Go Green Sandbox บ่มเพาะคนรุ่นใหม่ทำเพื่อสังคม

โกกรีน

อลิอันซ์ อยุธยา ต่อยอดนโยบายด้านสิ่งแวดล้อม จัด Go Green Sandbox เปิดรับไอเดียจัดการขยะจากคนรุ่นใหม่ที่ต้องการทำงานเพื่อสังคม

อลิอันซ์ อยุธยา ให้ความสำคัญกับความรับผิดชอบต่อสังคม และความยั่งยืน โดยยึดมั่นหลัก ESG (environment social และ governance) ในการดำเนินธุรกิจ และมุ่งสร้างการมีส่วนร่วมของลูกค้า ตัวแทน พนักงาน และประชาชน ในการใช้ทรัพยากรธรรมชาติอย่างรู้คุณค่า

ล่าสุด บริษัทสานต่อนโยบายสิ่งแวดล้อมด้วยการจัดโปรแกรมบ่มเพาะสตาร์ตอัพ ชวนคนรุ่นใหม่ที่มีใจรักในการทำงานด้านกิจการเพื่อสังคมมาเสนอไอเดียสร้างการรับรู้ และขับเคลื่อนสังคมเกี่ยวกับการจัดการขยะที่สามารถทำได้จริงภายใต้โครงการ “Go Green Sandbox”

พัชรา ทวีชัยวัฒนะ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่สายงานบริหารงานลูกค้า บริษัท อลิอันซ์ อยุธยา ประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า บริษัทตั้งเป้าหมายสร้างการจัดการขยะให้เป็นคุณค่าร่วมขององค์กร ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมพนักงานในสำนักงาน พร้อมกับขยายผลไปยังบ้านของพนักงาน เพื่อลดปริมาณขยะให้มากขึ้น

พัชรา ทวีชัยวัฒนะ
พัชรา ทวีชัยวัฒนะ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่สายงานบริหารงานลูกค้า บริษัท อลิอันซ์ อยุธยา ประกันชีวิต จำกัด (มหาชน)

ทั้งนั้น นับตั้งแต่ปี 2562 บริษัทริเริ่มโครงการ Allainz Ayudhya Goes for Green เพื่อกำหนดเส้นทางขยะให้เข้าสู่กระบวนการรีไซเคิล (นำวัสดุที่ใช้แล้วกลับมาใช้ใหม่) และอัพไซเคิล (การใช้วัสดุที่ใช้แล้วมาสร้างสิ่งใหม่) ด้วยการจดบันทึกข้อมูลขยะ พร้อมทั้งจัดเตรียมถังขยะแยกประเภท รวมถึงจัดกิจกรรมให้ความรู้และกิจกรรมแยกแลกของที่พนักงานนำพลาสติกจากที่บ้านมาแลกเป็นสิ่งของต่าง ๆ แล้วทางบริษัทจะส่งเข้าระบบรีไซเคิลสร้างพลังงานทดแทน

โดยปี 2563 มีพนักงานจำนวนกว่า 200 คนเข้าร่วมกิจกรรมการแยกขยะพลาสติกเพื่อนำไปรีไซเคิล ทำให้ขยะเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลถึง 51.09% ลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ 12,967.98 กิโลกรัม (kgCO2e) แยกขยะจากเศษอาหารสำหรับทำเป็นปุ๋ยหมักถึง 746 กิโลกรัม ทั้งยังนำผ้าที่ใช้แล้วไปทำเส้นใยผลิตเป็นเสื้อพนักงานใหม่ ช่วยลดคาร์บอน 31,836 กิโลกรัม (kgCO2e)

“ปีนี้เราต่อยอดทำโครงการ Go Green Sandbox โปรแกรมบ่มเพาะกิจการเพื่อสังคม (social incubation) ด้านสิ่งแวดล้อมและการแยกขยะ โดยร่วมมือกับ School of Changemakers องค์กรบ่มเพาะคนที่อยากแก้ปัญหาสังคม เพื่อเปิดพื้นที่การเรียนรู้และสนับสนุนให้ผู้สนใจสร้างการเปลี่ยนแปลงได้มาทดลองคิด และทดลองแก้ปัญหาด้านขยะใหม่ ๆ จนกระทั่งสามารถริเริ่มโครงการหรือกิจการได้จริง”

