อัพเดทประกันสังคม คุ้มครองรักษาโควิด เท่าไหร่-ที่ไหน เช็กที่นี่!

เครดิตภาพ: Mufid Majnun/Unsplash

ประกันสังคมประชุมร่วมโรงยาบาลในเครือ เตรียมความพร้อมรองรับโอมิครอน สรุปความคุ้มครองค่ารักษาพยาบาลผู้ประกันตน พร้อมจัดหาเตียง Hospitel

วันที่ 7 มกราคม 2565 นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม เป็นประธานการประชุมเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับสถานการณ์ของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ผ่านระบบออนไลน์ ร่วมกับผู้แทนและบุคลากรทางการแพทย์ของสถานพยาบาลประกันสังคมจำนวนกว่า 50 แห่ง พร้อมด้วยคณะผู้บริหารสำนักงานประกันสังคม ผู้อำนวยการสำนักงานประกันสังคมกรุงเทพมหานครพื้นที่ทั้ง 12 แห่ง เข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุมสมเกียรติ ฉายะศรีวงศ์ อาคารอเนกประสงค์ สำนักงานประกันสังคม

เลขาธิการสำนักงานประกันสังคมกล่าวว่า ประเทศไทยพบผู้ติดเชื้อสายพันธุ์ไอมิครอนแล้วกว่า 2 พันราย ซึ่งท่านนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ที่กำกับดูแลกระทรวงแรงงาน รวมทั้งนายสุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กำชับให้สำนักงานประกันสังคม (สปส.) เตรียมแผนรับมือในทุกด้านหากสถานการณ์การแพร่ระบาดรุนแรงมากขึ้น เพื่อเตรียมความพร้อมทางการแพทย์แก่ผู้ประกันตนประกันสังคม ทั้งแรงงานสถานประกอบการ และแรงงานอิสระ มาตรา 33 และมาตรา 39 ที่ติดเชื้อโควิด-19 ให้ได้รับการดูแลและรักษาได้ทันที

บุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์

สิทธิ์การรักษากรณีโควิด-19

1. สามารถเข้ารับการรักษาได้ที่สถานพยาบาลตามสิทธิการรักษาพยาบาล และสถานพยาบาลใกล้ที่พักอาศัยทุกแห่ง โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

2. กรณีที่สถานพยาบาลตามสิทธิฯ และสถานพยาบาลที่รับรักษาไม่สามารถให้การรักษาได้ หรือเกินศักยภาพในการรักษา จะทำการส่งตัวผู้ประกันตนไปรักษากับโรงพยาบาลที่มีศักยภาพสูงกว่า โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

3. กรณีที่ผู้ประกันตนไม่สามารถเข้ารักษาในสถานพยาบาลตามสิทธิได้ เนื่องจากอยู่ต่างจังหวัด หรือต่างพื้นที่ สามารถเข้ารักษาได้ในสถานพยาบาลที่อยู่ใกล้ ผู้ประกันตนจะได้รับการดูแลรักษาในสถานพยาบาล, โรงพยาบาลสนาม, Hospitel, Community Isolation, Home Isolation ตามแนวทางและระบบบริการที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

จำนวนเตียง Hospitel

ด้านการเตรียมความพร้อมให้สถานพยาบาลในระบบประกันสังคม เลขาธิการสำนักงานประกันสังคมกล่าวว่ามีแผนรองรับการรักษาผู้ประกันตน โดยจัดหาเตียงให้เพียงพอต่อการเพิ่มจำนวนของผู้ประกันตนที่ติดเชื้อโควิด-19 ที่อาจจะมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น โดยให้สถานพยาบาลจัดเตรียมสถานที่รองรับผู้ป่วยที่อาการแสดงน้อย หรือไม่แสดงอาการ (สีเขียว) เข้ารับการรักษาในระบบ Hospitel และ Home Isolation

ปัจจุบันสถานพยาบาลในระบบประกันสังคมมี Hospitel จำนวนทั้งสิ้น 12,856 เตียง และจำนวนเตียงว่างคงเหลือ 3,230 เตียง (ข้อมูล ณ วันที่ 5 มกราคม 2565)

ทั้งนี้ สปส.ได้มีการบูรณาการทำงานร่วมกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ในการดูแลให้ความช่วยเหลือผู้ประกันตนที่ติดเชื้อและแสดงอาการเล็กน้อย (สีเขียว) ที่ประสงค์เข้ารักษาในระบบ Home Isolation โดยผู้ประกันตนสามารถลงทะเบียนในเว็บไซต์ สำนักงานประกันสุขภาพแห่งชาติ ตามหลักเกณฑ์ที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด

นอกจากนี้ยังมีโครงการ Factory Sandbox ที่มี 4 แนวทาง คือ ตรวจ รักษา ดูแล และควบคุม ในสถานประกอบการ เพื่อควบคุมการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 โดยมุ่งเน้นไปที่โรงงานภาคการผลิตส่งออกขนาดใหญ่

ตรวจ : ดำเนินการตรวจคัดกรองด้วย RT-PCR 100% เพื่อแยกคนป่วยไปรักษาทันที และดำเนินการตรวจ self-ATK ทุกสัปดาห์

