หญิงไทยถูกหลอกค้ากามดูไบ ก.แรงงานขยายผล ปราบนายหน้าเถื่อน

สุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน

กระทรวงแรงงาน สั่งกรมการจัดหางาน ขยายผลปราบปรามนายหน้าเถื่อนหลอกหญิงไทยค้ากามดูไบ พร้อมเปิดข้อมูลประเทศที่พบคนถูกหลอกไปทำงานมากที่สุด

วันที่ 22 กันยายน 2564 นายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน สั่งการศูนย์ประสานการปราบปรามผู้เป็นภัยต่อคนหางาน กรมการจัดหางาน (กกจ.) เร่งตรวจสอบขยายผลกรณีนายหน้าเถื่อนหลอกหญิงไทยอ้างบินทำงานนวดที่เมืองดูไบ สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ ฝั่ง กกจ.รับลูกแข็งขัน ใช้มาตรการป้องกัน ป้องปราม และปราบปราม

รมว.แรงงานกล่าวว่า กรณีหญิงไทยที่ร้องขอความช่วยเหลือทางโซเชียลมีเดียว่าถูกหลอกให้มาขายบริการที่เมืองดูไบ จนภายหลังได้เข้าช่วยเหลือกลับประเทศไทยอย่างปลอดภัย ล่าสุดได้สั่งการศูนย์ประสานการปราบปรามผู้เป็นภัยต่อคนหางาน กกจ.ให้เร่งขยายผลไปที่ต้นตอกระบวนการ สายนายหน้าเถื่อนเพื่อดำเนินคดีตามกฎหมาย

“ขอเตือนไปยังผู้มีพฤติการณ์เป็นสายนายหน้าเถื่อนว่า การหลอกลวงผู้อื่นว่าสามารถหางาน หรือส่งไปฝึกงานในต่างประเทศได้ โดยการหลอกลวงดังว่านั้นได้ไปซึ่งเงินหรือหรือประโยชน์อื่นจากผู้ถูกหลอกลวง ต้องระวางโทษจำคุก 3-10 ปี หรือปรับตั้งแต่ 60,000-200,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ และการโฆษณาการจัดหางานโดยไม่ได้รับอนุญาตจาก กกจ.มีความผิดต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 3 ปี หรือปรับไม่เกิน 60,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ตาม พ.ร.บ.จัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2528 และที่แก้ไขเพิ่มเติม”

รมว.แรงงานกล่าวด้วยว่า คนหางานอย่าหลงเชื่อคำชักชวนให้เดินไปทำงานต่างประเทศอย่างผิดกฎหมาย หรือโฆษณาเกินจริง หากมีการชักชวนให้หลีกเลี่ยงขั้นตอนตามกฎหมาย เช่น ใช้วีซ่าท่องเที่ยวเพื่อทำงาน หรือเดินทางไปทำงานต่างประเทศโดยไม่ผ่านด่านตรวจคนหางาน ณ ท่าอากาศยาน ให้สงสัยได้เลยว่าท่านกำลังโดนหลอก ซึ่งจะทำให้เสียเงิน เกิดอันตรายต่อชีวิต รวมทั้งถูกดำเนินคดีตามกฎหมายอีกด้วย

ไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน

ด้านนายไพโรจน์ โชติกเสถียร อธิบดีกรมการจัดหางาน กล่าวว่า การคุ้มครอง ดูแล และช่วยเหลือคนหางานที่ทำงานทั้งในและต่างประเทศให้ได้รับการปฏิบัติตามกฎหมาย เป็นภารกิจของศูนย์ประสานการปราบปรามผู้เป็นภัยต่อคนหางาน กกจ.

ผลการดำเนินคดีตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2563-7 กันยายน 2564 มีการดำเนินคดีสายนายหน้าเถื่อนแล้ว 93 ราย หลอกลวงคนหางานทั้งสิ้น 195 คน คิดเป็นมูลค่าความเสียหายจำนวน 17,500,365 บาท ซึ่งประเทศที่พบคนหางานถูกหลอกลวงไปทำงานมากที่สุด ได้แก่ แคนาดา ญี่ปุ่น สาธารณรัฐเกาหลี (เกาหลีใต้) สวีเดน และออสเตรเลีย ตามลำดับ

กรมการจัดหางานมีมาตรการป้องกัน ป้องปราม และปราบปรามการหลอกลวงไปทำงานต่างประเทศ ดังนี้

– ด้านการป้องกัน โดยให้ความรู้แก่ผู้นำชุมชน ประชาชนและคนหางานทั่วไป เพื่อให้เกิดความรู้ความเข้าใจในเรื่องขั้นตอนการเดินทางไปทำงานต่างประเทศอย่างถูกต้อง ประกาศคำเตือน รูปแบบ หรือกลวิธีการหลอกลวงคนหางานของสาย/นายหน้า ผ่านสื่อต่าง ๆ หรือหอกระจายข่าวประจำหมู่บ้าน รวมทั้งเปิดให้ประชาชนสามารถแจ้งเบาะแส หรือร้องเรียนได้ทางสายด่วน กระทรวงแรงงาน 1506 กด 2 กรมการจัดหางาน

– ด้านการป้องปราม มอบหมายเจ้าหน้าที่เฝ้าระวัง ตรวจสอบและติดตามเครือข่ายสังคมออนไลน์ของบุคคลที่โฆษณาชักชวนและรับสมัครคนหางานไปทำงานต่างประเทศผ่านทางโซเชียลมีเดีย รวมทั้งโพสต์ข้อความตอบโต้เพื่อสกัดกั้นการโฆษณาชักชวนดังกล่าว เพื่อมิให้คนหางานตกเป็นเหยื่อของกลุ่มมิจฉาชีพ

นอกจากนี้ยังประสานความร่วมมือระหว่างผู้นำชุมชน อาสาสมัคร ให้มีส่วนร่วมในการสอดส่อง ดูแล และแจ้งข่าวให้หน่วยงานราชการทราบ และตรวจสอบการเดินทางไปทำงานต่างประเทศของคนหางาน ณ ด่านตรวจคนหางานเพื่อป้องกันการลักลอบไปทำงานอย่างผิดกฎหมาย หรือถูกชักชวนไปทำงานอย่างผิดกฎหมายอย่างเข้มงวด

– ด้านการปราบปราม ทำหน้าที่ร้องทุกข์กล่าวโทษเพื่อดำเนินคดีกับบริษัทจัดหางานบุคคล หรือกลุ่มบุคคลที่กระทำการผ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามพระราชบัญญัติจัดหางานและคุ้มครองคนหางาน พ.ศ. 2528 และที่แก้ไขเพิ่มเติม และประสานการติดตามการออกหมายจับจากพนักงานสอบสวนเพื่อติดตามจับกุมตัวผู้กระทำผิด

“สำหรับผู้ที่ต้องการเดินทางไปทำงานต่างประเทศสามารถขอรับคำปรึกษาจากเจ้าหน้าที่ได้ที่สำนักงานจัดหางานจังหวัดทุกจังหวัด สำนักงานจัดหางานกรุงเทพมหานครพื้นที่ 1-10 หรือศึกษาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ www.doe.go.th/overseas หรือที่สายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร.1506 กด 2 กรมการจัดหางาน และสายด่วนกรมการจัดหางาน โทร.1694 และตรวจสอบรายชื่อบริษัทจัดหางานที่ได้รับอนุญาตที่เว็บไซต์ www.doe.go.th/ipd” อธิบดีกรม กกจ.กล่าว