยรักษาคุณภาพของอาหาร อุณหภูมิ การป้องกันน้ำต่าง ๆ

สอง intelligent packaging เพื่อสื่อสารกับลูกค้า เช่น สื่อสารด้วยตัวชี้วัด (indicator) ที่เป็น สี เพื่อบอกถึงความสด ความสุก สำหรับการรับประทานเพื่อเก็บข้อมูล ทั้งการให้และรับข้อมูลด้วย QR code, RFID หรือ NFC และเพื่อส่งเสริมด้านการตลาด

ทั้งยังช่วยสร้างประสบการณ์กับผู้บริโภค หรือกิจกรรมร่วมสนุกต่าง ๆ ดังเช่นที่ผลิตภัณฑ์โยเกิร์ตออร์แกนิกแบรนด์ YEO จากประเทศอังกฤษ มี QR code บนกล่องผลิตภัณฑ์ ทำให้ผู้บริโภคได้เห็นวิดีโอเรื่องราวที่มีภาพ เสียง ซึ่งน่าสนใจและเข้าถึงผู้บริโภคได้มากกว่า

ถึงตรงนี้ “จิรพัฒน์ ฐานสันโดษ” Market Packaging Manager, Indochina บริษัท เนสท์เล่ ประเทศไทย จำกัด กล่าวว่า เนสท์เล่มีความมุ่งมั่นทางด้านสิ่งแวดล้อม 2 เรื่อง คือ ลดการสร้างมลพิษต่อโลกให้ได้ 100% ในปี 2050 และเปลี่ยนไปใช้บรรจุภัณฑ์ทั้งหมดของสินค้าให้สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ หรือรีไซเคิลได้ในอีก 4 ปีข้างหน้า โดยในข้อสองนี้ได้แบ่งออกเป็น 5 แนวทางการดำเนินงาน คือ

1.Reduce ลดการใช้บรรจุภัณฑ์ที่ไม่จำเป็นและลดปริมาณพลาสติกมากเท่าที่เป็นไปได้ ไม่ว่าจะเป็นการลดน้ำหนักหรือขนาดของบรรจุภัณฑ์ หรือการกำจัดส่วนประกอบที่ไม่ก่อให้เกิดประโยชน์กับผู้บริโภค

2.Reuse & Refill ส่งเสริมการใช้นวัตกรรมมากขึ้น เพื่อช่วยลดผลกระทบของการใช้แล้วทิ้ง

3.Alternative Materials การหาวัสดุทดแทนอื่น ๆ ที่สามารถนำไปรีไซเคิลได้ เช่น ซองช็อกโกแล็ต smarties เปลี่ยนจากพลาสติกเป็นกระดาษ ถุงบรรจุเนสกาแฟที่เคยเป็นพลาสติกก็เปลี่ยนเป็นถุงกระดาษ เปลี่ยนซองกาแฟเป็นการใช้วัสดุที่เมื่อเผาแล้วหลอมละลายเป็นก้อนเดียวกัน ไม่สร้างภาระแก่โลก เครื่องดื่มไมโลแบบกล่องเปลี่ยนไปใช้หลอดกระดาษเปลี่ยนกระป๋องกาแฟเป็นอะลูมิเนียม 100% และซองไอศกรีมเป็นซองกระดาษ เป็นต้น

4.Infrastructure การมองหาโครงสร้างพื้นฐานในประเทศเพื่อให้บรรจุภัณฑ์มีการนำไปรีไซเคิลอย่างจริงจัง

5.Behavior Change การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมผู้บริโภค โดยใช้ความเชี่ยวชาญด้านการตลาดของเนสท์เล่ ทั้งด้านการส่งเสริม การโปรโมต การให้ความรู้ เพื่อนำไปสู่การแยกขยะอย่างถูกต้อง เพื่อให้เกิด Circular Economy ที่แท้จริง เพราะเชื่อว่าพนักงานก็คือผู้บริโภคคนหนึ่งที่สามารถนำความรู้ไปส่งต่อให้กับครอบครัวและคนอื่น ๆ ได้

“หลายครั้งเมื่อแบรนด์เลือกใช้วัสดุทางเลือกอื่นแล้วทำให้ราคาสูงขึ้น แต่ก็ยังเดินหน้าไปต่อเพราะมองไปถึงประโยชน์แท้จริงที่ทั้งโลกจะได้รับ และการมองหาวัสดุใหม่ ๆ นั้นยังเป็นความท้าทายซึ่งผู้ประกอบการจะต้องคำนึงเสมอว่า หากเปลี่ยนแล้วจะไม่สามารถเปลี่ยนกลับไปใช้แบบเดิมได้”

“ส่วนการออกแบบบรรจุภัณฑ์ควรคิดถึงปลายทางสุดท้ายเสมอ ในยุคก่อน ๆ จะมองแค่ความชอบของผู้บริโภค หรือการขายสินค้า แต่ตอนนี้สิ่งที่ทำทุกครั้งคือจะสอบถามไปยังผู้รับซื้อขยะ หรือผู้รีไซเคิลว่า ถ้าออกแบบแบบนี้จะถูกคัดแยกง่ายไหม นำไปรีไซเคิลได้ไหมที่สำคัญ คือ องค์กรต้องรวดเร็วในการรับฟีดแบ็กจากผู้บริโภคที่มีต่อสินค้าหลังจากเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์และนำมาปรับให้เร็วที่สุด”

เมื่อการดูแลและปกป้องโลกเป็นปัจจัยสำคัญของการบริโภคสินค้าทั่วโลกในขณะนี้ ผู้ส่งออกไทยควรเรียนรู้และปรับเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์และหีบห่อให้เหมาะกับการเปลี่ยนแปลงของโลก แม้จะต้องใช้เวลาและงบประมาณในการเริ่มต้น แต่ผลที่ได้รับคือธุรกิจจะสามารถดำเนินต่อไปได้ในระยะยาว และส่งออกได้อย่างยั่งยืน