รักษา : ให้โรงงานจัดสถานรักษาพยาบาล สถานแยกกัก Factory Isolation : FAI, และ Hospitel สำหรับผู้ป่วยสีเขียว โรงพยาบาลสนามสำหรับผู้ป่วยสีเหลือง และห้องผู้ป่วยวิกฤตสำหรับผู้ป่วยสีแดง

ดูแล : ดำเนินการฉีดวัคซีนให้แรงงานโดยเน้นกลุ่ม 7 โรคเสี่ยง คนท้องออกใบรับรอง “โรงงานสีฟ้า” เพื่อสร้างความมั่นใจให้แก่ผู้ลงทุน

ควบคุม : ให้นายจ้างและแรงงานปฏิบัติตามมาตรการป้องกันควบคุมโรคในพื้นที่เฉพาะ (Bubble and seal) และมาตรการด้านสาธารณสุข (DMHTT) ตามที่กระทรวงสาธารณสุขกำหนด

เกณฑ์คุ้มครองค่าบริการทางแพทย์

– ค่าตรวจคัดกรองโรคโควิด-19 กรณีตรวจคัดกรองในโรงพยาบาล หรือตรวจคัดกรองนอกโรงพยาบาลโดยหน่วยบริการที่ขึ้นทะเบียนกับ สปสช. ผู้ประกันตนคนไทยจะเบิกเงินจาก สปสช. ส่วนผู้ประกันตนคนต่างชาติเบิกเงินจาก สปส.

– กรณีตรวจคัดกรองเชิงรุกในสถานประกอบการตามโครงการ Factory Sandbox เพื่อค้นหาผู้ประกันตนกลุ่มเสี่ยงในสถานประกอบการซึ่งอยู่ในพื้นที่เสี่ยงและมีการแพร่ระบาด โดยได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการโรคติดต่อ เบิกเงินจากสำนักงานประกันสังคม

– ผู้ป่วยที่มีอาการเล็กน้อย (สีเขียว) ค่าห้องรวมค่าอาหารจ่ายตามจริงไม่เกิน 1,500 บาทต่อวัน ค่าอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคลจ่ายตามจริงไม่เกิน 300 บาทต่อวัน

– ผู้ป่วยที่มีอาการปานกลาง (สีเหลือง) ค่าห้องรวมค่าอาหารจ่ายตามจริงไม่เกิน 3,000 บาทต่อวัน ค่าอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคลจ่ายตามจริงไม่เกิน 740 บาทต่อวัน

– ผู้ป่วยที่มีอาการรุนแรง (สีแดง) ค่าห้องรวมค่าอาหารจ่ายตามจริงไม่เกิน 7,500 บาทต่อวัน ค่าอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคลจ่ายตามจริงไม่เกิน 740 บาทต่อวัน

– รักษาในโรงพยาบาลสนาม Hospitel Hotel Isolation สำหรับผู้ป่วยที่มีอาการเล็กน้อย (สีเขียว) ตั้งแต่ 1 มกราคม 2565 จ่ายแบบเหมาจ่ายในอัตรา 1,000 บาทต่อวัน (ไม่เกิน 10 วัน) และค่าอุปกรณ์ในการดูแลติดตามสัญญาณชีพ 500 บาทต่อวัน ค่าชุด PPE จ่ายตามจริงไม่เกิน 150 บาทต่อราย

– ดูแลรักษาแบบ Home Isolation และการแยกกักในชุมชน Community Isolation ค่าติดตามประเมินอาการ ให้คำปรึกษา ค่ายาพื้นฐาน จ่ายแบบเหมาจ่ายไม่รวมค่าอาหาร 3 มื้อในอัตรา 600 บาทต่อวัน และแบบรวมค่าอาหาร 3 มื้อ ในอัตรา 1,000 บาทต่อวัน (ไม่เกิน 10 วัน)

– รักษาในสถานพยาบาลเอกชนจ่ายค่าบริการทางการแพทย์กรณีโรคติดโควิด-19 ตามราคากลางประกาศกระทรวงสาธารณสุข สำหรับค่ารถรับส่งผู้ป่วย กรณีจำเป็นต้องส่งต่อภายในจังหวัดเดียวกัน จ่ายตามจริงไม่เกิน 500 บาท กรณีต่างท้องที่จังหวัดอื่น จ่ายเบื้องต้น 500 บาท และจ่ายเพิ่มกิโลเมตรละ 4 บาท ค่าอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคล (PPE) และค่าทำความสะอาดฆ่าเชื้อยานพาหนะไม่เกิน 1,400 บาทต่อครั้ง ค่าใช้จ่ายเพื่อป้องกันการแพร่กระจายเชื้อสำหรับบุคลากรที่จัดการศพผู้เสียชีวิตด้วยโรคโควิด-19 เหมาจ่าย 2,600 บาทต่อราย

ทั้งนี้ สำนักงานประกันสังคมได้จัดตั้งศูนย์อำนวยการบริหารจัดการวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เพื่อผู้ประกันตน สำนักงานประกันสังคม กระทรวงแรงงาน สามารถติดต่อใช้บริการได้ที่สายด่วนกระทรวงแรงงาน โทร 1506 กด 6 และกด 7 มีคณะทำงานประสานสถานพยาบาล Hospitel เพื่อเป็นช่องทางรองรับการให้บริการให้กับผู้ประกันตนได้เข้าถึงบริการและเข้ารับการรักษาโดยเร็ว