โดยโจทย์ที่เปิดรับไอเดียมีทั้งหมด 5 ด้าน คือ

  1. จูงใจคนวัยทำงานที่ยังไม่สนใจปัญหาสิ่งแวดล้อมหันมาแยกขยะ
  2. พัฒนาจุดแยกขยะในสำนักงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น
  3. นำขยะที่แยกแล้วเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลได้จริง
  4. ลดการใช้พลาสติกและทรัพยากรอื่น ๆ เช่น ต่อยอดการลดใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง (single use plastic) และลดการใช้เสื้อผ้าตามกระแส คุณภาพต่ำที่เน้นใส่เพียงไม่กี่ครั้ง (fast fashion)
  5. สร้างการมีส่วนร่วมของคนวัยทำงานให้ทำกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมและความยั่งยืนในองค์กร

“พัชรา” อธิบายต่อว่า ผู้สมัครต้องสมัครมาเป็นทีม โดยมีผู้สมัครเข้ามาทั้งหมด 22 ทีม และคัดเลือกทีมเข้าร่วมโครงการ 12 ทีม ซึ่งผู้ที่ผ่านการคัดเลือกจะถูกเรียกว่า sandboxer (แซนด์บอกเซอร์) ทั้งยังมีโอกาสทำงานร่วมกับอลิอันซ์ อยุธยา และ School of Changemakers เป็นระยะเวลา 6 เดือน โดยในช่วงแรก น้อง ๆ จะได้เรียนรู้โจทย์ปัญหาจริงจากการสัมภาษณ์กลุ่มตัวอย่างที่เป็นผู้บริหาร แม่บ้าน และพนักงานของอลิอันซ์ อยุธยา

“จากนั้นจะได้เรียนรู้ บ่มเพาะไอเดียในการตั้งต้น (idea to prototype) ผ่านแพลตฟอร์มเรียนรู้ออนไลน์ เนื่องจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ไม่เหมาะสมให้รวมตัวกันจำนวนมาก ๆ ต่อด้วยรับการพัฒนาจากไอเดียตั้งต้นไปสู่การลงมือทำการทดสอบตัวต้นแบบ (testing prototype) และนำเสนอไอเดีย (pitching) ต่อคณะกรรมการ และประชาชน ผ่านระบบการถ่ายทอดสดบนเฟซบุ๊ก เพจ Humans of Allianz Ayudhya เมื่อวันที่ 11 สิงหาคมที่ผ่านมา โดยทีมที่ถูกเลือก 5 ทีม จะรับเงินทุนตั้งต้นกิจการสูงสุด 20,000 บาทต่อทีม”

“การที่ทำโครงการนี้ไม่ใช่เพียงสนับสนุนสตาร์ตอัพคนรุ่นใหม่ที่ต้องการแก้ปัญหาสังคมเท่านั้น แต่เพื่อให้พนักงานของอลิอันซ์ อยุธยา ได้เรียนรู้ไอเดียจากคนนอกองค์กรด้วย เพราะทั้ง sandboxer ผู้บริหาร และพนักงานอลิอันซ์ อยุธยา รวมถึง School of Changemakers

จะได้พบและพูดคุยแลกเปลี่ยนกันทุก ๆ เดือน ผ่านแพลตฟอร์มออนไลน์ และเราจะหาโอกาสต่อยอดผลลัพธ์ของโครงการขยายไปในวงกว้าง เพื่อหวังเป็นอย่างยิ่งว่าในปี 2564 จะสามารถเพิ่มอัตราการรีไซเคิล และลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกให้ได้มากขึ้น”

“พรจรรย์ ไกรวัตนุสสรณ์” ผู้ก่อตั้ง School of Changemakers กล่าวเสริมว่า ทีมที่สามารถถ่ายทอดไอเดียดีที่สุดออกมาจะได้รับเงินทุนทดลองทำโครงการ 20,000 บาท ทั้งยังมีโอกาสพัฒนาเป็นโครงการที่สร้างความยั่งยืนให้กับสังคมไทย โดย 4 ทีม มาจากการคัดเลือกของกรรมการ และอีก 1 ทีมมาจากคะแนนโหวตมากที่สุดจากผู้ชมผ่านการถ่ายทอดสดบนช่องทางเฟซบุ๊กเพจ Humans of Allianz Ayudhya โดยทั้ง 5 ทีมที่ผ่านการพิตชิ่ง ได้แก่

1) Happicup มีจุดเด่นด้านการเปลี่ยน “พลังเพื่อนหญิง” เป็น change agent สร้างคอนเทนต์สนุก ๆ ผ่านสื่อโซเชียลมีเดียเพื่อลดการสร้างขยะ เช่น ถ่ายภาพอาหารก่อน-หลังทาน เพื่อชวนกันทานอาหารให้หมด ลดขยะอาหาร หรือใช้พื้นที่ทั้งออนไลน์และออฟไลน์เปิดตลาดแลกเปลี่ยนสิ่งของเสื้อผ้า

2) Wastelander สร้างวัฒนธรรม “ผูกปิ่นโต” ให้แข็งแกร่ง เปลี่ยนการสั่งอาหารดีลิเวอรี่มาใช้ภาชนะหมุนเวียนใช้ใหม่ได้ โดยมีระบบรับส่งและบริการล้าง จับมือร่วมกับร้านอาหารรายย่อยที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด-19 และตั้งใจจะขยายไปร้านอื่น ๆ เพื่อขยายวงกว้างสร้างแรงจูงใจต่อไปไม่หยุด

3) Chaimeang-tech ปรับการสื่อสารมาอยู่บน “แพลตฟอร์มออนไลน์” ผ่านโปรเจ็กต์ KAYA ทั้งการสร้าง LINE OA เพื่อสื่อสารและประชาสัมพันธ์กิจกรรม ให้ความรู้ด้านการคัดแยกขยะในรูปแบบดิกชันนารี และชวนผู้ใช้มาเปลี่ยนขยะเป็นแต้มแลกสินค้าและบริการจากร้านค้าพาร์ตเนอร์ ด้วยการใช้แพลตฟอร์มเป็นสื่อกลางในการจัดกิจกรรมพิเศษ

4) Dark Horses เปลี่ยนนิยามถังทิ้งขยะเป็น “ถังฝากให้” ในรูปแบบกล่องใสให้เห็นลักษณะขยะเพื่อให้ผู้ทิ้งสามารถแยกรีไซเคิลง่ายขึ้น สามารถเปลี่ยนพฤติกรรมทิ้งขยะของคนในออฟฟิศ ขยายไปสู่การแยกขยะที่บ้าน และทำให้ขยะถูกนําไปใช้ประโยชน์และเห็นภาพจับต้องได้

5) To-Greenquality ฝึกแยกขยะง่ายเหมือน “เล่นเกม” ด้วย web-based online game สื่อการสอนให้คนคัดแยกขยะพร้อมกับแลกรางวัล โดยออกแบบสื่อการสอนให้เหมาะสมกับความสนใจของผู้ใช้ หรือการเปลี่ยนคะแนนในเกมให้เป็นโวเชอร์ ลดราคาอาหารกับร้านค้าในตึก

“พรจรรย์” กล่าวด้วยว่า จากประสบการณ์การทำงานด้านการสร้างนักเปลี่ยนแปลงสังคมมากว่า 10 ปี พบว่ามีผู้ที่มีความตั้งใจอยากแก้ไขปัญหาสังคมอยู่เป็นจำนวนมาก แต่ยังขาดแนวทาง ความรู้ และจุดเริ่มต้นที่ดีให้พวกเขาได้นำไอเดียมาสู่การปฏิบัติ อีกทั้งยังขาดพื้นที่และเงินทุนสนับสนุนให้ไอเดียเหล่านั้นเป็นจริงได้

“ปัญหาของผู้ที่อยากริเริ่มทำกิจการหรือโครงการเพื่อสังคมในประเทศไทยคือ ไม่มีที่ทดลองและทดสอบโครงการ เพราะองค์กรในไทยส่วนใหญ่มักมองหาโซลูชั่นที่มีอยู่แล้วในตลาด ดังนั้นถ้านำโมเดล Go Green Sandbox มาถอดเป็นบทเรียน เพื่อเป็นตัวอย่างให้องค์กรในไทยมาช่วยกันสนับสนุนคนที่อยากคิดโซลูชั่นเพื่อสังคมใหม่ ๆ และกล้าเปิดพื้นที่และลงทุนให้คนมาทดลอง ก็จะทำให้ประเทศไทยมีคนลุกขึ้นมาทำงานเพื่อแก้ปัญหาสังคมและสิ่งแวดล้อมมากกว่านี้”

นับว่า Go Green Sandbox คือ การรวมพลังของคนมีใจที่อยากเปลี่ยนแปลงสังคมให้เป็นสังคมที่น่าอยู่อย่างแท้จริง